เมื่อเจออะไรน่าสงสัย ถึงเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่เอาไปคิดต่อแล้วเห็นอะไรในเรื่องนั้นมากมาย ถ้าไม่เล่าออกมาแล้วก็กลัวจะหาย อาจารย์ที่สอนปริญญาโทเลยแนะนำให้เอาไปเขียนไว้ในบล็อก จะไม่ได้ไม่สาบสูญ ยังถือว่าได้แชร์ ได้แลกเปลี่ยน ตกตะกอนความคิด เวลาผ่านไปได้กลับมาทบทวนตัวเองด้วยเวลาเปิดอ่านเป็นเหมือนบันทึกไทม์แมชชีน ที่สะท้อนให้เห็นตัวตน ความคิด ความเห็นเราในเวลานั้นๆด้วย
ผมจะเขียนเรื่องอะไรที่แปลกๆเจอในมหาวิทยาลัยโดยใช้หัวข้อบทความว่า "มาหาไร?มหา'ลัย" ซึ่งมีความหมายว่า มาหาอะไรในวิทยาลัย นั่นเอง และบทความนี้ก็เป็นตอนที่ 2 แล้วครับที่ผมเขียนถึงหัวข้อนี้
อะไรที่ผมคิดว่ามันแปลกๆที่ผมเจอในมหา'ลัย ที่จะมาเล่าให้ฟังวันนี้เป็นปรากฏการณ์ ปรากกฎการณ์หนึ่งครับ ที่ผมไม่เคยเจอข้างนอกมากก่อน มาเจออะไรแบบนี้ครั้งแรกในมหาวิทยาลัย เดี๋ยวผมจะเจียระไนให้ฟังในลักษณะของโครงร่างงานวิจัย ดังต่อไปนี้ครับ
หัวข้อ : อายุห่างกันเท่าไรทำไปเรียกเขาลูก ?!?
ที่มาและความสำคัญ :
โดยทั่วไปญาติสนิทมิตรสหาย คนอายุรุ่นน้องพ่อรุ่นพี่แม่ หรือรุ่นลุงป้าน้าอา มักจะใช้สรรพนามเรียกคนอายุน้อยคราวลูกคราวหลานว่า ลูกเอ๊ย ! หลานเอ๊ย! เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแบบนับญาติครับ สะท้อนได้จากภาษา สรรพนามเรียกกันเหมือนครอบครัว อิทธิพลแบบนี้คงมาจากการที่สังคมสมัยก่อนเป็นสังคมแบบกสิกรรม อยู่กันเป็นชุมชน เป็นชนบทที่คนเกี่ยวข้องดองกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คนหมู่บ้านเดียวกันมักจะเป็นญาติพี่น้องกันนั่นเอง คนไทยจึงมีสรรพนามใช้เรียกกันเหมือนญาติ เจอคนอายุคราวพ่อปูนพี่พ่อก็เรียกลุง เรียกป้า ผิดกับชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษมีแต่ I กับ you ถ้าไม่ใช่ญาติกันจริงๆ หรือนับถือกัน น้อยครั้งจะเห็นชาวต่างชาติใช้ภาษาอังกฤษเรียกใครเหมือนเรียกญาติแบบที่คนไทยเราใช้ในภาษาไทย
ตั้งแต่สมัยยังไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยไปไหนมาสามวาสองศอก ออกปากเรียกใครว่าลุงป้าน้าอามักก็จะถูกเรียกกลับมาอย่างเอ็นดูว่าลูกบ้าง หลานชายบ้าง แต่พอผมมาเรียนมหาวิทยาลัยได้ปีแรก ผมก็เจอเรื่องที่ผิดไปจากสภาวการณ์ข้างต้น มีนักศึกษาวิศวะหนุ่มเรียนก่อนผมหนึ่งปี จัดได้ว่าเป็นรุ่นพี่ มาเรียกผมว่า "ลูก" ตอนที่ผมยกมือไหว้เขาตามธรรมเนียมนักศึกษา แรกๆก็ตลกดี คิดว่าพี่เขาเรียกขำๆ เป็นอารมณ์ขันเฉพาะตัว แต่อยู่มหาวิทยาลัยนานวันเข้า เจอแบบนี้หลายคน เริ่มรู้สึกแปลกๆแล้วเพราะไม่เคยเจอชาวบ้านข้างนอกอายุห่างกันไม่เท่าไรมาเรียกลูกแบบนี้ ส่วนตัวแล้วมองว่าออกจะอุตริด้วยซ้ำไป
ผมเลยคิดว่ามันต้องมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่เป็นที่มาถ่ายทอดให้เกิดการเรียกรุ่นน้องว่าลูกแบบนี้ เพราะไม่ได้เป็นกันแค่คนเดียว หรือคนสองคน แต่เจอมาในรุ่นพี่หลายคน ที่มีบุคคลิกภาพดูเป็นคนมีความมั่นใจคล้ายๆกัน ผมก็เลยค้นหาคำตอบ
คำถามวิจัย :
- เหตุใด นศ.รุ่นพี่ถึงได้เรียกรุ่นน้องว่าลูก?
