วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

น้ำนิ่งตลิ่งไหล : คนเปลี่ยนไปแต่ใจดวงเดิม

(หนึ่งในเรื่องเล่าจากค่าย ตามรอยพุทธทาส ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี  พ.ศ. 2560)

ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) มีกิจกรรมที่มีความเป็นมายาวนานสานต่อกันรุ่นต่อรุ่นมาแล้วหลายปีอย่างการออกค่ายที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม ผมไม่ทราบปีที่แน่นอนว่าค่ายนี้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร? (หากมีโอกาสผมอยากทำพงศาวลี หรือกาลานุกรมชมรมไล่เก็บข้อมูลประวัติศาสตร์เหล่านั้นไว้จริงๆครับ แต่ยังไม่มีเวลาเสียที) แม่ครัวที่สวนโมกข์เองเล่าให้ฟังว่า

"ป้าทำกับข้าวให้พวกชมรมพุทธกินมาเป็นสิบๆปีแล้ว พวกนี้เขามากันทุกปี

ผมเข้ามาเรียนที่มหา'ลัย ปีแรกและร่วมกิจกรรมชมรมฯ เมื่อปี 2555 ปีนี้ 2560 มีโอกาสได้ร่วมค่ายสวนโมกข์นี้มาแล้ว 5 ปี 5 ค่าย เห็นอะไรๆเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควรตามเวลายุคสมัยที่ผ่านไป
พระอาจารย์มานพ (ในปัจจุบัน) นำทางคณะเพื่อนพุทธ หรือชาวค่ายชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขณะลงจากเขานางเอ

ปีนี้พระจากสวนโมกข์ที่มาร่วมนำกิจกรรมในค่ายเรา คือ พระอาจารย์มานพ มานิโต ผมเห็นรูปของท่านในอัลบั้มภาพถ่ายของชมรม อายุประมาณสิบกว่าปีมาแล้ว ในรูปอาจารย์ยังเป็นพระหนุ่ม

ภาพถ่ายพระอาจารย์มานพ มานิโต สมัยเป็นพระหนุ่มจากอัลบั้มค่ายสวนโมกข์ ปี พ.ศ. 254x ที่เก็บรักษาไว้ที่ห้องชมรมพุทธฯ

ช่วงเวลาหนึ่งในค่ายขณะนั่งรถเดินทางด้วยกัน ผมพลันนึกถึงเรื่องรูปถ่ายพระอาจารย์ตอนหนุ่มขึ้นมาได้ ก็เลยถามพระอาจารย์ว่า ชมรมพุทธสมัยก่อนตอนที่อาจารย์เจอ เป็นไงบ้าง? ท่านบอกว่า

 "คนละแบบกับพวกคุณเลย!

อาจารย์ยังบอกอีกว่า สมัยก่อนนักศึกษาชมรมพุทธฯเรียบร้อยมาก แม้พระอาจารย์ที่เป็นพระหนุ่มในตอนนั้นยังสัมผัสได้ว่าพวกเขาไม่ธรรมดา !

เท่าที่ผมเข้าใจ ผมคิดว่าอาจารย์พยายามจะบอกว่า พี่ๆชมรมของผมรุ่นก่อน พวกเขารู้เรื่องธรรมะดี และรู้จักธรรมเนียมปฏิบัติมารยาทชาวพุทธแบบจารีตนิยมผิดกับพวกคณะที่มาในปีนี้

เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากคำที่ใช้เรียกพระก็ยังผิดๆถูกๆ  มีพวกเราเผลอไปออกปากเรียกพระสวนโมกข์ว่า พระเจ้าถิ่น แถมใช้คำกราบนมัสการ กราบนิมนต์ กราบอาราธนาผิดๆถูกๆ !?! จนพระอาจารย์ต้องตักเตือนออกไมค์แบบขำๆแซวกันทีเล่นทีจริง ทำเอาน้องคนพูดคงจำฝังใจไปอีกนานนนนน แสนนานนนนน


