วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

'ไซอิ๋ว'ฉบับจีนแผ่นดินใหญ่ ปี 1986

 
    ละครทีวีเรื่อง "ไซอิ๋ว" ในบ้านเราคนส่วนใหญ่อาจจะรู้จักแต่เวอร์ชั่นที่ช่อง 3 นำมาฉาย ซึ่งเป็นฉบับของ TVB ฮ่องกง แต่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสาธารณรัฐประชาชนจีน ไซอิ๋วเวอร์ชั่นยอดนิยมกลับเป็นฉบับของทางสถานีโทรทัศน์วิทยุกลางแห่งประเทศจีน (China Central Television) หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า CCTV ที่ไม่ใช่ชื่อกล้องวงจรปิด


ไซอิ๋ว TVB 1996 ที่ช่อง 3 นำมาฉาย เพื่อนๆส่วนใหญ่มักจะรู้จักไซอิ๋วจากเวอร์ชั่นนี้ มี'จางเหว่นยเจี้ยน'รับบทซุนหงอคง ในมาดลิงรูปหล่อ ผิดกับฉบับจีนแดงที่ดูแล้วให้เป็น ลิง(จริงๆ) มากกว่า


     หลังยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ม่านไม้ไผ่ก็เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น การเติบโตขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ในโลกธุรกิจ ของจีนนั้นไม่ได้อาศัยแค่อุตสาหกรรมอย่างเดียว งานด้านศิลปวัฒนธรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างชาติให้เข้มแข็งในโลกสมัยใหม่ ด้วยความที่จีนเคยเป็นชาติมหาอำนาจ เป็นจักรวรรดิที่รุ่งเรือง มีศิลปวัฒนธรรมความเป็นมา และอารยธรรมอายุราวกว่าพันปีในแบบฉบับของตนเอง วรรณกรรมที่คอมมิวนิสต์เคยมองว่าเป็นเรื่องศาสนาไร้สาระ เป็นเรื่องผีสางเทวดา ให้ความบันเทิง มอมเมาคน กลับกลายมาเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมแบบจีนๆของรัฐบาลคอมมิวนิสต์

   ละครโทรทัศน์เรื่องไซอิ๋ว ฉบับจีนแดงจึงได้เกิดขึ้น และกลายมาเป็นเวอร์ชั่นคลาสสิค ที่ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าแทบทุกปี มีคำกล่าวว่า คนรุ่นใหม่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องได้ดูละครเรื่องนี้อย่างน้อย 3 ครั้งในช่วงชีวิต เพื่อนของผู้เขียนที่เป็น นศ.ป.โท หญิงสาวชาวจีนเล่าให้ฟังว่า ไซอิ๋ว ฉบับนี้ถูกนำมาฉายทางโทรทัศน์ช่วงซัมเมอร์แทบทุกปีตั้งแต่เธอจำความได้


ไซอิ๋ว ฉบับสถานีโทรทัศน์วิทยุกลางแห่งประเทศจีน (Journey to the West, CCTV 1986)
   ในบ้านเราไม่ค่อยรู้จักฉบับนี้อาจเพราะมีอายุมากเกินไป คนร่วมสมัยเลยไม่ค่อยทันดู อีกทั้งคนไปรู้จักฉบับฮ่องกงที่นำมาฉายทีหลัง และติดตราตรึงใจมากกว่า ในส่วนฉบับนี้ผู้เขียนเห็นครั้งแรกก็ไม่ใช่ทางโทรทัศน์แต่เห็นเป็นหนังจีนชุดยี่สิบกว่าแผ่น ราคาสองพันกว่าบาท บนแผงขาย VCD ในร้าน LION ผู้จัดจำหน่ายของบริษัท APS อดีตค่ายหนังแผ่นยักษ์ใหญ่เจ้าแรกๆที่เบิกทางธุรกิจตลาดซีดีและดีวีดี  นอกจากนั้นยังเคยได้ยินมาว่าเคยถูกนำมาฉายทางช่อง 9 อสมท. อีกด้วย