- การเรียกเช่นนี้มีที่มาอย่างไร ? การเรียกลูกแบบนี้ถึงพบได้แต่ในมหาวิทยาลัยจริงหรือไม่ ?
- บริบทของการเรียกมีผลอะไร หรือไม่?
- ปฏิกิริยาของรุ่นน้องที่มีต่อการเรียกเช่นนี้เป็นอย่างไร?
วิธีวิจัย :
การหาคำตอบในเรื่องนี้ ผมอาศัยการเก็บข้อมูลแบบการวิจัยเชิงไร้คุณภาพแบบไม่เป็นทางการ คือ ตั้งสถานะบนเฟซบุ๊คถามเพื่อนให้มาคอมเมนต์ตอบบ้าง แอบสังเกตกลุ่มเพื่อนๆที่ใช้สรรพนามว่าลูกเรียกน้อง ตลอดถึงปฏิกิริยาเวลาอาการของรุ่นน้องที่โดนเรียกบ้าง แอบสอบถามเพื่อนผ่านการสนทนาบ้าง ตลอดถึงล่าสุดโดนคนเรียกว่าลูกก็แกล้งจุ๊ปากมองหน้าแสดงความไม่พอใจเพื่อดูปฏิกิริยาคู่สนทนาบ้าง คงสร้างความเคืองใจให้เขาไม่น้อยเห็นได้จากบทสนทนาที่มีต่อ (ไว้จะเล่าให้ฟังในหัวข้ออภิปรายผลการศึกษา) ด้วยเหตุนี้เองผมจึงเรียกวิธีวิจัยของผมว่า 'การวิจัยเชิงไร้คุณภาพแบบไม่เป็นทางการ'
อภิปรายและสรุปผลการศึกษา :
จากการศึกษาพบว่า สาเหตุของการเรียกน้องว่าลูกนั้นเพื่อน นศ.ส่วนใหญ่ตอบว่ามาจากความเอ็นดู ต้องการสร้างความสนิทสนม และผูกมิตรกับเพื่อนรุ่นน้อง ส่วนที่มานั้นบ้างก็ตอบไม่ได้ บ้างก็ว่าได้ยินมาจากรุ่นพี่เลยเรียกตามๆกันมา มีคำตอบที่เป็นความคิดเห็นน่าสนใจที่แปลกออกไปอย่างเช่น เป็นการสร้างมิตรภาพในระบอบอุปถัมภ์ (คนตอบเคยเรียนทางสังคมศาสตร์มาแน่นอน) มีที่มาจากการเรียกกันในหมู่เพศที่ 3 ที่มีระบบแม่เป็นระบบอุปถัมภ์กระเทยรุ่นพี่จะตีต่างตนว่าเป็นแม่คอยเกาะกลุ่มช่วยรุ่นน้องด้วยความเอ็นดูต่างลูก บ้างก็ว่าเป็นการเรียกตามติวเตอร์ในโรงเรียนกวดวิชา บ้างก็ว่าในวงการแสดงช่างแต่งหน้าสาวประเภทสองก็เรียกกัน
เพื่อน นศ.ที่พูดคุยด้วยส่วนใหญ่ถูกรุ่นพี่เรียกว่าลูก และเรียกรุ่นน้องว่าลูกเป็นครั้งแรกในมหาวิทยาลัย มีไม่กี่คนที่เรียกตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม คนหนึ่งเป็นเพื่อนชาวสีรุ้ง ส่วนอีกคนเรียนโรงเรียนกินนอนที่มีวัฒนธรรมระบอบอุปถัมภ์ตั้งแต่มัธยม ทั้งสองท่านคุ้นเคยกับการเรียกคนรุ่นน้องว่า "ลูก" มาก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย
ปฏิกิริยาของรุ่นน้องที่ถูกเรียกมีเพื่อนตอบมาว่า รู้สึกดีเพราะได้รับความรักความเอ็นดูจากรุ่นพี่ที่เรียกและเข้าถึงได้ง่าย ถึงอย่างนั้นก็มีบ้างที่บอกว่ารู้สึกแปลกๆ ไม่ค่อยสนิทใจ จากการสังเกตเห็นได้ว่ากลุ่มรุ่นน้องที่ถูกเรียกในกิจกรรมหนึ่งที่ชมรมแห่งหนึ่ง มีปฏิกิริยาเกร็งๆมากกว่าเวลาถูกรุ่นพี่เรียกว่าลูก แทนคำว่าน้อง แต่ไม่ได้มีโอกาสสอบถามเป็นรายคนไป
แต่โดยส่วนตัวรู้สึกแปลกๆไม่ชอบใจ เคยมีคนไม่รู้จักมาเรียกตอนพบกันครั้ง เราแกล้งถลึงตาจุ๊ปากแสร้างทำทีไม่พอใจใส่เธอ เธอก็ค้อนควับแล้วหันไปไล่เลียงรุ่นที่เรียนกับเพื่อนที่มาด้วยกันอีกคน เพื่อให้เราทราบว่าเธอเรียนจบก่อนเราหลายปี แล้วจากนั้นสบตาเธอก็ไม่ยิ้มให้เราเหมือนตอนรับไหว้ครั้งแรกก่อนสนทนากัน
จากการสังเกตพบว่ากลุ่ม นศ. รุ่นพี่ที่นิยมใช้สรรพนามเรียกน้องว่าลูกส่วนใหญ่เป็นเพศที่สาม รองลงมาเป็นผู้หญิง มีผู้ชายบ้างแต่น้อยกว่า โดยมากพวกมักจะมีบทบาทเป็นผู้นำกิจกรรม นศ. ไม่ว่างานชมรม รับน้องประชุมเชียร์ หรืองานคณะ เป็นคนกล้าแสดงออกและมีความมั่นใจในตนเอง
วิเคราะห์ ได้ว่าการเรียกลูกแบบนี้ไม่ได้พบแต่ในมหาวิทยาลัย แต่ยังมีในแวดวงเพศที่สาม กวดวิชา และวงการบันเทิง การเรียกแบบนี้เป็นการมุ่งสร้างสัมพันธภาพ ด้วยความรักความเอ็นดู เป็นการสร้างกลุ่มเป็นการเรียกโดยผู้อาวุ และเป็นการแสวงหาการยอมรับ ผู้น้องที่ถูกเรียกมีทั้งปฏิกิริยาเชิงบวกและลบ ปฏิกิริยาเชิงลบนำไปสู่สัมพันธภาพที่ไม่ได้ ดังที่ได้เล่าในประสบการณ์ส่วนตัว
วิพากษ์ การเรียกเช่นนี้เป็นการแสดงความอาวุโสที่ตำแหน่งแห่งที่ของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า เพราะมีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่เรียกเด็กกว่าว่าลูก ความสัมพันธ์เช่นนี้ผิดไปจากนอกวงการที่นับญาติกันด้วยระบบภาษา เพราะเป็นความสัมพันธ์ภายใต้บริบททางสังคมใหม่ มหาวิทยาลัยมีระบบอุปถัมภ์ SOTUS ที่ทำให้รุ่นพี่มีบทบาทต้องเป็นผู้ใหญ่และใช้อำนาจเหนือกว่ารุ่นน้องในการสร้างปฏิสัมพันธ์ จึงได้เกิดความพิเศษแปลกใหม่ไม่เหมือนเดิมขึ้นมา เห็นได้จากที่ นศ.ที่เรียกน้องลูกส่วนใหญ่มีบทบาทเป็นผู้นำกิจกรรม