ในคืนสุดท้ายของค่ายทุกๆปี จะเป็นกิจกรรมล้อมวงคุยเปิดใจกัน ปีนี้มีพี่ที่มาด้วยกัน แกเผยความรู้สึกออกมาว่า เขาเห็นค่ายนี้ไม่เหมือนค่ายธรรมะอื่นๆที่เขาเคยไป เขาแปลกใจมากกับการที่เห็นผู้คนที่มีความหลากหลาย มาอยู่ในค่ายธรรมะแบบนี้ มีทั้งน้องนักศึกษาใสๆทั่วไป พระภิกษุสงฆ์นักปฏิบัติ นักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษาชาวต่างชาติ ศิลปิน นักร้องแร็พเพอร์ฯลฯ (ปีนี้ยังพิเศษหน่อยตรงที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม กับพระอาจารย์นักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกมาร่วมด้วย) แต่ละคนมีคาแรคเตอร์เป็นตัวของตัวเองสุดๆ  ดูมีความคิดเล่นเห็นต่างกันไม่น้อย พี่เขายังบอกว่าบางคนนี้พอว่างคิดจะรำมวยจีนก็ลุกขึ้นมารำไม่เกรงสายตาใคร (คนที่พี่เขาว่าคือผมเองแหละ ขอสารภาพ พอดีช่วงนี้กำลังหัดเพลงมวยไทเก็ก พอว่างละมันอดซ้อมมือไม่ได้)

มันเกิดอะไรขึ้นจากแต่ก่อน ทำไมคนถึงเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ??? 

ผมตอบไม่ได้โดยทันทีในบทความนี้ แต่ผมคิดเอาแบบตีคลุมว่าคงมีปัจจัยอะไรหลายๆอย่างที่ผันแปรไปตามกาลเวลาทำให้สังคมเปิดกว้างมีความหลากหลาย มีพลวัต (dynamic) มากขึ้น แม้แต่ชมรมฯเองก็โดนกระแสแห่งความผันแปรอันเป็นอนิจจลักษณะนี้เข้าซัดใส่

ท่านพุทธทาสสอนว่า "มองให้ดีมีแต่ได้ไม่มีเสีย" ผมก็อยากจะเขียนบอกเล่าให้เรามองความเปลี่ยนแปลงของชมรมนี้ไปในทางที่สร้างสรรค์นะครับ การที่คนหลากหลายรูปแบบได้เข้ามาเรียนรู้ในค่ายธรรมะแบบนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ธรรมะได้แผ่กว้างออกไปในผู้คนมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่คนธัมมะธัมโม ที่มีจริตนิสัยหรือศรัทธาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

พี่ชมรมบางท่านได้อ่านบทความนี้อาจรู้สึกเสียดายนะครับ ที่คนเข้ามาชมรมแลดูมีเลเวลชาวพุทธลดลงกว่าแต่ก่อน ... แต่ถ้ามองให้ดีนี่เป็นโอกาสให้เขาได้เข้ามาเรียนรู้ครับ ค่ายปีนี้โชคดีที่ผู้จัดได้ติดต่อพระอาจารย์ที่มีความเข้าใจ เข้าถึงคนรุ่นใหม่ และมีเทคนิควิธีการในการถ่ายทอดความรู้

ขณะที่น้องออกปากเรียกพระว่าเจ้าถิ่น นั้นพระอาจารย์ท่านก็มองอย่างขำๆกันนะครับ พระอาจารย์ท่านบอกน้องว่าคำนี้ที่วัดใช้เรียกสุนัขที่หวงเขตแดน ผมคุยกับท่านภายหลัง จึงรู้ว่าท่านเองก็เข้าใจธรรมชาติที่ห่างเหินจากวัฒนธรรมชาววัดของน้องๆ ท่านเมตตาตักเตือนให้จำโดยอาศัยการพูดด้วยอารมณ์ขันไม่ทำให้เขาเป็นปมเจ็บใจ ผูกใจกลัว จนขาดความมั่นใจในตัวเอง เวลาไปมีปฏิสัมพันธ์กับพระในโอกาสต่อไป แถมด้วยความที่โดนเทศน์ขำๆแบบนี้ยิ่งช่วยให้เขาจำบทเรียนนี้ได้ดีมากขึ้นอีกด้วย

