วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เพื่อนพุทธร่วมรำลึก อาจารย์ปาริชาด สุวรรณบุบผา

วันที่ 20 พฤษภาคม 2560 ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดพิธีทำบุญบังสุกุล ถวายภัตตาหารเลี้ยงพระ เพื่อรำลึก และอุทิศส่วนกุศลให้กับ อาจารย์ปาริชาด สุวรรณบุบผา อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมผู้ล่วงลับ  อาจารย์ปาฯ ของเพื่อนๆชมรมพุทธ หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาด สุวรรณบุบผา เป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีชื่อเสียงและผลงานเป็นที่ประจักษ์ในงานวิชาการด้านศาสนา และแวดวงคนทำงานด้านการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ซึ่งจากไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 

ภาพถ่าย อ.ปาริชาด ในค่ายเพื่อนพุทธฯ ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2558
ที่มา เฟซบุคแฟนเพจ : เพื่อนพุทธฯ มหิดล (ศาลายา)  เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/PreCrpmu/

นักศึกษาชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย 'หนึ่ง' ประธานชมพุทธฯประจำปีการศึกษา'59  และเพื่อนๆกรรมการชมรมฯ ได้คิดริเริ่มงานบุญนี้ขึ้น โดยคณะกรรมการชมรมได้มีฉันทามติร่วมกันเชิญเอาอัฐิของอ.มาใส่โกฏิตั้งไว้บูชาที่ห้องชมรม จึงได้มีการทำบุญบังสุกุลกระดูกอาจารย์ ถวายเพลพระ และเชิญสมาชิกชมรมหน้าใหม่หน้าเก่า ไปจนถึงว่าที่อาจารย์ที่ปรึกษาคนใหม่อย่าง 'อาจารย์เล็ก'  (ดร.นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร สถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล) มาร่วมกิจกรรมในวันนี้

หนึ่ง นศ.สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ ประธานชมรมพุทธศาสตร์ กับ อ.เล็ก หรือ ดร.นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร สถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 




บรรยากาศของงานที่จัดขึ้นที่ห้องชมรมพุทธศาสตร์เป็นไปอย่างเป็นกันเอง สมาชิกเพื่อนสนิทหน้าใหม่หน้าเก่า รุ่นเล็กรุ่นใหญ่ต่างมาพร้อมหน้าร่วมบุญกัน หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนา ฟังพระสวดธรรมนิยามสูตร ถวายภัตตาหารพระ และผ้าบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับแล้ว เหล่าสมาชิกเพื่อนๆชมรมพุทธ หรือกลุ่ม 'เพื่อนพุทธ' ก็ยังได้นั่งล้อมวงกินข้าว พูดคุยแนะนำตัวทำความรู้จักกับ อ.ที่ปรึกษาคนใหม่ด้วยบรรยากาศสบายๆ 
อ.เล็กถามถึงแรงจูงใจของ นศ. ในชมรมว่ามีความคาดหวังอะไรที่ทำให้มาที่ชมรมนี้ มีหลายคำตอบที่น่าสนใจ หนึ่งในเพื่อนพุทธรุ่นใหญ่อย่าง 'พี่รุ้ง' ได้แบ่งปันว่าลองตัดสินใจตามเพื่อนมาร่วมกิจกรรมเข้าค่ายกับทางชมรมดู พออยู่ๆไปก็ได้เรียนรู้แก่นแท้ของศาสนาที่สอนวิธีแก้ปัญหาความทุกข์ในชีวิตมากขึ้น และสิ่งที่ยึดเหนี่ยวคนในชมรมนี้เข้าไว้ด้วยกันไม่ใช่ศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นมิตรภาพ ความเป็นเพื่อนกันเสียมากกว่า  

(จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับทางชมรมของผมเองก็คิดว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ คนนับถือศาสนาเดียวกันก็อาจชอบศาสนาเดียวกันคนละแบบคนละแง่มุมก็ได้ อย่างเช่น มีพระอาจารย์ที่ศรัทธาไม่เหมือนกัน มีคตินิกายที่นับถือแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทำให้คนคิดต่างกันแล้วยังคุยกันได้มาทำอะไรร่วมกันได้ถ้าไม่ใช่เพราะถูกอำนาจมาบังคับ  ก็เพราะมิตรภาพ ความเป็น'เพื่อน'กันนี่แหละครับ ที่ทำให้คนเราอยากมาพบกันอยากมาใช้เวลาทำอะไรร่วมกัน)

หลังจากได้รู้จักกันแล้ว อ.เล็ก และแขกพิเศษของชมรมที่เชิญมาร่วมบุญครั้งนี้ คือ ป้าไฝ (คุณอรัญญา) เพื่อนสนิทของ อ.ปา ก็ยังได้แบ่งปันเรื่องราวความทรงจำเกี่ยวกับ อ.ปาฯ ให้กับเพื่อนๆ นศ.ได้รับฟัง ป้าไฝเล่าเรื่องการต่อสู้กับโรคร้ายในช่วงชีวิตระยะสุดท้ายๆของ อ.ปาฯ ด้วยธรรมะและกำลังใจ 

 ส่วน อ.เล็กที่ได้ร่วมงานในสถาบันฯเดียวกันและสนิทสนมกับ อ.ปาฯ ได้เล่าถึงโครงการที่ อ.ปาฯทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนา ลดความรุนแรงและขัดแย้ง โดยนำเอากระบวนการ 'สานเสวนา' (Dialogue) มาใช้ ซึ่งไม่ใช่แค่การพูดคุยแลกเปลี่ยนเสวนาธรรมดา แต่เป็นการพูดคุยที่เน้นการฟังเพื่อความเข้าอกเข้าใจกันและกันระหว่างผู้พูดผู้ฟังมากกว่าการมุ่งไปที่เนื้อหาหรือประเด็นที่คุย (กระบวนการเช่นนี้ถูกนำไปใช้ในงานที่เกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง การเสริมสร้างความเข้าใจ และการศึกษาสมัยใหม่ที่เน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน) 

เพื่อนพุทธ นาย'กุลธน' นศ.นักกิจกรรมยังได้เล่าถึงการทำงาน และความน่ารักของอ.ที่เขาได้สัมผัสให้เพื่อนๆฟัง ผมจำได้ว่าเขาเล่าประมาณว่า เขาทราบว่าอ.ปาฯทำงานหนักเพราะปั่นจักรยานผ่านออฟฟิตของ อ.ปาฯ เวลาดึกๆทีไรก็มักจะเห็นไฟเปิดไว้เสมอ และเขายังประทับใจกับบุคคลิกภาพที่เป็นมิตรของอ. แกบอกว่า"ผมพบเจอ อ.ปาฯกี่ครั้งก็จะเห็นรอยยิ้มของแกเสมอ" ไม่ได้เห็นหน้าบูดบึ้งเลย 

อ.เล็กแสดงความยินดีที่ได้มาช่วยสานต่องานของ อ.ปาฯ ดูแลชมรมนี้ และหวังว่าจะได้ร่วมกิจกรรมดีๆกับทางชมรมต่อไป อ.ฝากว่าถ้าหาก นศ.มีอะไรให้มาคุยกันได้อย่างสบายๆเป็นกันเองตรงไปตรงมา อ.จะไม่วางตัวแบบมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับ นศ. แต่จะให้ความสนิทสนมเป็นกันเอง อ.เล็กเผยว่ารู้สึกดีใจและตื่นเต้นที่จะได้มาร่วมกิจกรรมดีๆเช่นนี้ และหวังว่าจะได้มาร่วมงานดีๆเช่นนี้กันต่อในโอกาสถัดไป




