เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสส่งบทคัดย่องานนำเสนอ เข้าร่วมงานการประชุมวิชาการภาพยนตร์ศึกษา ซึ่งจัดโดย สถาบันหนังไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) งานมีชื่อทางการว่างาน "ประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ศึกษา ครั้งที่ 7" มีผู้เข้าร่วมงานเสนอผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ที่น่าสนใจหลายหัวข้อ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย อาทิ ดนตรีประกอบยุคหนังเงียบสยาม การจำลองลักษณะการบรรเลง กรณีศึกษา แตรวงโรงหนัง โดย จิตร์ กาวี และ ซีเนไฟล์ไทย : การศึกษาผู้รักการชมภาพยนตร์ในไทย โดย ศาตวัต บุญศรี นอกจากนี้ยังมีงานนำเสนอที่ศึกษาภาพยนตร์ด้วยการพิจารณบริบททางสังคม วัฒนธรรม อาทิ จาก “โหยหา” ถึง “โมโห”: เมื่อ “ตลกเตะฝรั่ง” ในบริบทภาพยนตร์ไทยหลังภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ (พ.ศ.2540-2546) โดย อิทธิเดช พระเพ็ชร หรือ “ผมมีหัวใจของผมก็พอแล้ว”: การเมืองเรื่องความทรงจำและการดัดแปลงใน คู่กรรม (2556) โดย นัทธนัย ประสานนาม
ส่วนงานนำเสนอของผมนั้น เลือกเอาแนวคิดวัฒนธรรมศึกษามาใช้ศึกษาปรากฎการณ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ ในหัวข้อว่า มิติทางการสื่อสาร และสังคมวัฒนธรรมของ"เพจหนัง"บน Facebook กล่าวโดยสรุป งานนำเสนอชิ้นนี้มุ่งศึกษาบทบาทของสื่อออนไลน์ในโซเซียลมีเดีย คือ เพจหนังบนเฟซบุ๊ค โดยอาศัยกรอบแนวคิดทฤษฎีสื่อสารมวลชน สังคมวิทยาและวัฒนธรรมศึกษา ผ่านการสัมภาษณ์แอดมินเพจหนังเพจหนึ่ง ผลการศึกษาพบว่า เพจหนังมีบทบาทเป็นช่องทางสื่อสารที่มีพลวัตกลุ่ม (Group Dynamic) ลูกเพจมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจเลือกชมภาพยนตร์ตามคำวิจารณ์ของเพจหนัง แต่ในขณะเดียวกันลูกเพจสามารถเข้ามาแสดงความเห็นอภิปรายแลกเปลี่ยนกับแอดมินเพจได้ ไม่ได้รับสารจากแอดมินเพียงฝ่ายเดียว และการเกิดขึ้นของเพจหนังนั้นถือได้ว่าเป็นปฏิบัติการทางสังคม เพจหนังยังมีบทบาทเป็นพื้นที่สร้างตัวตน ประกาศอัตลักษณ์ของแอดมินเพจ โดยอาศัยต้นทุนวัฒนธรรมที่ตนมี นำไปสู่การแลกเปลี่ยนทุนเชิงสัญลักษณ์ ทุนทางเศรษฐกิจและสังคม ตามมโนทัศน์ของ Pierre Boudier กล่าวคือ เพจหนังมีบทบาท และอิทธิพลต่อสังคมบนโลกออนไลน์ ในฐานะของสื่อมวลชนอิสระที่ผู้ติดตาม หรือแฟนเพจสามารถเข้าถึงได้โดยตรง และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทุนของปัจเจกบุคคล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น