(1) พระโพธิธรรมอุ้มตุ๊กตา ดารุมะ ของญี่ปุ่น ซึ่งมีต้นแบบมาจากท่านตั๊กม้อเอง |
พระโพธิธรรม อดีตเจ้าชายอินเดียผู้สละสมบัติออกบวชเป็นพระภิกษุ จาริกไปแผ่นดินใหญ่เผยแพร่คำสอนพระพุทธเจ้า ชาวจีนถือว่าท่านเป็นปฐมสังฆนายกนิกายเซ็นในประเทศจีน และนิกายนี้เองที่ทรงอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมจีน ข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย
ไม่เพียงแต่คุณูปการด้านศาสนาเท่านั้น ท่านยังมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ให้กำเนิดสุดยอดวิทยายุทธ์วัดเส้าหลิน ที่เลื่องชื่อ จนได้รับการเรียกขานเป็น "ปรมาจารย์ตั๊กม้อ" ในนิยายกำลังภายในหลายต่อหลายเรื่อง ยกย่องให้วัดเส้าหลินมีบทบาทเป็นเสาหลักของยุทธภพ เป็นแหล่งกำเนิดวิทยายุทธ์กำลังภายในทั้งหลาย แม้แต่สำนักชื่อดังอย่างบู๊ตึ้ง ที่มีผู้ก่อตั้งคือ นักพรตจางซันฟง ผู้คิดค้นเพลงมวยไท้เก็กที่ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นมวยจีนแท้ ก็ยังเคยศึกษาอยู่ที่วัดเส้าหลิน ที่กล่าวมาอ้างอิงจากเรื่องดาบมังกรหยก และภาพยนตร์ ละครทีวีหลายต่อหลายเรื่องจะจริงไม่จริงก็แล้วแต่ ... แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนสะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่ง โด่งดัง และความเป็นเจ้าต้นตำรับมวยกังฟูของวัดเส้าหลิน
พระโพธิธรรม หรือที่เรียกตามสำเนียงจีนว่า ผู่ทีตั๊กม้อ นั้นได้ไปเผยแพร่หลายต่อหลายแห่งในประเทศจีนโบราณแต่ก็ไม่ได้รับความสำเร็จ สาเหตุอาจจะมาจากเรื่องภาษาและปรัชญาที่ลึกซึ้งแห่งธรรมะ เราสามารถเห็นได้จากวิธีการสอนของนิกายเซ็นที่เน้นการปฏิบัติไม่เน้นการพูดสอนเทศนา หรือไม่ก็มีวิธีการสอนด้วยการกระทำ ที่ต้องตีความถึงจะเข้าใจนัยยะที่แฝงไว้ด้วยแก่นธรรมะลึกซึ้ง สิ่งนี้เองที่อาจทำให้คนทั่วไปไม่เข้าใจธรรมะของท่าน แม้แต่เจ้าผู้ปกครองอย่างฮ่องเต้"เหลียงบู๊ตี่"เองก็เมินท่าน เมื่อถูกท่านตอบว่าบุญกริยาที่ฮ่องเต้ทำมาไม่ใช่กุศล เพราะยังหวังผล ไม่ได้ทำด้วยใจบริสุทธิ์ ท่านเลยเดินทางไปพำนักในวัดป่าจวบจนมรณภาพ ซึ่งก็คือวัดเส้าหลิน นั่นเอง คำว่า เส้าหลินเป็นภาษาจีนกลาง แปลว่า ป่าน้อย
ที่อารามวัดป่าน้อย พระโพธิธรรม ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งสมาธิวิปัสสนา ตำนานเล่าว่าที่ถ้ำหลังวัดท่านนั่งสมาธิหันหน้าเข้าหากำแพงอยู่หลายปีจนเงาติดข้างผนังถ้ำ อาจด้วยความที่นั่งสมาธินานๆ ทำให้เกิดอาการเมื่อยขบเลือดลมขัดข้อง ประกอบกับวัดมีที่ตั้งอยู่กลางป่ากลางดง เสี่ยงต่อการรุกรานของโจรผู้ร้าย ท่านจึงได้คิดค้นวิชามัดมวยกำลังภายในขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น
ผู้เขียนสันนิษฐานว่าท่านคงอาศัยการฝึกฝนร่างกายแบบโยคะ กับความรู้แบบอายุรเวชโบราณของอินเดีย มาผสมผสานกับท่าทางการเคลื่อนไหวของสัตว์ ประยุกต์เป็นเพลงหมัดมวย ไว้ใช้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพพลามัย ฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรง เพื่อเป็นฐานของการฝึกจิตวิญญาณตามแนวทางแบบปรัชญาโยคะ ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถใช้เป็นวิทยายุทธ์ป้องกันตัว ผดุงคุณธรรมอีกด้วย นิยายมังกรหยก และกระบี่เย้ยยุทธจักรของกิมย้งได้กล่าวถึง คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นที่คิดค้นโดยปรมาจารย์ตั๊กม้อว่าเป็นสุดยอดแห่งวิชากำลังภายใน
