วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บ้า...ทำมะ ? : "มึงทำให้กูดูโง่!"

โดยส่วนตัวแล้วผมเป็นคนชอบศาสนาพุทธส่วนที่เข้าได้กับคนสมัยใหม่ ชอบการอธิบายธรรมะแนววิทยาศาสตร์ ไม่เป็นไสยศาสตร์ มุ่งไปที่เรื่องการหาความสงบทางจิตใต ความคิดความเชื่อทางศาสนาของผมได้รับอิทธิพลจากงานของท่านพุทธทาส ป.อ.ปยุตฺโต องค์ดาไลลามะ ท่านติซ นัท ฮันห์ ฯลฯ อะไรแนวๆนี้แหละครับ ผมชอบอ่านหนังสือของพระดังเหล่านี้ จนชีวิตที่มีทั้งดีทั้งเลวอันเป็นธรรมดาของมนุษย์ของผมนั้นจะมีส่วนที่ดีๆอยู่บ้าง ก็ยกประโยชน์ให้พวกท่านละครับ

ไม่นานมานี้ มีเรื่องชวนให้คิดเกิดขึ้น เรื่องมีอยู่ว่า ผมพาเพื่อนซี้ที่อยู่ต่างจังหวัดนานๆมาพบกันทีไปเที่ยวไปเช่าพระ ก่อนที่จะเข้าวัดเขาออกปากกับผมว่า

"กูขอไรมึงอย่างได้ไหม?"

ผมสงสัยจะมาขออะไรกันตอนนั้น อดคิดไม่ได้ว่ามันคงมีเงินไม่พอ จะยืมตังค์เราเช่าพระแน่เลย 
ผมก็ยังไม่รับในทีแต่ถามต่อไปว่า "ทำไม? มึงมีอะไรก็ว่ามา!" 

เพื่อนผมบอก "ตอนอยู่ในวัดมึงไม่ต้องพูดถึงท่านพุทธทาส ไม่ต้องพูดถึงธรรมะอะไรกับกูนะ!"

ผมชักต่อไป "ทำไมวะ?!?"

เพื่อนตอบกลับมาด้วยถ้อยคำที่แสนสะเทือนใจ บีบคั้นในอารมณ์ผมยิ่งนัก 

"มันเหมือนทำให้กูดูโง่วะ !"

ผมรู้สึกจั๊กกะจี้ทันทีในหัวใจ เหมือนที่เพื่อนพูดไปแทงใจดำผมเข้าอย่างจัง หลายครั้งหลายครา เวลาผมไปเดินเที่ยวด้วยกัน เห็นเขาเสียเวลานานๆที่แผงพระเครื่องทีไร แล้วนิสัยชอบแสดงภูมิอวดรู้ของผมก็ทำงาน ผมจะพูดธรรมะอย่างคนบ้านธรรมะ (แต่ไม่รู้ว่าทำมะ? หรือปฏิบัติธรรมอยู่จริงๆไหม) แขวะเขาบ้าง แซะเขาบ้าง เรื่องการมีธรรมะดีกว่าห้อยพระแบบไสยศาสตร์ทำเป็นสอนเพื่อนตรงนั้นอย่างทีเล่นทีจริง โดยไม่เคยได้สังเกต เฉลียวใจคิดเลยว่าไอ้ท่าทีแบบนั้นมันทำให้เพื่อนรู้สึกยังไง บางทีเราก็เจตนาดีนะครับไม่ได้แขวะเล่น แต่วิธีการและท่าทีที่เราแสดงออกมามันไปหักหน้า ไปกดทับความรู้สึกเขาเข้า เหมือนไม่ไว้หน้าเขา ดีที่เขาอาศัยความสนิทใจบอกออกกันมาตรงๆ ในวันดังกล่าว เราถึงได้เห็นความร้ายกาจของตัวเอง 

ภายหลังคุยกันต่อ ผมบอกเพื่อนว่า ผมไม่ได้คิดว่าเขาโง่นะ เขาเรียนหนังสือจบมาเหมือนกัน เรียนคณะสาขาที่ผมเรียนไม่ได้ แถมยังมีงานมีการทำดีกว่าผมเสียอีก

แต่ท่าทีที่ผมแสดงออกไปนั้นมันเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ และต่อไปผมจะระวังไม่ทำอีก ไม่ว่าจะกับเพื่อนคนนี้หรือใครก็ตาม ผมจะพยายามแสดงออกอย่างให้ความเคารพความเชื่อส่วนบุคคล ไม่เอาความเชื่อเราไปตัดสิน หรือกดทับ ข่มความเชื่อใครที่เห็นต่างไปจากเรา