    ต่อมาพอเริ่มเข้าสู่ยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึงได้ง่าย ผู้เขียนถึงได้มีโอกาสชมเป็นครั้งแรกบน Youtube ดูแล้วรู้สึกเอฟเฟ็คขัดหู ขัดตา มาก ภาพตัดต่อกล้องวีดีโอดูไม่เนียนรำคาญ ตัวละครแต่งหน้าหนาๆ โดยเฉพาะพวกผีสางเทวดา ที่ใช้หน้ากากยาง ยิ่งดูเทอะทะ ถ้าดูตอนเด็กคงรู้สึกหน้ากลัว เสื้อผ้าหน้าผมก็แสนจัดจ้านแสบตาให้อารมณ์งิ้วมาก ซุนหงอคงก็เป็นลิงจริงๆ ไม่ใช่ลิงรูปหล่อเหมือนฉบับที่ดูของฮ่องกง ดูแล้วอดเอาไปเปรียบไม่ได้ 

   แต่พอโตมาได้อ่านไซอิ๋วฉบับวรรณกรรม ความคิดจึงเปลี่ยนไป พบว่าฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นที่เคารพต้นฉบับมาก ดำเนินเรื่องแทบจะตามในนิยายเป๊ะๆ มีบางตอนดัดแปลงเนื้อหา ตัดตอนบ้างเพื่อความกระชับ ยิ่งบางตอนที่เล่นจบแบบห้วนๆ ไม่เหมือนฉบับหลังๆ ที่ฮ่องกงไต้หวันสร้างซึ่งดัดแปลงไปมาก (แต่ก็มีข้อดีอยู่ที่ทำให้คนดูรุ่นเก่าไม่เบื่อ ได้ดูอะไรแปลกใหม่ หรือเปิดอิสระให้ผู้สร้างได้ตีความในฉบับของเขา) จากที่แต่ก่อนไม่ชอบเวอร์ชั่นนี้กลับกลายมาเป็นชอบถึงชอบมาก เห็นเป็นของแปลกใหม่คลาสสิค ยิ่งเทคนิคบางตอนนี้ล้ำสุด อย่างตอนปราบปีศาจกระทิง เขาอาศัยเทคนิคการแสดงเชิดสิงห์โตจีนมาใช้ สร้างปีศาจวัวกระทิงออกมาเดินสี่ขาฟัดกับซุนหงอคงยังกับเหมือนหนังมอนสเตอร์โดยไม่ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์กราฟฟิค การถ่ายทำตลอดทั้งเรื่องก็ถ่ายโดยใช้กล้องวีดีโอตัวเดียวด้วยงบประมาณที่มีจำกัด


ที่มา https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjxKYo-wKskU6ou-Asp-rAwK3FBSySHV0Hc6p92jbREdQRtGhNUzyevG2RwdqCIGyUQfAbgOV_Ad9kIhB9XqIwLJDfJTSgtXqldmuOYxrvEpXmSx2POIOXLkDwfwKrZVFLBSCWFUg04Y5c/s1600/jttw61.jpg (25/3/2560)

    ขนบการเล่าเรื่อง ไปจนถึงเครื่องแต่งกายในฉบับนี้ให้อารมณ์งิ้วจัดชัดเจน ตัวละครเอก ซุนหงอคง ก็แสดงโดย จางจินไหล (章金莱) หรือดารางิ้วฉายา"ลิ่วเสี่ยวหลิงถง"(六小龄童) ทายาทนักแสดงงิ้ววานรชื่อดัง ผู้ถ่ายทอดอารมณ์ได้สมกับลิง แถมยังมีทักษะยุทธ์จริงๆ ในประเทศจีนเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของราชาวานรไปแล้ว พอปีช่วงตรุษจีนในปีวอกทีไร พี่น้องชาวจีนแผ่นดินใหญ่มักจะได้เห็นเขาปรากฏตัวในร่างหงอคงออกมาแสดงอวยพรปีใหม่ผู้ชมทางโทรทัศน์


[วีดีโอข่าวช่อง CCTV สัมภาษณ์ จางจินไหล ผู้รับบท 'ซุนหงอคง']

   ตัวละครพระถังก็สลับคนเล่นไปมาถึงสามคน แต่ดูๆไปอารมณ์ก็ต่อเนื่องกันดี ถ้าสังเกตดีๆในซีรี่ย์นี้ใช้ดาราเวียนพอสมควร คนหนึ่งเล่นหลายบทอยู่ ร่างแปลงหงอคง จางจินไหลก็มักจะควบบทเล่นเอง บางตอนคนเล่นโป๊ยก่าย ซัวเจ๋งไปเล่นเป็นเทวดาอารักษ์ให้เห็นก็มี

   ด้วยความที่รัฐบาลจีนให้ทุนสนับสนุนในการสร้างทำสถานที่ถ่ายทำจัดเต็มมาก เมืองจีนที่กว้างใหญ่มีทั้งป่าไม้ ทะเล แม่น้ำ ภูเขา ไปจนถึงทะเลทราย โบราณสถานงามๆ ล้วนปรากฏให้เราเห็นในเรื่อง แถมตอนท้ายๆยังยกกองมาถ่ายทำในประเทศไทยบ้านเราด้วย ฉากวัดเหลยอินในชมพูทวีป หรือที่ประทับพระยูไลยก็ใช้วัดโพธิ์ กับพุทธมณฑลเป็นโลเคชั่น สมมติเมืองไทยให้เป็นเมืองแขก


โปสเตอร์ที่มีฉากหลังเป็นองค์พระประธานในพุทธมณฑล ที่มา http://smg.photobucket.com/user/ngokhong/media/Journey%20to%20the%20West/xyjbook.jpg.html (25/3/2560)
    ไซอิ๋วฉบับนี้มี 2 ซีซั่น ซีซั่นแรกสร้างปี 1986 - 1988 เล่าเรื่องกำเนิดหงอคงไปจนถึงเชิญพระไตรปิฎกสำเร็จ จบบริบูรณ์ในตัว แต่ที่ต้องมี ภาค2 นั้นเพราะมีบางเรื่องในนิยายที่เล่าไม่หมดหรือถูกตัดตอนไปในภาคแรก ทำให้ทีมงานต้องสร้างภาคสองในปี 1999 และเข็นออกมาฉายในปี 2000 ทำให้ไซอิ๋วฉบับจีนแดงนี้สร้างได้จบครบสมบูรณ์ตามฉบับวรรณกรรม 

วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560

พระโพธิธรรม หนังจีนกำลังภายใน และเส้าหลินอินเดีย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Daruma
(1) พระโพธิธรรมอุ้มตุ๊กตา ดารุมะ ของญี่ปุ่น
ซึ่งมีต้นแบบมาจากท่านตั๊กม้อเอง
       พระโพธิธรรม อดีตเจ้าชายอินเดียผู้สละสมบัติออกบวชเป็นพระภิกษุ จาริกไปแผ่นดินใหญ่เผยแพร่คำสอนพระพุทธเจ้า ชาวจีนถือว่าท่านเป็นปฐมสังฆนายกนิกายเซ็นในประเทศจีน และนิกายนี้เองที่ทรงอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมจีน ข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย
       ไม่เพียงแต่คุณูปการด้านศาสนาเท่านั้น ท่านยังมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ให้กำเนิดสุดยอดวิทยายุทธ์วัดเส้าหลิน ที่เลื่องชื่อ จนได้รับการเรียกขานเป็น "ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"  ในนิยายกำลังภายในหลายต่อหลายเรื่อง ยกย่องให้วัดเส้าหลินมีบทบาทเป็นเสาหลักของยุทธภพ เป็นแหล่งกำเนิดวิทยายุทธ์กำลังภายในทั้งหลาย แม้แต่สำนักชื่อดังอย่างบู๊ตึ้ง ที่มีผู้ก่อตั้งคือ นักพรตจางซันฟง ผู้คิดค้นเพลงมวยไท้เก็กที่ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นมวยจีนแท้ ก็ยังเคยศึกษาอยู่ที่วัดเส้าหลิน ที่กล่าวมาอ้างอิงจากเรื่องดาบมังกรหยก และภาพยนตร์ ละครทีวีหลายต่อหลายเรื่องจะจริงไม่จริงก็แล้วแต่ ... แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนสะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่ง โด่งดัง และความเป็นเจ้าต้นตำรับมวยกังฟูของวัดเส้าหลิน