ชีวิต อ.ปาฯ สะท้อนให้เห็น แบบอย่างการอุทิศตนทำงานเพื่อสังคม  การนำศาสนธรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิต ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ ความเป็นอนิจจังของชีวิต ความตายของ อ. เป็นมรณานุสติแก่เพื่อนๆ ญาติมิตร ตลอดถึงลูกศิษย์ลูกหา ส่วนด้านผลงานของ อ.ปาฯ ก็ทำให้เราเห็นว่าศาสนาไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือเข้าหาความสุขส่วนตัวของปัจเจกบุคคล หรือเป็นชนวนให้เกิดความแบ่งแยกกันเท่านั้น แต่ยังมีส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ช่วยลดความรุนแรง ความขัดแย้ง  งานของ อ.ปาฯ ที่ทำโครงการเกี่ยวร่วมมือสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างผู้นำทางศาสนา การสานเสวนา งานเกี่ยวกับศาสนาสัมพันธ์ ที่อ.ได้ทำไว้แสดงให้เห็นว่า ศาสนา เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในโลกสมัยใหม่ ถึงแม้ว่า อ.จะจากไป แต่ก็ยังคงมีเพื่อนฝูงพี่น้อง ญาติมิตร ลูกศิษย์ลูกหาที่ช่วยสานต่อปณิธานเพื่อสังคมของ อ. มากมาย อย่างคนใกล้ตัวที่ผมรู้จักก็คือ ลูกศิษย์อ. กลุ่ม 'เพื่อนพุทธ' ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นี่เองแหละครับ



พระไพศาล วิสาโล พระภิกษุนักคิดนักเขียนชื่อดัง ผู้เป็นกัลยาณมิตรและเพื่อนร่วมงานได้เขียนถึง อาจารย์ปาฯไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของ อ.ว่า

ประธานชมรมกำลังทำหน้าที่บรรจุอัฐิอาจารย์ปาริชาด ตั้งไว้บูชาที่ห้องชมรม
"ใครที่รู้จักอาจารย์ปาริชาด ย่อมประทับใจในความเป็นมิตรซึ่งมาพร้อมกับรอยยิ้มของอาจารย์ และหากได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ ก็จะพบว่าในความสุภาพและความอ่อนโยนของอาจารย์นั้น เต็มไปด้วยความเข้มแข็งมุ่งมั่น และความกล้าหาญ หลายปีที่ผ่านมาอาจารย์ปาริชาดลงไปทำงานสมานไมตรีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง แม้มีความเสี่ยงมากมายเพียงใดก็ตาม กิจกรรมหนึ่งที่อาจารย์ให้ความสำคัญอย่างมาก และนำไปใช้ในการสมานไมตรีคือ 'สานเสวนา' อาจารย์ไม่เหน็ดเหนื่อยกับเรื่องนี้ เพราะอาจารย์เชื่อในความดีของมนุษย์ แม้จะต่างศาสนา ต่างภาษา หรือต่างชาติพันธุ์ ก็ล้วนมีความดีงามอยู่ในหัวใจทั้งสิ้น" 


ขอบขอบคุณ

ไอ้หนึ่งที่มีความคิดริเริ่ม และลุกขึ้นมานำเพื่อนๆทำกิจกรรมดีๆ
น้องเฟื่อง กิ๊ก เพ่ย เอ๊ะ ที่คอยดูแลเรื่องอาหารการกินในวันนี้
ปาล์ม กุลธน ที่มาร่วมแบ่งปันเรื่องราว
น้องหมี่ช่างภาพ มือสมัครเล่นที่ฝีมือไม่ใช่เล่น
พี่อานที่ซื้อขนมอร่อยๆมาช่วยร่วมบุญถวายพระ
พี่รุ้ง พี่ปุ๊ ที่ถึงแม้จะเรียนจบไปแล้วแต่ก็ยังกลับมาร่วมงาน
และเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ 'เพื่อนพุทธ' อีกมากมายที่ไม่ได้ออกชื่อที่มีส่วนร่วมกับบุญกิริยานี้

20/5/2560

1 ความคิดเห็น: