วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เพื่อนพุทธร่วมรำลึก อาจารย์ปาริชาด สุวรรณบุบผา

วันที่ 20 พฤษภาคม 2560 ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดพิธีทำบุญบังสุกุล ถวายภัตตาหารเลี้ยงพระ เพื่อรำลึก และอุทิศส่วนกุศลให้กับ อาจารย์ปาริชาด สุวรรณบุบผา อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมผู้ล่วงลับ  อาจารย์ปาฯ ของเพื่อนๆชมรมพุทธ หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาด สุวรรณบุบผา เป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีชื่อเสียงและผลงานเป็นที่ประจักษ์ในงานวิชาการด้านศาสนา และแวดวงคนทำงานด้านการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ซึ่งจากไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 

ภาพถ่าย อ.ปาริชาด ในค่ายเพื่อนพุทธฯ ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2558
ที่มา เฟซบุคแฟนเพจ : เพื่อนพุทธฯ มหิดล (ศาลายา)  เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/PreCrpmu/

นักศึกษาชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย 'หนึ่ง' ประธานชมพุทธฯประจำปีการศึกษา'59  และเพื่อนๆกรรมการชมรมฯ ได้คิดริเริ่มงานบุญนี้ขึ้น โดยคณะกรรมการชมรมได้มีฉันทามติร่วมกันเชิญเอาอัฐิของอ.มาใส่โกฏิตั้งไว้บูชาที่ห้องชมรม จึงได้มีการทำบุญบังสุกุลกระดูกอาจารย์ ถวายเพลพระ และเชิญสมาชิกชมรมหน้าใหม่หน้าเก่า ไปจนถึงว่าที่อาจารย์ที่ปรึกษาคนใหม่อย่าง 'อาจารย์เล็ก'  (ดร.นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร สถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล) มาร่วมกิจกรรมในวันนี้

หนึ่ง นศ.สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ ประธานชมรมพุทธศาสตร์ กับ อ.เล็ก หรือ ดร.นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร สถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 




บรรยากาศของงานที่จัดขึ้นที่ห้องชมรมพุทธศาสตร์เป็นไปอย่างเป็นกันเอง สมาชิกเพื่อนสนิทหน้าใหม่หน้าเก่า รุ่นเล็กรุ่นใหญ่ต่างมาพร้อมหน้าร่วมบุญกัน หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนา ฟังพระสวดธรรมนิยามสูตร ถวายภัตตาหารพระ และผ้าบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับแล้ว เหล่าสมาชิกเพื่อนๆชมรมพุทธ หรือกลุ่ม 'เพื่อนพุทธ' ก็ยังได้นั่งล้อมวงกินข้าว พูดคุยแนะนำตัวทำความรู้จักกับ อ.ที่ปรึกษาคนใหม่ด้วยบรรยากาศสบายๆ 
อ.เล็กถามถึงแรงจูงใจของ นศ. ในชมรมว่ามีความคาดหวังอะไรที่ทำให้มาที่ชมรมนี้ มีหลายคำตอบที่น่าสนใจ หนึ่งในเพื่อนพุทธรุ่นใหญ่อย่าง 'พี่รุ้ง' ได้แบ่งปันว่าลองตัดสินใจตามเพื่อนมาร่วมกิจกรรมเข้าค่ายกับทางชมรมดู พออยู่ๆไปก็ได้เรียนรู้แก่นแท้ของศาสนาที่สอนวิธีแก้ปัญหาความทุกข์ในชีวิตมากขึ้น และสิ่งที่ยึดเหนี่ยวคนในชมรมนี้เข้าไว้ด้วยกันไม่ใช่ศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นมิตรภาพ ความเป็นเพื่อนกันเสียมากกว่า  

(จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับทางชมรมของผมเองก็คิดว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ คนนับถือศาสนาเดียวกันก็อาจชอบศาสนาเดียวกันคนละแบบคนละแง่มุมก็ได้ อย่างเช่น มีพระอาจารย์ที่ศรัทธาไม่เหมือนกัน มีคตินิกายที่นับถือแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทำให้คนคิดต่างกันแล้วยังคุยกันได้มาทำอะไรร่วมกันได้ถ้าไม่ใช่เพราะถูกอำนาจมาบังคับ  ก็เพราะมิตรภาพ ความเป็น'เพื่อน'กันนี่แหละครับ ที่ทำให้คนเราอยากมาพบกันอยากมาใช้เวลาทำอะไรร่วมกัน)