       พระโพธิธรรม หรือที่เรียกตามสำเนียงจีนว่า ผู่ทีตั๊กม้อ นั้นได้ไปเผยแพร่หลายต่อหลายแห่งในประเทศจีนโบราณแต่ก็ไม่ได้รับความสำเร็จ สาเหตุอาจจะมาจากเรื่องภาษาและปรัชญาที่ลึกซึ้งแห่งธรรมะ เราสามารถเห็นได้จากวิธีการสอนของนิกายเซ็นที่เน้นการปฏิบัติไม่เน้นการพูดสอนเทศนา หรือไม่ก็มีวิธีการสอนด้วยการกระทำ ที่ต้องตีความถึงจะเข้าใจนัยยะที่แฝงไว้ด้วยแก่นธรรมะลึกซึ้ง สิ่งนี้เองที่อาจทำให้คนทั่วไปไม่เข้าใจธรรมะของท่าน แม้แต่เจ้าผู้ปกครองอย่างฮ่องเต้"เหลียงบู๊ตี่"เองก็เมินท่าน เมื่อถูกท่านตอบว่าบุญกริยาที่ฮ่องเต้ทำมาไม่ใช่กุศล เพราะยังหวังผล ไม่ได้ทำด้วยใจบริสุทธิ์ ท่านเลยเดินทางไปพำนักในวัดป่าจวบจนมรณภาพ ซึ่งก็คือวัดเส้าหลิน นั่นเอง คำว่า เส้าหลินเป็นภาษาจีนกลาง แปลว่า ป่าน้อย

    ที่อารามวัดป่าน้อย พระโพธิธรรม ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งสมาธิวิปัสสนา ตำนานเล่าว่าที่ถ้ำหลังวัดท่านนั่งสมาธิหันหน้าเข้าหากำแพงอยู่หลายปีจนเงาติดข้างผนังถ้ำ อาจด้วยความที่นั่งสมาธินานๆ ทำให้เกิดอาการเมื่อยขบเลือดลมขัดข้อง ประกอบกับวัดมีที่ตั้งอยู่กลางป่ากลางดง เสี่ยงต่อการรุกรานของโจรผู้ร้าย ท่านจึงได้คิดค้นวิชามัดมวยกำลังภายในขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น



    ผู้เขียนสันนิษฐานว่าท่านคงอาศัยการฝึกฝนร่างกายแบบโยคะ กับความรู้แบบอายุรเวชโบราณของอินเดีย มาผสมผสานกับท่าทางการเคลื่อนไหวของสัตว์ ประยุกต์เป็นเพลงหมัดมวย ไว้ใช้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพพลามัย ฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรง เพื่อเป็นฐานของการฝึกจิตวิญญาณตามแนวทางแบบปรัชญาโยคะ ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถใช้เป็นวิทยายุทธ์ป้องกันตัว ผดุงคุณธรรมอีกด้วย นิยายมังกรหยก และกระบี่เย้ยยุทธจักรของกิมย้งได้กล่าวถึง คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นที่คิดค้นโดยปรมาจารย์ตั๊กม้อว่าเป็นสุดยอดแห่งวิชากำลังภายใน

      นิยาย และภาพยนตร์จีนแนวกำลังภายในจอมยุทธ์ที่ผลิตออกมาหลายเรื่อง จะเอ่ยถึงวัดเส้าหลินเกือบแทบททั้งนั้น จนทำให้กิตติศัพท์ของวัดโด่งดังแผ่ขจร กระจายไปทั่วโลก ที่อเมริกันสร้างหนังกังฟูให้ดาราฝรั่งอย่าง David Caradine เล่นเป็นพระหนุ่มต่างชาติฝึกวิชาวัดเส้าหลิน ส่วนที่บ้านเราหนังฮ่องกงตีตลาด ถูกนำเข้ามาฉายมากมายต่อเนื่อง มีทั้งหนังบู๊แอ็คชั่น ดราม่า คอมเมดี้ และที่สำคัญคือแนวกังฟู จนเด็กยุค80-90s แทบไม่มีใครไม่รู้จัก บรู๊ซ ลี เฉินหลง หงจินเป่า เจ็ท ลี ฯลฯ แม้แต่ผู้เขียนตอนเด็กเองดูหนังกังฟูพวกนี้แล้วก็ฝันว่าสักวันจะเดินทางไปฝึกวิทยายุทธ์ให้เก่งเหมือนเฉินหลง

