วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รามายณะ มหากาพย์ที่เข้าไปนั่งในหัวใจผู้คนจากภารตวรรษสู่สุวรรณภูมิ

" ลืมอะไรก็ลืมเถิด   แม้ตายเกิดก็ลืมได้
สุขทุกข์คุกคามเท่าใด     อย่าใส่ใจจนกลัดกลุ้มวิญญ์
ทะเลชีวันครั่นครืนด้วยคลื่นโศก    โลกเป็นเช่นนี้นิจสิน
ลืมอะไรลืมได้อย่าอาจินต์   แต่อย่าสิ้นระลึกนึกถึงราม "

                                                     (น.๑๗๗ ศานติ-ไมตรี,เขมานันทะ)

         กลอนข้างต้นนี้แต่งขึ้นจากบทเพลงของศิลปินพเนจรในประเทศอินเดีย ดินแดนแห่งเทพเจ้า ต้นกำเนิดวรรณกรรมอมตะที่มีอิทธิพลมากในโลกตะวันออก มหากาพย์รามายณะ เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวรรณกรรมหรือวรรณคดีที่ทรงอิทธิพลและแพร่หลายไปจนตลอดทั่วทวีปเอเชียตั้งแต่แผ่นดินชมพูทวีปไปจนถึงสุวรรณภูมิในภูมิภาคอุษาคเนย์ คือรามายณะหรือที่บ้านเราเรียกว่ารามเกียรติ์ เราจะพบว่าในแต่ละประเทศในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนแต่มีเรื่องราวของพระรามถูกเล่าขานในรูปแบบต่างๆด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าจะตั้งแต่วรรณกรรมมหากาพย์เรื่องยาวไปจนถึงนิทานพื้นบ้าน และศิลปะ ภาพเขียน ประติมากรรมการแสดงแบบต่างๆทั้งร้องเต้นเล่นรำ ในหลายๆประเทศในเอเชียมีเรื่องราวของพระรามที่ถูกเรียกชื่อต่างๆกันไปมากมาย ดังเช่น ในประเทศอินเดียภารตวรรษดินแดนต้นกำเนิดของวรรณกรรมนี้เรียกว่า รามายณะ ในประเทศไทยเรามีวรรณคดีรามเกียรติ์ ประเทศลาวก็มีเรื่องพะลักพะลาม ประเทศกัมพูชาก็มี เรียมเก (อ.สมบัติ มั่งมีสุขศิริ,ศาสนาโลก ๒ ฮินดู) แม้กระทั่งในประเทศจีนก็มีวรรณกรรมไซอิ๋วที่มีตัวเอกเป็นวานรเจ้าอิทธิฤทธิ์คล้ายกับหนุมานซึ่งผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากรามายณะของอินเดีย (ลิงจอมโจก,เขมานันทะ)

ภาพหนุมานอมพลับพลา จากวรรณคดีรามเกียรติ์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

         เรื่องราวของพระรามที่เป็นที่แพร่หลาย ในแต่ละประเทศ ของแต่ละชนชาตินั้นมีเนื้อหารายละเอียดแตกต่างกันไปแต่เค้าโครงเรื่องหลักที่เหมือนกันก็คือ เป็นเรื่องการทำศึกระหว่างพระรามเจ้าชายมนุษย์ กับทศกัณฐ์หรือราพณ์ (Ravanaราชาอสูร เพื่อช่วงชิงนางสีดา มเหสีของพระรามที่ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไป โดยฝ่ายพระรามมีผู้ช่วยคือ พระลักษมณ์ ผู้เป็นอนุชา และหนุมานทหารเอกพร้อมทั้งกองทัพวานรของสุครีพราชาวานร และในตอนสุดท้ายพระรามก็เป็นผู้ชนะ นักวิชาการบางกลุ่มมองว่ารามายณะเป็นเรื่องที่มีต้นเค้าจากประวัติศาสตร์ที่ชนชาติอารยันซึ่งมีพระรามเป็นตัวแทนสู้รบกับพวกชาวทราวิฑที่มีตัวแทนคือจอมอสูรราวัณ แต่ผู้เขียนชอบเค้าความที่ว่ารามายณะเป็นเรื่องบุคคลาธิษฐานของการต่อสู้ภายในจิตมนุษย์มากกว่า ในสินธุธรรมพระรามคือ สัจจะ ความดี ความงาม ความจริง ที่ต่อสู้กับ ราวัณ ซึ่งหมายถึง อหังการ์ เพื่อช่วงชิง สีดาหรืออาตมัน โดยพระรามมีผู้ช่วยคือหนุมาน ซึ่งก็คือ ภักติ (เค้าขวัญวรรณกรรม,เขมานันทะ)