หลังจากได้รู้จักกันแล้ว อ.เล็ก และแขกพิเศษของชมรมที่เชิญมาร่วมบุญครั้งนี้ คือ ป้าไฝ (คุณอรัญญา) เพื่อนสนิทของ อ.ปา ก็ยังได้แบ่งปันเรื่องราวความทรงจำเกี่ยวกับ อ.ปาฯ ให้กับเพื่อนๆ นศ.ได้รับฟัง ป้าไฝเล่าเรื่องการต่อสู้กับโรคร้ายในช่วงชีวิตระยะสุดท้ายๆของ อ.ปาฯ ด้วยธรรมะและกำลังใจ 

 ส่วน อ.เล็กที่ได้ร่วมงานในสถาบันฯเดียวกันและสนิทสนมกับ อ.ปาฯ ได้เล่าถึงโครงการที่ อ.ปาฯทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนา ลดความรุนแรงและขัดแย้ง โดยนำเอากระบวนการ 'สานเสวนา' (Dialogue) มาใช้ ซึ่งไม่ใช่แค่การพูดคุยแลกเปลี่ยนเสวนาธรรมดา แต่เป็นการพูดคุยที่เน้นการฟังเพื่อความเข้าอกเข้าใจกันและกันระหว่างผู้พูดผู้ฟังมากกว่าการมุ่งไปที่เนื้อหาหรือประเด็นที่คุย (กระบวนการเช่นนี้ถูกนำไปใช้ในงานที่เกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง การเสริมสร้างความเข้าใจ และการศึกษาสมัยใหม่ที่เน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน) 

เพื่อนพุทธ นาย'กุลธน' นศ.นักกิจกรรมยังได้เล่าถึงการทำงาน และความน่ารักของอ.ที่เขาได้สัมผัสให้เพื่อนๆฟัง ผมจำได้ว่าเขาเล่าประมาณว่า เขาทราบว่าอ.ปาฯทำงานหนักเพราะปั่นจักรยานผ่านออฟฟิตของ อ.ปาฯ เวลาดึกๆทีไรก็มักจะเห็นไฟเปิดไว้เสมอ และเขายังประทับใจกับบุคคลิกภาพที่เป็นมิตรของอ. แกบอกว่า"ผมพบเจอ อ.ปาฯกี่ครั้งก็จะเห็นรอยยิ้มของแกเสมอ" ไม่ได้เห็นหน้าบูดบึ้งเลย 

อ.เล็กแสดงความยินดีที่ได้มาช่วยสานต่องานของ อ.ปาฯ ดูแลชมรมนี้ และหวังว่าจะได้ร่วมกิจกรรมดีๆกับทางชมรมต่อไป อ.ฝากว่าถ้าหาก นศ.มีอะไรให้มาคุยกันได้อย่างสบายๆเป็นกันเองตรงไปตรงมา อ.จะไม่วางตัวแบบมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับ นศ. แต่จะให้ความสนิทสนมเป็นกันเอง อ.เล็กเผยว่ารู้สึกดีใจและตื่นเต้นที่จะได้มาร่วมกิจกรรมดีๆเช่นนี้ และหวังว่าจะได้มาร่วมงานดีๆเช่นนี้กันต่อในโอกาสถัดไป




ชีวิต อ.ปาฯ สะท้อนให้เห็น แบบอย่างการอุทิศตนทำงานเพื่อสังคม  การนำศาสนธรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิต ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ ความเป็นอนิจจังของชีวิต ความตายของ อ. เป็นมรณานุสติแก่เพื่อนๆ ญาติมิตร ตลอดถึงลูกศิษย์ลูกหา ส่วนด้านผลงานของ อ.ปาฯ ก็ทำให้เราเห็นว่าศาสนาไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือเข้าหาความสุขส่วนตัวของปัจเจกบุคคล หรือเป็นชนวนให้เกิดความแบ่งแยกกันเท่านั้น แต่ยังมีส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ช่วยลดความรุนแรง ความขัดแย้ง  งานของ อ.ปาฯ ที่ทำโครงการเกี่ยวร่วมมือสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างผู้นำทางศาสนา การสานเสวนา งานเกี่ยวกับศาสนาสัมพันธ์ ที่อ.ได้ทำไว้แสดงให้เห็นว่า ศาสนา เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในโลกสมัยใหม่ ถึงแม้ว่า อ.จะจากไป แต่ก็ยังคงมีเพื่อนฝูงพี่น้อง ญาติมิตร ลูกศิษย์ลูกหาที่ช่วยสานต่อปณิธานเพื่อสังคมของ อ. มากมาย อย่างคนใกล้ตัวที่ผมรู้จักก็คือ ลูกศิษย์อ. กลุ่ม 'เพื่อนพุทธ' ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นี่เองแหละครับ