      ใครจะไปรู้ว่า หนังมัดมวยกังฟูค่ายชอว์บราเดอร์ จากเกาะฮ่องกง เรื่องยอดมนุษย์ยุทธจักร (The 36th Chamber of Shaolin, 1978) ที่เล่าเรื่องการฝึกวิทยายุทธ์ของหลวงจีนในวัดเส้าหลิน จะทำให้เด็กชายชาวอินเดีย เริ่มฝึกฝนกังฟูตั้งแต่อายุ 6 ขวบ และขวนขวายฝึกฝนวิทยายุทธจนกระทั่งลงทุนบรรพชาอุปสมบทในจีนนิกาย เข้าฝึกฝนวิทยายุทธที่วัดเส้าหลิน จนกระทั่งกลายมาเป็นอาจารย์สอนมวยกังฟู เดินทางกลับแดนภารตะ ไปก่อตั้งสำนักสาขาของวัดเส้าหลินที่นั่น


 (2) โปสเตอร์ภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่อง "ยอดมนุษย์ยุทธจักร (The 36th Chamber of Shaolin, 1978) "

      เด็กชายชาวอินเดียคนนั้นมีชื่อว่า Kanishka Sharma ปัจจุบันก็คือ หลวงจีนสือเยี้ยน (Chinese: 十堰; pinyin: Shíyàn) แห่งสำนัก กุรุกุล (Gurukul) หรือศูนย์ฝึกวัดเส้าหลินสาขาอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Nainital รัฐอุตรขัณฑ์ (Uttarakhand) อาจารย์สือเยี้ยนถือเป็นพระจีนชาวอินเดียรูปแรกของวัดเส้าหลิน ไม่เพียงเท่านั้นเขายังอยู่เบื้องหลังการฝึกฝนเพื่อแสดงฉากแอคชั่นของดาราดังในหนัง Bollywood อย่าง Akshay Kumar, Madhuri Dixit, Anil Kapoor. ในยุคที่วิชากังฟูไม่ได้ใช้เพียงแค่ป้องกันตัว แต่ยังถูกนำไปใช้เพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะในแวดวงภาพยนตร์ กำเนิดของเส้าหลินอินเดียเองก็มีปัจจัยมาจากการแพร่กระจายของหนังฮ่องกง


      ด้วยอิทธิพลของพระพุทธศาสนา ทำให้พันกว่าปีที่แล้วพระโพธิธรรมชาวอินเดียเดินทางไปแผ่พุทธธรรม คิดค้นเพลงหมัดมวยสำนักเส้าหลินในจีน ด้วยอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัฒน์ และสื่อบันเทิงอย่างภาพยนตร์ทำให้ Kanishka Sharma หรือ อาจารย์สือเยี้ยน ชาวอินเดียได้เดินทางไปเรียนรู้วิชามวยจีน และนำกลับไปเผยแผ่ในอินเดีย  ภาพของการต่อสู้ด้วยวิทยายุทธ์ในหนังฮ่องกงได้สร้างแรงบันดาลใจให้ท่าน ก่อเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ เรื่องราวของสำนักเส้าหลินอินเดียติดตามได้ในวีดีโอด้านล่างนี้




Photos courtesy :
(1) http://mytats.com/uploads/6/9/2/2/69220691/3198326_orig.jpg
(2) https://static1.squarespace.com/static/534b45cde4b092d7f2cbfdb6/t/55c42b92e4b09e7cf23f658e/1438919572852/