พระราม รบกับราพณาสูร ภาพวาดโดยจิตรกรชาวอินเดีย

      เรื่องของพระรามฉบับที่เป็นวรรณกรรมมาตรฐานเก่าแก่ และที่เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดก็คือเรื่อง มหากาพย์รามายณะ (Ramayan the Epic) วรรณกรรมประเภทมหากาพย์ภาษาสันสกฤต ของอินเดียที่เรียบเรียงโดย ฤษีวาลมิกิ (Valmiki) รามายณะนี้แต่งเป็นบทร้อยกรองประเภทคำฉันท์ ที่เรียกว่าโศลก จำนวนกว่า ๒๔,๐๐๐ โศลก หรือคาถาเมื่อประมาณ ๒,๔๐๐ กว่าปีมาแล้ว เรื่องราวของพระรามนั้นก่อนที่จะมี รามายณะ เชื่อกันว่าเป็นเรื่องที่มีเล่ากันแพร่หลายมาก่อนแล้วในชมพูทวีป แม้แต่ในคัมภีร์พุทธศาสนาก็มีนิทานชาดกที่เป็นเรื่องของพระราม (อุปกรณ์รามเกียรติ์, เสฐียรโกเศศ)

รูปทศกัณฐ์สร้างขึ้นเพื่อเผาทำลาย
ในวันสุดท้ายของเทศกาลวิชัยทศมี
เพื่อระลึกถึงชัยชนะขององค์ราม
        ในประเทศอินเดียสำหรับชาวฮินดูนั้นเรื่องของพระรามไม่ได้เป็นเพียงนิทานที่เล่ากันฟังสนุกๆ หรือไว้ใช่เล่นแสดงโขนละครอย่างในเมืองไทยเท่านั้นแต่ถือกันว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเป็นเรื่องของพระเป็นเจ้าอวตารมาปราบทุกเข็ญ มหาตมะคานธี (M.K.Gandhi) ผู้กอบกู้เอกราชของอินเดียก่อนสิ้นชีพก็เอ่ยพระนามของพระรามพระเป็นเจ้าเป็นคำสุดท้ายก่อนสิ้นใจ ในเรื่องรามายณะพระรามคือพระวิษณุอวตารปางที่ ๗ เป็นเรื่องราวที่เป็นแบบอย่างทางศีลธรรมการประพฤติปฏิบัติในสังคม คือ พระรามเป็นแบบอย่างของลูกที่ดี สามีที่ดี พี่ชายที่ดี เพื่อนที่ดี ส่วนสีดาเป็นภรรยาที่ดี และหนุมานเป็นผู้รับใช้ที่ดีซื่อสัตย์ เป็นต้น
         รามายณะเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลมาต่อชาวฮินดูและสังคมอินเดียตั้งแต่โบราณมาจนกระทั่งปัจจุบัน ในประเทศอินเดียนั้นชาวฮินดูมีเทศกาลงานสำคัญและประเพณีต่างๆที่มาจากเรื่องของพระรามที่ยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้เช่น เทศกาลวิชัยทศมี (Vijayadashami) หรือ ทุศเศห์รา (Dussehra) เป็นงานเฉลิมฉลองใหญ่ในช่วงประมาณเดือนตุลาคม จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงชัยชนะของพระรามที่มีต่อราพณาสูรหรือทศกัณฐ์ ในช่วงเทศกาลนี้จะมีการแสดงทุกๆค่ำคืนเรียกว่า รามลีลา (Rama leela) จนกระทั่งวันสุดท้ายเรื่องที่แสดงจะเป็นตอนที่พระรามสังหารทศกัณฐ์ซึ่งตรงกับวันวิชัยทศมีพอดี ถัดจากนั้นอีกเดือนหนึ่งเชื่อว่าเป็นวันที่พระรามเดินทางกลับถึงเมืองอโยธยา ก็มีเทศกาล ทิวาลี (Diwali) หรือเทศกาลลอยประทีป คล้ายๆกับลอยกระทงในบ้านเรา ซึ่งในช่วงนี้ชาวอินเดียจะลอยดวงไฟหรือประทีปในแม่น้ำ และตกแต่งบ้านด้วยดวงไฟประทีปประดับพร้อมกันทั้งเมืองเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และต้อนรับการกลับมาของพระราม นอกจากนี้ยังมีการให้รูปเคารพเทพเจ้าที่นับถือ และขนมมงคลแก่กันและกัน 

