" ลืมอะไรก็ลืมเถิด แม้ตายเกิดก็ลืมได้
สุขทุกข์คุกคามเท่าใด อย่าใส่ใจจนกลัดกลุ้มวิญญ์
ทะเลชีวันครั่นครืนด้วยคลื่นโศก โลกเป็นเช่นนี้นิจสิน
ลืมอะไรลืมได้อย่าอาจินต์ แต่อย่าสิ้นระลึกนึกถึงราม
"
(น.๑๗๗ ศานติ-ไมตรี,เขมานันทะ)
กลอนข้างต้นนี้แต่งขึ้นจากบทเพลงของศิลปินพเนจรในประเทศอินเดีย ดินแดนแห่งเทพเจ้า ต้นกำเนิดวรรณกรรมอมตะที่มีอิทธิพลมากในโลกตะวันออก มหากาพย์รามายณะ เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวรรณกรรมหรือวรรณคดีที่ทรงอิทธิพลและแพร่หลายไปจนตลอดทั่วทวีปเอเชียตั้งแต่แผ่นดินชมพูทวีปไปจนถึงสุวรรณภูมิในภูมิภาคอุษาคเนย์
คือรามายณะหรือที่บ้านเราเรียกว่ารามเกียรติ์
เราจะพบว่าในแต่ละประเทศในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนแต่มีเรื่องราวของพระรามถูกเล่าขานในรูปแบบต่างๆด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าจะตั้งแต่วรรณกรรมมหากาพย์เรื่องยาวไปจนถึงนิทานพื้นบ้าน
และศิลปะ ภาพเขียน ประติมากรรมการแสดงแบบต่างๆทั้งร้องเต้นเล่นรำ ในหลายๆประเทศในเอเชียมีเรื่องราวของพระรามที่ถูกเรียกชื่อต่างๆกันไปมากมาย
ดังเช่น ในประเทศอินเดียภารตวรรษดินแดนต้นกำเนิดของวรรณกรรมนี้เรียกว่า รามายณะ
ในประเทศไทยเรามีวรรณคดีรามเกียรติ์ ประเทศลาวก็มีเรื่องพะลักพะลาม ประเทศกัมพูชาก็มี
เรียมเก (อ.สมบัติ มั่งมีสุขศิริ,ศาสนาโลก ๒ ฮินดู) แม้กระทั่งในประเทศจีนก็มีวรรณกรรมไซอิ๋วที่มีตัวเอกเป็นวานรเจ้าอิทธิฤทธิ์คล้ายกับหนุมานซึ่งผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากรามายณะของอินเดีย
(ลิงจอมโจก,เขมานันทะ)
![]() |
ภาพหนุมานอมพลับพลา จากวรรณคดีรามเกียรติ์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม |
เรื่องราวของพระรามที่เป็นที่แพร่หลาย
ในแต่ละประเทศ ของแต่ละชนชาตินั้นมีเนื้อหารายละเอียดแตกต่างกันไปแต่เค้าโครงเรื่องหลักที่เหมือนกันก็คือ
เป็นเรื่องการทำศึกระหว่างพระรามเจ้าชายมนุษย์ กับทศกัณฐ์หรือราพณ์ (Ravana) ราชาอสูร เพื่อช่วงชิงนางสีดา มเหสีของพระรามที่ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไป
โดยฝ่ายพระรามมีผู้ช่วยคือ พระลักษมณ์ ผู้เป็นอนุชา
และหนุมานทหารเอกพร้อมทั้งกองทัพวานรของสุครีพราชาวานร และในตอนสุดท้ายพระรามก็เป็นผู้ชนะ นักวิชาการบางกลุ่มมองว่ารามายณะเป็นเรื่องที่มีต้นเค้าจากประวัติศาสตร์ที่ชนชาติอารยันซึ่งมีพระรามเป็นตัวแทนสู้รบกับพวกชาวทราวิฑที่มีตัวแทนคือจอมอสูรราวัณ