ศาสนามีรูปแบบประเพณีพิธีกรรม จรรยามารยาท เป็นตัวรักษาแก่นแท้คือคำสอนที่ทำให้รู้จักตัวเอง และเห็นความไม่มีตัวตนจนคลายความยึดมั่น ไม่ใช่ว่าเปลือกนอกไม่สำคัญ แต่ผมมีมุมมองส่วนตัวว่า พอเวลาผ่านไปตัวรูปแบบภายนอกอาจจะต้องปรับไปตามบริบทของช่วงเวลาเพื่อรักษาตัวแก่นแท้ แต่ตัวแก่นแท้นี้เองครับที่ไม่น่าจะเปลี่ยนอย่างที่พระท่านเทศน์ว่าธรรมะนี้เป็น "อกาลิโก" แปลว่าเป็นของไม่จำกัดกาล หรือขึ้นกับเวลายุคสมัยใด ธรรมะเป็นเรื่องความจริงธรรมชาติของมนุษย์ แม้แต่คนไม่นับถือศาสนา เขาก็สามารถเรียนรู้ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตได้ สามารถเป็นคนไม่เห็นแก่ตัวได้ คนนับถือศาสนาอย่างยึดมั่นเสียอีก ที่อาจจะมีความลำพองใจคับแค้นใจมากกว่าคนธรรมดาทั่วไปถ้าหากไม่ได้ฝึกปฏิบัติเฝ้าระวังใจตนเอง ใช่ไหมครับ ? ....

น้องๆชมรมที่เข้ามารุ่นใหม่ๆ อาจจะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น เฮฮาสนุกสนานมากขึ้น รู้ธรรมะรู้จักศาสนาพุทธน้อยลง แต่ผมเชื่อว่าเขามีศักยภาพ มีความพร้อมที่จะทำความรู้จักธรรมชาติของตนเอง และก็มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้นำเอาแก่นของธรรมะไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับชีวิตและสังคม

ถึงแม้คนที่มารุ่นหลังๆจะมีคาแรคเตอร์เปลี่ยนไปแต่ผมเข้าใจว่าจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ และตัวธรรมะที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่พวกเขามาเรียนรู้นี้ยังคงเหมือนเดิมครับ

ในค่ายปีนี้ยังมีเรื่องราวความสนุกสนาน ความประทับใจ ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ไว้โอกาสหน้าจะมาเล่าให้ฟังอีกนะครับ


ปล.ขอขอบคุณน้องเมย์ที่เอื้อเฟื้อถ่ายภาพบันทึกความทรงจำ ให้เราก็อปมาวางในบล็อก

และ ผมหวังว่างานเขียนลักษณะนี้นอกจากจะช่วยให้เราได้บอกเล่าเรื่องราวความประทับใจแล้ว ยังอาจจะมีประโยชน์กับคนอื่นในฐานะที่เป็นการบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์ ข้อคิดเห็นที่ได้จากการทำงานให้กับเพื่อนๆด้วย

ขอบพระทุกท่านคุณที่เข้ามาอ่านครับ มีประเด็นน่าสนใจอะไร ก็เชิญแลกเปลี่ยนวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่ชอบใจก็ด่าได้ (แต่อย่างแรง) เชิญในช่องคอมเมนต์ด้านล่างครับ :)

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณชมรมนี้ที่ให้โอกาศกับกลุ่มคนที่ไม่พร้อมด้านความรู้และมีบุคลิกที่ไม่ได้เรียบร้อย แต่พร้อมมาก!ที่จะเรียนรู้ และปรับปรุง และศึกษาศาสนา / ผมอยากบอกว่าผมคิดอะไรเพิ่มเมื่อมองมาที่ตัวเอง ผมรู้สึกว่าผมเป็นแบบอย่างได้ หมายถึง แบบอย่างว่าศาสนาพร้อมให้ใครก็ได้มาศึกษา ผมเคยพูดกับเพื่อนๆหลายๆคนว่า "มึงลองดูไหม คนอย่างกูยังอยากศึกษาศาสนาได้เลย" ผมไม่รู้จะพูดไง แต่ผมก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผมก็อยากให้คนอื่นๆมาเรียนรู้ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าตัวเองเป็นคนแบบไหนอะครับ...ขอขยายความประโยคผมเคยพูดกับเพื่อนๆหลายๆคนว่า "มึงลองดูไหม คนอย่างกูยังอยากศึกษาศาสนาได้เลย" คือผมไม่ได้จะบอกว่าผมดึงให้ศาสนาต่ำลงนะครับ ศาสนาก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแค่ให้คนอีกรูปแบบหนึ่งเข้ามาได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วย หากไม่มีคนชี้หรือบอกให้เขามาลอง เขาก็คงไม่ได้เข้ามาลองศึกษาสักที ผมขอเป็นคนนึงที่จะเป็นสัญลักษณ์แทนคำบอกที่ว่า ศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่ใครๆก็ศึกษษได้ ศาสนาพุทธคือธรรมชาติของชีวิตของ"ทุกคน"

    ปลๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ อาจจะเขียนงงๆหน่อย เพราะผมเขียนไม่เก่ง555

    ตอบลบ