        รามายณะไม่เพียงมีแต่อิทธิพลกับชาวฮินดูในประเทศอินเดียเท่านั้นแม้แต่ในประเทศไทยซึ่งผู้คนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนานั้นก็ได้รับอิทธิพลจากรามายณะมาด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่มีเพียงแต่พุทธศาสนาเท่านั้นที่เรารับมาจากดินแดนชมพูทวีป แต่ยังมีศาสนาพราหมณ์อีกด้วย เราสามารถสังเกตเห็นร่องรอยของศาสนาพราหมณ์ได้มากมายจากวรรณกรรม วรรณคดี โบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนวิถีชีวิต ความคิดความเชื่อพิธีกรรมศาสนาของผู้คน ในส่วนของรามยณะแล้วเราที่สามารถเห็นชัดเจนที่สุดนั้นก็คือ วรรณคดีรามเกียรติ์ที่แต่งขึ้นเพื่อแสดงโขนละครในโอกาสสำคัญของทางราชสำนัก อีกทั้งยังมีแนวคิดเทวราชที่รับผ่านมาจากทางขอมโบราณที่พระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นดังเทพเจ้าบนโลกมนุษย์เป็นเทวราช สมมติเทพ หรือเป็นพระนารายณ์อวตารลงมาอีก ในสมัยประวัติศาสตร์เราจะเห็นกษัตริย์ไทยหลายพระองค์ฉลองพระนามของพระองค์ด้วยพระนามของพระราม ดังเช่น พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งสุโขทัย พระราเมศวรแห่งกรุงศรีอยุธยา หรือในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังมีการเรียกพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลต่างๆว่าพระรามในภาษาอังกฤษดังเช่น พระบาทจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว King Rama the IV เป็นต้น ไม่เฉพาะพระนามของพระราชาเท่านั้นแม้แต่ชื่อของราชธานีเมืองหลวงของอาณาจักรก็เกี่ยวข้องกับพระรามเช่น กรุงศรีอยุธยา เดิมแรกสร้างเรียกว่า อโยธยา ตามชื่อเมืองของพระรามในรามายณะ เมืองหลวงของประไทยปัจจุบันก็มีความหมายเกี่ยวข้องกับพระรามอีกเช่นกัน ชื่อเต็มของกรุงเทพมหานครฯก็คือ กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ มีความหมายว่า พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคง และเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้ พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเอาเองขึ้นมาว่าในประเทศอินเดียรามายณะจะแพร่หลายไปในผู้คนทั่วไปมากกว่าประเทศไทยที่ความนิยมรามายณะดูเหมือนจะมีแต่ในเฉพาะหมู่ชนชั้นปกครองมากกว่าชาวบ้านทั่วๆไป(คงเป็นเพราะในราชสำนักยังคงมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์อยู่มากโดยเฉพาะเรื่องของพิธีกรรม) ทุกๆวันนี้ในประเทศอินเดียปัจจุบันรามายณะถูกบอกเล่าผ่านสื่อต่างมากมายไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่าเรื่องสำนวนต่างๆ หนังสือการ์ตูน ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ทั้งการ์ตูนอนิเมชั่นและคนแสดงที่สร้างกันมากมายหลายเวอร์ชั่น (และคาดว่าจะสร้างต่อไปเรื่อยๆ) แม้กระทั่งเกมออนไลน์ก็มีแล้ว อาจารย์โกวิท อเนกชัย หรือท่านเขมานันทะ เคยเล่าไว้ว่าในประเทศอินเดียเวลาผู้คนตั้งวงน้ำชาคุยกันมักจะยกภาษิตหรือสำนวนจากรามายณะมาพูดกันเสมอๆ เช่น หนุมานเคยกล่าวว่าอย่างนั้น สีดาเคยว่าไว้อย่างนี้อะไรทำนองนี้ เป็นต้น มหากาพย์เรื่องนี้จะเข้าไปนั่งในหัวใจผู้คนมากมายมายาวนานจริงๆมีโศลกหนึ่งในรามายณะว่าไว้ว่า