แต่ผู้เขียนชอบเค้าความที่ว่ารามายณะเป็นเรื่องบุคคลาธิษฐานของการต่อสู้ภายในจิตมนุษย์มากกว่า
ในสินธุธรรมพระรามคือ สัจจะ ความดี ความงาม ความจริง ที่ต่อสู้กับ ราวัณ
ซึ่งหมายถึง อหังการ์ เพื่อช่วงชิง สีดาหรืออาตมัน โดยพระรามมีผู้ช่วยคือหนุมาน
ซึ่งก็คือ ภักติ (เค้าขวัญวรรณกรรม,เขมานันทะ)
![]() |
พระราม รบกับราพณาสูร ภาพวาดโดยจิตรกรชาวอินเดีย |
เรื่องของพระรามฉบับที่เป็นวรรณกรรมมาตรฐานเก่าแก่
และที่เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดก็คือเรื่อง มหากาพย์รามายณะ (Ramayan the Epic) วรรณกรรมประเภทมหากาพย์ภาษาสันสกฤต
ของอินเดียที่เรียบเรียงโดย ฤษีวาลมิกิ (Valmiki) รามายณะนี้แต่งเป็นบทร้อยกรองประเภทคำฉันท์ ที่เรียกว่าโศลก จำนวนกว่า
๒๔,๐๐๐ โศลก หรือคาถาเมื่อประมาณ ๒,๔๐๐ กว่าปีมาแล้ว เรื่องราวของพระรามนั้นก่อนที่จะมี
รามายณะ เชื่อกันว่าเป็นเรื่องที่มีเล่ากันแพร่หลายมาก่อนแล้วในชมพูทวีป
แม้แต่ในคัมภีร์พุทธศาสนาก็มีนิทานชาดกที่เป็นเรื่องของพระราม
(อุปกรณ์รามเกียรติ์, เสฐียรโกเศศ)
![]() |
รูปทศกัณฐ์สร้างขึ้นเพื่อเผาทำลาย ในวันสุดท้ายของเทศกาลวิชัยทศมี เพื่อระลึกถึงชัยชนะขององค์ราม |
ในประเทศอินเดียสำหรับชาวฮินดูนั้นเรื่องของพระรามไม่ได้เป็นเพียงนิทานที่เล่ากันฟังสนุกๆ
หรือไว้ใช่เล่นแสดงโขนละครอย่างในเมืองไทยเท่านั้นแต่ถือกันว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเป็นเรื่องของพระเป็นเจ้าอวตารมาปราบทุกเข็ญ
มหาตมะคานธี (M.K.Gandhi) ผู้กอบกู้เอกราชของอินเดียก่อนสิ้นชีพก็เอ่ยพระนามของพระรามพระเป็นเจ้าเป็นคำสุดท้ายก่อนสิ้นใจ
ในเรื่องรามายณะพระรามคือพระวิษณุอวตารปางที่ ๗
เป็นเรื่องราวที่เป็นแบบอย่างทางศีลธรรมการประพฤติปฏิบัติในสังคม คือ
พระรามเป็นแบบอย่างของลูกที่ดี สามีที่ดี พี่ชายที่ดี เพื่อนที่ดี ส่วนสีดาเป็นภรรยาที่ดี
และหนุมานเป็นผู้รับใช้ที่ดีซื่อสัตย์ เป็นต้น
รามายณะเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลมาต่อชาวฮินดูและสังคมอินเดียตั้งแต่โบราณมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ในประเทศอินเดียนั้นชาวฮินดูมีเทศกาลงานสำคัญและประเพณีต่างๆที่มาจากเรื่องของพระรามที่ยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้เช่น
เทศกาลวิชัยทศมี (Vijayadashami) หรือ ทุศเศห์รา (Dussehra) เป็นงานเฉลิมฉลองใหญ่ในช่วงประมาณเดือนตุลาคม
จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงชัยชนะของพระรามที่มีต่อราพณาสูรหรือทศกัณฐ์