พระไพศาล วิสาโล พระภิกษุนักคิดนักเขียนชื่อดัง ผู้เป็นกัลยาณมิตรและเพื่อนร่วมงานได้เขียนถึง อาจารย์ปาฯไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของ อ.ว่า

ประธานชมรมกำลังทำหน้าที่บรรจุอัฐิอาจารย์ปาริชาด ตั้งไว้บูชาที่ห้องชมรม
"ใครที่รู้จักอาจารย์ปาริชาด ย่อมประทับใจในความเป็นมิตรซึ่งมาพร้อมกับรอยยิ้มของอาจารย์ และหากได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ ก็จะพบว่าในความสุภาพและความอ่อนโยนของอาจารย์นั้น เต็มไปด้วยความเข้มแข็งมุ่งมั่น และความกล้าหาญ หลายปีที่ผ่านมาอาจารย์ปาริชาดลงไปทำงานสมานไมตรีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง แม้มีความเสี่ยงมากมายเพียงใดก็ตาม กิจกรรมหนึ่งที่อาจารย์ให้ความสำคัญอย่างมาก และนำไปใช้ในการสมานไมตรีคือ 'สานเสวนา' อาจารย์ไม่เหน็ดเหนื่อยกับเรื่องนี้ เพราะอาจารย์เชื่อในความดีของมนุษย์ แม้จะต่างศาสนา ต่างภาษา หรือต่างชาติพันธุ์ ก็ล้วนมีความดีงามอยู่ในหัวใจทั้งสิ้น" 


ขอบขอบคุณ

ไอ้หนึ่งที่มีความคิดริเริ่ม และลุกขึ้นมานำเพื่อนๆทำกิจกรรมดีๆ
น้องเฟื่อง กิ๊ก เพ่ย เอ๊ะ ที่คอยดูแลเรื่องอาหารการกินในวันนี้
ปาล์ม กุลธน ที่มาร่วมแบ่งปันเรื่องราว
น้องหมี่ช่างภาพ มือสมัครเล่นที่ฝีมือไม่ใช่เล่น
พี่อานที่ซื้อขนมอร่อยๆมาช่วยร่วมบุญถวายพระ
พี่รุ้ง พี่ปุ๊ ที่ถึงแม้จะเรียนจบไปแล้วแต่ก็ยังกลับมาร่วมงาน
และเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ 'เพื่อนพุทธ' อีกมากมายที่ไม่ได้ออกชื่อที่มีส่วนร่วมกับบุญกิริยานี้

20/5/2560

วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

มาหา'ไร?มหา'ลัย : "กูเป็นพี่มึงนะ" (ไม่ใช่เพื่อน!)

ตอนเด็กผมจำความอะไรไม่ได้มาก แต่มีคำพูดของแม่ประโยคนึงที่จำได้ติดหู ได้ยินแกพูดบ่อยๆตอนแม่ตั้งท้องน้องชาย แม่บอกผมว่า "ต่อไปลูกจะมีน้องมาเป็นเพื่อนแล้วนะ" แล้วพอมันคลอดออกมามันก็เป็นเพื่อนกับผมจริงๆครับ เจ้าน้องชายคนนี้ เป็นเพื่อนกิน เพื่อนเล่น เพื่อนรักร่วมสายเลือด เพื่อนรู้ใจ ไปจนถึงเพื่อนรู้ทัน (เกลียดนักเพื่อนแบบนี้ แต่ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนรักกันจริงๆถึงได้รู้ทันกัน เหอะๆ)