"ตราบใดที่ภูเขาและแม่น้ำทั้งหลายยังมีอยู่บนผืนปฐพี ตราบนั้นเรื่องของพระรามก็ยังอยู่ต่อไปในโลก ฯ"
 

ข้อมูลอ้างอิง
เค้าขวัญวรรณกรรม ลิงจอมโจก และศานติไมตรี เขมานันทะ (โกวิท เอนกชัย)
อุปกรณ์รามเกียรติ์ เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน)
นาตยาบุบผามาศ รามายณะ มหากาพย์ เรื่องเล่า หรือนิยาย ? http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?newsid=9510000083005
วิกิพิเดีย สารานุกรมเสรี

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เมื่อเรามองกันและกัน

ช่วงนี้สถานการณ์บ้านเมืองกำลังวุ่นวาย มีความขัดแย้งทางการเมือง มีการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล บุกยึดสถานที่ราชการ ที่ร้ายแรงไปกว่านั้นคือมีการใช้กำลังทำร้ายกันถึงชีวิต ได้ยินคนหลายๆคนบ่นกันว่าช่วงเวลานี้เป็นยุคมิคสัญญี คำว่า "มิคสัญญี" เป็นคำนามซึ่งหมายถึงยุคที่มีแต่ผู้คนรบราฆ่าฟันเบียดเบียน เอาเปรียบซึ่งกันและกัน 