นิยาย และภาพยนตร์จีนแนวกำลังภายในจอมยุทธ์ที่ผลิตออกมาหลายเรื่อง จะเอ่ยถึงวัดเส้าหลินเกือบแทบททั้งนั้น จนทำให้กิตติศัพท์ของวัดโด่งดังแผ่ขจร กระจายไปทั่วโลก ที่อเมริกันสร้างหนังกังฟูให้ดาราฝรั่งอย่าง David Caradine เล่นเป็นพระหนุ่มต่างชาติฝึกวิชาวัดเส้าหลิน ส่วนที่บ้านเราหนังฮ่องกงตีตลาด ถูกนำเข้ามาฉายมากมายต่อเนื่อง มีทั้งหนังบู๊แอ็คชั่น ดราม่า คอมเมดี้ และที่สำคัญคือแนวกังฟู จนเด็กยุค80-90s แทบไม่มีใครไม่รู้จัก บรู๊ซ ลี เฉินหลง หงจินเป่า เจ็ท ลี ฯลฯ แม้แต่ผู้เขียนตอนเด็กเองดูหนังกังฟูพวกนี้แล้วก็ฝันว่าสักวันจะเดินทางไปฝึกวิทยายุทธ์ให้เก่งเหมือนเฉินหลง
ใครจะไปรู้ว่า หนังมัดมวยกังฟูค่ายชอว์บราเดอร์ จากเกาะฮ่องกง เรื่องยอดมนุษย์ยุทธจักร (The 36th Chamber of Shaolin, 1978) ที่เล่าเรื่องการฝึกวิทยายุทธ์ของหลวงจีนในวัดเส้าหลิน จะทำให้เด็กชายชาวอินเดีย เริ่มฝึกฝนกังฟูตั้งแต่อายุ 6 ขวบ และขวนขวายฝึกฝนวิทยายุทธจนกระทั่งลงทุนบรรพชาอุปสมบทในจีนนิกาย เข้าฝึกฝนวิทยายุทธที่วัดเส้าหลิน จนกระทั่งกลายมาเป็นอาจารย์สอนมวยกังฟู เดินทางกลับแดนภารตะ ไปก่อตั้งสำนักสาขาของวัดเส้าหลินที่นั่น
(2) โปสเตอร์ภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่อง "ยอดมนุษย์ยุทธจักร (The 36th Chamber of Shaolin, 1978) " |
เด็กชายชาวอินเดียคนนั้นมีชื่อว่า Kanishka Sharma ปัจจุบันก็คือ หลวงจีนสือเยี้ยน (Chinese: 十堰; pinyin: Shíyàn) แห่งสำนัก กุรุกุล (Gurukul) หรือศูนย์ฝึกวัดเส้าหลินสาขาอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Nainital รัฐอุตรขัณฑ์ (Uttarakhand) อาจารย์สือเยี้ยนถือเป็นพระจีนชาวอินเดียรูปแรกของวัดเส้าหลิน ไม่เพียงเท่านั้นเขายังอยู่เบื้องหลังการฝึกฝนเพื่อแสดงฉากแอคชั่นของดาราดังในหนัง Bollywood อย่าง Akshay Kumar, Madhuri Dixit, Anil Kapoor. ในยุคที่วิชากังฟูไม่ได้ใช้เพียงแค่ป้องกันตัว แต่ยังถูกนำไปใช้เพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะในแวดวงภาพยนตร์ กำเนิดของเส้าหลินอินเดียเองก็มีปัจจัยมาจากการแพร่กระจายของหนังฮ่องกง
ด้วยอิทธิพลของพระพุทธศาสนา ทำให้พันกว่าปีที่แล้วพระโพธิธรรมชาวอินเดียเดินทางไปแผ่พุทธธรรม คิดค้นเพลงหมัดมวยสำนักเส้าหลินในจีน ด้วยอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัฒน์ และสื่อบันเทิงอย่างภาพยนตร์ทำให้ Kanishka Sharma หรือ อาจารย์สือเยี้ยน ชาวอินเดียได้เดินทางไปเรียนรู้วิชามวยจีน และนำกลับไปเผยแผ่ในอินเดีย ภาพของการต่อสู้ด้วยวิทยายุทธ์ในหนังฮ่องกงได้สร้างแรงบันดาลใจให้ท่าน ก่อเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ เรื่องราวของสำนักเส้าหลินอินเดียติดตามได้ในวีดีโอด้านล่างนี้
Photos courtesy :
(1) http://mytats.com/uploads/6/9/2/2/69220691/3198326_orig.jpg
(2) https://static1.squarespace.com/static/534b45cde4b092d7f2cbfdb6/t/55c42b92e4b09e7cf23f658e/1438919572852/
(1) http://mytats.com/uploads/6/9/2/2/69220691/3198326_orig.jpg
(2) https://static1.squarespace.com/static/534b45cde4b092d7f2cbfdb6/t/55c42b92e4b09e7cf23f658e/1438919572852/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น