ในช่วงเทศกาลนี้จะมีการแสดงทุกๆค่ำคืนเรียกว่า รามลีลา (Rama leela) จนกระทั่งวันสุดท้ายเรื่องที่แสดงจะเป็นตอนที่พระรามสังหารทศกัณฐ์ซึ่งตรงกับวันวิชัยทศมีพอดี
ถัดจากนั้นอีกเดือนหนึ่งเชื่อว่าเป็นวันที่พระรามเดินทางกลับถึงเมืองอโยธยา
ก็มีเทศกาล ทิวาลี (Diwali) หรือเทศกาลลอยประทีป
คล้ายๆกับลอยกระทงในบ้านเรา ซึ่งในช่วงนี้ชาวอินเดียจะลอยดวงไฟหรือประทีปในแม่น้ำ และตกแต่งบ้านด้วยดวงไฟประทีปประดับพร้อมกันทั้งเมืองเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง
และต้อนรับการกลับมาของพระราม นอกจากนี้ยังมีการให้รูปเคารพเทพเจ้าที่นับถือ
และขนมมงคลแก่กันและกัน
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEixXTYd3Lm7HnDlnooG1CM6mcB7s99oyL9ub9tAQqUSwwzbFa2xPzsDj18370NqUueIugOnMHsttwtSerDxEzxHBVvqmfQVQbNmpUcOJwsms3CCNzNX7nVv9H8cx8H5o_vHwHEr-JvdkpSm/s320/ramacoronation1.jpg)
ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเอาเองขึ้นมาว่าในประเทศอินเดียรามายณะจะแพร่หลายไปในผู้คนทั่วไปมากกว่าประเทศไทยที่ความนิยมรามายณะดูเหมือนจะมีแต่ในเฉพาะหมู่ชนชั้นปกครองมากกว่าชาวบ้านทั่วๆไป(คงเป็นเพราะในราชสำนักยังคงมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์อยู่มากโดยเฉพาะเรื่องของพิธีกรรม) ทุกๆวันนี้ในประเทศอินเดียปัจจุบันรามายณะถูกบอกเล่าผ่านสื่อต่างมากมายไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่าเรื่องสำนวนต่างๆ
หนังสือการ์ตูน ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ทั้งการ์ตูนอนิเมชั่นและคนแสดงที่สร้างกันมากมายหลายเวอร์ชั่น
(และคาดว่าจะสร้างต่อไปเรื่อยๆ) แม้กระทั่งเกมออนไลน์ก็มีแล้ว อาจารย์โกวิท
อเนกชัย หรือท่านเขมานันทะ เคยเล่าไว้ว่าในประเทศอินเดียเวลาผู้คนตั้งวงน้ำชาคุยกันมักจะยกภาษิตหรือสำนวนจากรามายณะมาพูดกันเสมอๆ
เช่น หนุมานเคยกล่าวว่าอย่างนั้น สีดาเคยว่าไว้อย่างนี้อะไรทำนองนี้ เป็นต้น มหากาพย์เรื่องนี้จะเข้าไปนั่งในหัวใจผู้คนมากมายมายาวนานจริงๆมีโศลกหนึ่งในรามายณะว่าไว้ว่า
"ตราบใดที่ภูเขาและแม่น้ำทั้งหลายยังมีอยู่บนผืนปฐพี
ตราบนั้นเรื่องของพระรามก็ยังอยู่ต่อไปในโลก ฯ"
ข้อมูลอ้างอิง
เค้าขวัญวรรณกรรม ลิงจอมโจก และศานติไมตรี เขมานันทะ (โกวิท เอนกชัย)
อุปกรณ์รามเกียรติ์ เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน)
นาตยาบุบผามาศ รามายณะ มหากาพย์ เรื่องเล่า หรือนิยาย ? http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?newsid=9510000083005
วิกิพิเดีย สารานุกรมเสรี