ภาพประกอบจาก http://www.tuhpp.net/?p=11635

ในชั้นเรียนวิชาศาสนาโลก ที่ข้าพเจ้าลงทะเบียนเรียนในสาขาศาสนศึกษาที่มหาวิทยาลัย อาจารย์ผู้สอนวิชานี้ได้เมตตาเล่าให้ฟังว่าคำว่ามิคสัญญีนี้รับมากจากความเชื่อในศาสนาฮินดูที่ว่ากันว่า โลกและจักรวาลของเรานี้แบ่งออกเป็นสี่ยุคตามศีลธรรมของผู้คน  และในยุคสุดท้ายยุคที่สี่เรียกว่า"กลียุค"นั้น ถือกันว่าเป็นยุคมืด (คำว่ากลี หมายถึง ดำ) เป็นยุคที่ผู้คนเสื่อมศีลธรรมลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันเองอย่างเห็นกันและกันเป็นผักปลา เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายไปทุกหนแห่ง เกิดเป็นภาวะที่เรียกว่ามิคสัญญี
อาจารย์ท่านอธิบายว่าคำคำนี้มาจากภาษาสันสกฤต มิค(ะ) แปลว่า สัตว์ซึ่งถูกล่า(ส่วนใหญ่ใช้กับกวาง) ส่วนคำว่า สัญญี นั้นแปลว่า ความรับรู้ สรุปแล้วความหมายของคำนี้ก็หมายถึง ผู้คนเห็นกันและกันเป็นสัตว์เป็นเหยื่อไว้ฆ่าไว้แกง หรือไม่เห็นกันเป็นมนุษย์เหมือนกันซึ่งสภาพนี้จะเกิดในสังคมที่มีความเสื่อมทางศีลธรรมเกิดขึ้น ผู้คนในสังคมเอาเปรียบกันและกัน เห็นกันเป็นผักปลาฆ่าแกงเอาเปรียบกันและกัน เห็นกันเป็นเนื้อเป็นเสือจ้องจะทำร้ายกันนั่นเอง
ศีลธรรมหรือความประพฤติทั้งทางกายและทางใจที่ดีงามปราศจากโทษมีแต่ประโยชน์ของคนเรานั้น จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงนั้น ไม่ได้เกิดจากการควบคุมบังคับกันและกัน แต่เกิดจากการที่คนเรานั้นมีจิตสำนึกที่รู้และเข้าใจความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ความที่มีความสุขความทุกข์เหมือนกัน เราไม่ชอบอย่างไร เขาก็ไม่ชอบเหมือนกัน และเห็นอกเห็นใจกันและกัน ผู้คนเห็นกันและกันเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน ไม่เบียดเบียนทำร้ายเอาเปรียบข่มเหงกัน อยู่ร่วมกันด้วยไมตรีจิต ซึ่งจิตสำนึกนี้เองที่ทำให้คนมองเห็นกันและกันเป็นเพื่อนมนุษย์
การที่ผู้คนมีจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ อีกทั้งมองเห็นกันและกันเป็นมนุษย์นั้นมีความหมายมาก พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า "การเกิดมีความเป็นมนุษย์นั้นหาได้ยาก"  คำว่า มนุษย์ นั้นหมายถึงผู้มีจิตใจสูง ผู้ที่มีจิตใจสูงและดีงามย่อมมีศีลธรรมไม่ทำร้ายกันและกัน มีความรักความเข้าใจ เคารพให้เกียรติกันและกันอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

ภาพประกอบจาก http://margaretfarid.files.wordpress.com/2012/11/a_aaa-just-a-little-humanity.jpg

ในโลกหรือสังคมที่ ศีลธรรมเสื่อมจิตใจคนตกต่ำจึงมักพลอยเกิดความวุ่นวายโกลาหลเมื่อคนมองไม่เห็นกันและกันเป็นเพื่อนมนุษย์ อุปมาดังเมื่อยามที่แสงสว่างหายไป บนท้องฟ้าและบรรยากาศรอบๆตัวเราเข้าสู่ความมืด ถ้าหากเราเดินอยู่ในป่ามีคนอยู่ข้างหน้าเรา เราคงมองเห็นเขาได้ไม่ชัดเจนนัก หรือถ้ามีแสงจันทร์หรือแสงดาวรำไรเราคงมองเห็นเขาเป็นอะไรที่คลาดเคลื่อนออกไปจากความเป็นจริงเช่น มองเห็นเป็นสัตว์ป่าหรือต้นไม้กิ่งไม้ไม่ได้มองเห็นเขาเป็นคนเหมือนกับเราถนัดชัดเจนฉันใด  เมื่อไรที่ความมืดครอบงำจิตใจ ในใจเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ไม่ดี มีแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง เราก็คงมองไม่เห็นเพื่อนมนุษย์เป็นมนุษย์ก็ด้วยฉันนั้น

ทุกวันนี้เรามองกันและกันเป็นมนุษย์เหมือนกันไหม หรือเรามองกันและกันเป็นอะไรไปแล้ว ?