รุ่นพี่เรียกรุ่นน้องว่าลูกไม่ใช่เพราะเขาอ่อนคราวลูกพวกเธอ การเรียกแบบนี้เกิดขึ้นภายใต้บริบทของสังคมที่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ใช่สัมพันธ์แบบเครือญาติในบริบทสังคมไทยแต่ก่อนเป็นการประกาศว่ารุ่นพี่เป็นผู้ใหญ่กว่า รุ่นพี่เท่านั้นที่จะเอ็นดู จะกรุณารุ่นน้องได้ เหมือนผู้ใหญ่เอ็นดูเด็กน้อย ถ้ารุ่นน้องโอนอ่อนผ่อนตามก็ไม่มีปัญหา ถ้าหากไม่ยอมลงให้ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ก็จะไม่ราบรื่นอีกต่อไป เหมือนกรณีที่ผู้ศึกษาแกล้งลองใจรุ่นพี่
วิจารณ์ การเรียกแบบนี้สำหรับบางคนเขาก็โอเค บางคนอาจจะไม่โอเค จึงเป็นเรื่องอัตวิสัยของแต่ละบุคคลที่จะตีความและจับสารที่ต้องการสื่อ บางคนใจกว้างเปิดรับได้ถึงความรักความเมตตาผิดสามัญวิสัยนี้ก็ดีไป แต่ถ้าหากสัมผัสไม่ได้ก็อาจมองไปว่าเป็นเรื่องอุตตริแบบที่ผู้ศึกษามอง แทนที่จะมองว่าเขารักเขาเมตตา กลับมองว่าเป็นการแสดงอำนาจเกินตัวเกินอายุไปเสียสิ้น
ฉะนั้น ขอนำเสนอแนะว่าถ้าหากจะเรียกใครก็ขอให้พิจารณาให้ดีเสียก่อน ถ้าไม่สนิทกันจริงๆหรือไม่ได้อยู่ในฐานะที่สมยอมกันก็อย่าเพิ่งใช้สรรพนามแบบนี้ การจะใช้ควรตรองให้ดีก่อน ไม่อย่างนั้นก็เรียกพี่เรียกน้อง เรียกคุณเรียกผมกันไปก่อน จะได้ไม่เกิดปัญหา
ครั้งหนึ่งเชิญอาจารย์ที่ปรึกษามาร่วมกิจกรรมชมรม รุ่นน้องที่เป็นกรรมการชมรมเรียกน้อง นศ.ปีหนึ่งที่มาร่วมว่าลูก อาจารย์ได้ยินเข้าเลยบอกว่า "เธออายุเท่าไรไปเรียกเขาลูก ?" ดูน้อง นศ.กรรมการของเราออกจะหน้าแตกไม่น้อย ส่วนรุ่นน้องปีหนึ่งต่างอมยิ้มกันไป
อ้างอิง
- การสอบปากคำเพื่อน
- คอมเมนต์บนเฟซบุ๊ค
- การสังเกตแบบมีส่วนร่วมบ้างไม่ร่วมบ้าง
- มโนล้วนๆ
โครงร่างการศึกษานี้ยังไม่ได้ให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไหนอ่าน หรือมาวิจารณ์ เพราะฉะนั้นหากท่านที่เข้ามาอ่านเมตตาแล้วละก็ ขอให้ได้ให้เกียรติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเล่นๆเขียนคอมเมนต์ติชม เสริมเพิ่มเติมกันได้ในช่องเมนต์ด้านล่างนะครับ อ่านแล้วไม่ชอบใจก็ด่าได้ แต่อย่าแรงส์ ขอบคุณครับ
ที่มา http://www.vaterfreuden.de/sites/default/files/drohungen-machen-eltern-unglaubwuerdig.jpg |
จะติดตามเรื่อยๆนะจ้ะ ชอบสำนวนเเนวการเขียนของชานนท์ โดยส่วนตัวคิดว่ามีความเเปลกที่เป็นเอกลักษณ์เเบบที่ไม่ค่อยเห็นบ่อยนัก เเต่มีประโยชน์เเละน่าติดตามมากๆ
ตอบลบ