พี่น้องในบ้าน ในความเข้าใจผม คือ เป็นทั้งพี่น้องกันและเพื่อนกันไปในตัว กับเพื่อนๆข้างนอกผมก็เข้าใจอย่างนั้นว่าความเป็นเพื่อนนี่มันคาบเกี่ยวกับความเป็นพี่น้องได้ เราสามารถมีเพื่อนเป็นคนรุ่นพี่อายุมากกว่า่ เหมือนก๊วยเจ๋งในนิยายมังกรหยกที่คบหาเป็นเพื่อนกับเฒ่าทารก มีมิตรภาพไม่จำกัดอายุ

พอผมเข้าโรงเรียนส่วนมากก็คบหาแต่เพื่อนในวัยใกล้เคียงกัน ไม่ค่อยมีเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องเสียเท่าไร เพราะสภาพการณ์มันไม่เอื้ออำนวยนัก เวลาส่วนใหญ่ใน รร.จะใช้ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้น และร่วมรุ่นเสียมากกว่าเพื่อนรุ่นพี่ หรือรุ่นน้อง ที่นานทีปีหนจะต้องมาเกี่ยวข้องกันที อย่างเช่น เมื่อมีกีฬาสี ทำโครงงาน หรืออบรมอะไรต่างๆนานา จะเพื่อนรุ่นพี่ก็ไม่กี่คนที่ได้รู้จักกันโดยความบังเอิญ

พอเข้ามหาวิทยาลัย มีอะไรๆที่ไม่เหมือนโรงเรียนหลายอย่าง มีกิจกรรมชมรม มีการเรียนที่สามารถไปเรียนกับเพื่อนต่างคณะ เพื่อนต่างชั้นปีได้ ทำให้มีเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องมากมายหลายคน


แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมต้องตั้งคำถามกับมิตรภาพ ความเป็น 'เพื่อน' ระหว่างคนต่างชั้นปี ต่างอายุครับ ในมหาวิทยาลัย !

 ครั้งหนึ่งผมแนะนำเพื่อนรุ่นพี่ที่ชมรมกับเพื่อนที่เข้ามาหน้าใหม่ โดยบอกไปว่าเพื่อนรุ่นพี่คนนั้นเป็นเพื่อนผม แต่รุ่นพี่คนที่ผมแนะนำเขาให้เพื่อนฟัง พอได้ยินผมเอ่ยถึงเขาว่าเป็นเพื่อนผม แกกลับปฏิเสธมิตรภาพของเรา พี่เขาบอกทันทีว่า "กูเป็นพี่มึงนะ !" ไอ้ตรงนี้แหละครับที่สะดุดใจผมขึ้นมา ผมงงมากทำไมพี่ต้องเป็นแค่พี่จะมาเป็นเพื่อนผมไม่ได้ แล้วที่เราคบหากันอยู่ ออกไปกินข้าว นั่งคุยนั่งเล่น แซวหยอกล้อกันมา มันไม่มีความหมายเลยหรอครับ ?!? ทำไม่พี่เขาถึงได้ริดรอนน้ำใจผมเสียเหลือเกิน !!! ผมแทบอึ้งกับคำพูดพี่เขาที่ฟังดูเหมือนหักหน้ากัน ณ เวลานั้น ผมก็ถามพี่เขาว่าเราไม่ใช่เพื่อนกันแล้วหรา อยู่ดีๆผมไปทำอะไรให้พี่โกรธ พี่เขาตอบกลับว่า "เปล่า มึงมันแค่รุ่นน้องกูต่างหาก !"


พอได้ยินคำตอบ และให้เวลาคิดใคร่ครวญทบทวนอะไรสักพัก ก็เข้าใจว่า การที่พี่เขาบอกว่าผมเป็นรุ่นน้องไม่ใช่เพื่อนนั้น มันมีที่มาจากวิธีการคิดแบบมหาวิทยาลัยที่มันไม่เหมือนกับที่บ้านผม ในมหาวิทยาลัยความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันมันไม่เหมือนพี่น้องแบบในครอบครัว แต่เป็นพี่น้องที่ไม่ใช่พี่น้องธรรมชาติ คลานตามกันมากินอยู่ร่วมกัน จนเกิดความสนิทสนมเหมือนเพื่อนกัน

ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเป็นของสมมติ ที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเรียนคณะเดียวกัน สถาบันเดียวกัน มาก่อนเป็นพี่มาหลังเป็นน้อง มีระบบกิจกรรมอย่างรับน้องประชุมเชียร์ที่สถาปนาบทบาทรุ่นพี่รุ่นน้องนี้ขึ้นมา มีกิจกรรมประชุมเชียร์ที่ทำให้รุ่นพี่มีทั้งพระเดชพระคุณ จะเห็นได้ว่าความเป็นพี่น้องของ นศ. แบบนี้จะมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผมยิ่งเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรุ่นพี่กับรุ่นน้องแบบนี้ได้ชัดในหมู่เพื่อน คณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ อย่างพยาบาล หรือสาธารณสุข เวลาพวก นศ.คณะเดียวกันแต่อยู่คนละชั้นปีถ้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน พวกที่เป็นรุ่นน้องจะดูเกรงๆไม่ค่อยเข้าหารุ่นพี่เสียเท่าไร หรืออาจจะเพราะคนเยอะก็ไม่ทราบ แต่ความรู้สึกส่วนตัวผมสัมผัสได้ถึงการวางตัวเป็นผู้อาวุโสกับผู้น้อยของเขาได้ชัดเจนมาก หลักฐานเชิงประจักษ์ของสภาพการณ์นี้คือ วัฒนธรรมการไหว้รุ่นพี่ ที่ปลูกฝังกันในหมู่ นศ.เอง ตอนผมเรียนโรงเรียนผมไม่เห็นต้องไหว้รุ่นพี่เลย เจอกันแค่ทักทายเรียกชื่อหรือยิ้มให้กันก็พอ หรือน้องชายที่บ้านตั้งแต่จำความมาได้ผมยังนึกไม่ออกเลยว่ามันเคยไหว้ผมตอนไหน ?!?  บางคนอาจจะบอกว่าเป็นการปลูกฝังมารยาททางสังคมที่ดีงาม อันนี้ผมไม่เถียง เพราะเรื่องความดี ความจริง ความงาม ผมว่าเป็นเรื่องอัตวิสัยใครๆก็อาจมองไม่เหมือนกันได้ แต่ผมเชื่อแน่ว่าวัฒนธรรมแบบนี้มันเป็นการบอกความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

มีเพื่อนคณะรังสีเทคนิคอธิบายเรื่องที่พี่ต้องวางตัวเป็น 'พี่' จะมาเป็น 'เพื่อน' พูดคุยหยอกล้อเล่นหัวกันไม่ได้นั้น มีความจำเป็นที่ต้องทำแบบนี้เพราะ เวลาไปทำงานในโรงพยาบาล ต้องทำงานเกี่ยวกับชีวิตคน เป็นงานซีเรียส เขาจำเป็นต้องคุมรุ่นน้อง ลูกน้อง หรือคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาให้ได้ งานจะได้ออกมาดี มีระเบียบเรียบร้อย ไม่เสี่ยงต่อการเสียหาย เขายกตัวอย่างจากประสบการณ์ในการฝึกงานมาสนับสนุนคุณค่าของระเบียบวินัยและการตรงต่อเวลา เขามีความเห็นว่าวัฒนธรรมการว๊าก  SOTUS มีระบบอาวุโส มีพี่ระเบียบวินัยเป็นของจำเป็นในองค์กรแบบนี้ และเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยาก

ผมก็เห็นว่าความมีระเบียบวินัยเป็นของดีนะครับ แต่ผมไม่ค่อยชอบวินัยที่เกิดจากการบังคับ หรือขู่เข็ญ วางฟอร์มใส่กันเสียเท่าไร ผมเห็นว่ามันเป็นของไม่ยั่งยืน แถมมันเกิดจากอำนาจและความกลัว ผมชอบการปลูกฝังให้คนรู้จักมีวินัยในตนเองมากกว่าการที่จะต้องมาบังคับกัน ผมไม่ได้บอกเพื่อนออกไปตรงๆว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผมแค่พึมพำๆกับตัวเองว่า "ถ้าให้กูเจอแบบนั้นคงอึดอัดแย่" เพราะใจผมมันรักที่จะมีพี่น้องที่เป็นเพื่อนกันได้มากกว่า ผมไม่อยากมีพี่น้องที่เป็นเพื่อนกันไม่ได้ และผมยังอยากมีเพื่อนที่เป็นทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องอีกด้วย

ผมเคยอ่านหนังสือเจอที่เขาเล่าว่า พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์"กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของชีวิตพรหมจรรย์" ที่ไม่ได้หมายถึงชีวิตที่ไม่เคยมีอะไรกับใครนะครับ แต่หมายถึงชีวิตที่ดี ส่วนกัลยาณมิตรหมายถึงเพื่อนที่ดีงาม บ้านไหนที่พ่อแม่ลูกสนิทสนมกันครอบครัวอบอุ่นผมเข้าใจว่าพ่อแม่ก็ได้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรกับลูกด้วย คือเป็นเพื่อนที่ดีให้กับลูก เห็นไหมครับว่าความเป็น 'เพื่อน' นั้นมันน่ารักขนาดไหน มันลึกซึ้งกินใจอะไรปานนี้ แม้แต่ฝรั่งเขายังแต่งเพลงรักให้ร้องว่า "I'm lucky, I'm in love with my best friend ... " แปลเป็นไทยได้ประมาณว่าฉันช่างโชคดีที่ได้ตกหลุมรักกับเพื่อนแสนดี ไม่เชื่อลองฟังดู



วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แนะนำหนังสือ : เดินทางไกลกับไซอิ๋ว/ลิงจอมโจก, เขมานันทะ

ในเรื่องไซอิ๋ว ภารกิจของตัวละครเอกคือต้องไปอัญเชิญพระไตรปิฎก

เพื่อนำคำสอนศาสนาไปเผยแพร่ สืบอายุพระศาสนา ยังประโยชน์ให้ชาวประชา

แต่ระหว่างทางฆ่าปิศาจไปเท่าไร ทั้งๆที่พระท่านสอนให้เมตตา งดเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

คำถามนี้อาจถูกละเลยไปเพราะเรื่องไซอิ๋วเป็นแค่นิทาน หรือวรรณกรรมเรื่องเล่าสนุกสนาน

เน้นพฤติการณ์ของวีรบุรุษ มีเรื่องศาสนาเป็นแค่ส่วนประกอบเสริม

แต่ด้วยความที่มันไม้ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว เรื่องไซอิ๋วเกี่ยวข้องกับศาสนาแต่ต้นจนจบ

ทำให้มีวาทกรรม หรือชุดคำอธิบายที่มารองรับแก้ต่างในประเด็นนี้ อย่างน่ารับฟังเช่น

การตีความตัวละครไซอิ๋วให้เป็นเรื่องธรรมะ หงอคงเป็น ปัญญา โป๊ยก่ายเป็น ศีล ซัวเจ๋งเป็น สมาธิ

สามพี่น้องตะลุยเบิกทางฆ่าปีศาจ ซึ่งถูกตีความว่าเป็นกิเลส พาอาจารย์ไปไซที

หรือ ดินแดนตะวันตกที่หมายถึงพระนิพพาน

ตัวอย่างเช่นในงานเขียนของ อาจารย์โกวิทย์  เอนกชัย หรือที่รู้จักกันในนามปากกา 'เขมานันทะ'

งานเขียนของท่านที่ตีความไซอิ๋วนั้นสมัยพิมพ์ครั้งแรกๆใช้ชื่อว่า "เดินทางไกลกับไซอิ๋ว"

ในการพิมพ์ครั้งล่าสุดได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น "ลิงจอมโจก" ซึ่งหมายถึงซุนหงอคง ตัวละครเอก

งานของอาจารย์โกวิทย์ตีความไซอิ๋วตั้งแต่ต้นจนจบการเดินทาง

(มีเว้นบางตอนเล็กน้อยอย่างตอนประวัติพระถังซัมจั๋ง)

แสดงให้เห็นการเดินทางจิตวิญญาณที่พาใจมนุษย์ไปสู่การหลุดพ้นทุกข์

สัญลักษณ์ในเรื่องล้วนแต่เป็นปริศนาธรรม ที่ตีออกได้เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนาทั้งสิ้น

งานเขียนชิ้นนี้เหมาะสำหรับคนรักไซอิ๋ว และผู้สนใจใฝ่ธรรมทั้งหลาย




Photos courtesy :

https://vorawat.files.wordpress.com/2011/05/1215676881.jpg?w=240 (4/5/2560)

http://static.weloveshopping.com/shop/booksforfun/na01316.jpg (4/5/2560)