การที่เพื่อนผมชอบพระเครื่องนั้นเขาบอกว่ามาจากรสนิยมส่วนตัว และความเชื่อส่วนบุคคลที่เติมเต็มกำลังใจให้กับเขา ในชีวิตที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ การมีของเหล่านั้นเป็นเหมือนกับการเพิ่มกำลังใจ เติมเต็มความมั่นใจในการใช้ชีวิต เพื่อนบอก เรื่องธรรมะเขาก็รู้ไม่ใช่ไม่รู้ ถึงแขวนพระแต่ก็ต้องมีศีลธรรมประจำใจกำกับอีกแรง ไอ้ลักษณะแบบนี้แหละครับที่เขาเรียกว่า 'กุศโลบาย' 

วันนี้ผมได้คุยกับอาจารย์สอนวิชาวัฒนธรรมศึกษาเกี่ยวกับหัวข้องานวิจัยของตัวเอง ที่จะศึกษาประเด็นชนชั้นทางสังคมกับการเลือกนับถือกลุ่มศาสนาในบ้านเรา งานของผมมองว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจและชนชั้นมีผลต่อการเลือกนับถือศาสนาของคน ผมมีข้อสันนิษฐานในใจว่ากลุ่มชนชั้นกลางที่พอมีเวลาว่างมีเงินเหลือๆ ก็จะนับถือศาสนาอีกแบบหนึ่ง ถ้าในบ้านเราก็อย่างพวกสำนักสวนโมกข์ ที่สอนธรรมะเป็นเหตุเป็นผลมุ่งแสวงหาความสงบด้านใน แต่ถ้าเป็นชนชั้นแรงงาน เป็นคนทำมาหากิน หาเช้ากินค่ำก็จะนับถือศาสนาอีกแบบอย่างที่มุ่งไปทางให้โชคลาภ มีพระเกจิมีอิทธิฤทธิ์บันดาลพร เมตตามหานิยม อะไรทำนองนี้

ผมมองว่าสถานภาพทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดความเชื่อ ตามอย่างแนวคิดของมาร์กที่มองว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดความคิดอุดมการณ์ ที่มาเติมเต็มส่วนที่เขาขาด ชีวิตคนทำงานหากินที่ไม่ค่อยมั่นคงในเมือง ฝากชีวิตไว้กับการค้าขายที่ไม่แน่ไม่นอน เศรษฐกิจที่ผันผวนขึ้นๆลงๆ จะมีอะไรดีไปกว่าการได้ค้าขายร่ำรวยถูกหวยเบอร์ใหญ่ ที่ทำให้เขามั่นคง ยกระดับฐานะชีวิตตน

อย่างที่บ้านผมทำธุรกิจค้าขายรายย่อย มีแผงข้าวเป็นของตัวเอง ไม่ได้เป็นข้าราชการ เบิกค่ารักษาตัว ค่าเทอมลูกได้ มีหลักประกันที่มั่นคง เกษียณอายุก็มีบำเน็จบำนาญกินอยู่สบายๆที่บ้านไม่ต้องทำงาน อาชีพแบบบ้านผมถึงไม่มั่นคงเหมือนข้าราชการแต่ก็พอเก็บเล็กผสมน้อยหมุนวันต่อวัน ส่งลูกเต้าเรียนหนังสือได้  อย่างแต่ก่อนผมเห็นพ่อแม่ เล่นหวยแล้วไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะมองว่าการแทงหวยเป็นเพียงแค่การพนัน ซึ่งจัดอยู่ในอบายมุข แต่พอได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ทุกวันนี้ผมเลยคิดได้ว่ามันไม่ใช่แค่อบายมุข แต่เป็นการแสวงหาหลักประกันทางการศึกษาให้กับผมกับน้องชาย ตลอดถึงความมั่นทางเศรษฐกิจ และโอกาสเลื่อนสถานภาพชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างอย่างมีความหวัง (ที่แม้ว่ายังริบหรี่) ...

เขียนบ่นมาเสียยืดยาวเพื่อที่จะอยากระบายว่า ประการแรกความเชื่อศาสนาเป็นเรื่องส่วนถ้าไม่ระะวัง ไม่เคารพกันเกิดกระทบกระทั่งคงแย่แน่ๆ ผมขอเขียนไว้เตือนสติตนเอง และแบ่งปันประสบการณ์นี้กับเพื่อนที่เข้ามาอ่าน

ประการต่อมาก็คือ ไอ้การที่เราเลือกเชื่ออะไรก็ตามนะครับ มันคงไม่ได้เป็นไปตามใจเราเลือกเสียทุกคน ถึงแม้ว่าเราจะเลือกเชื่อโดยสมัครใจ  มันอาจจะยังมีบางส่วน (ขอย้ำนะครับว่าบางส่วนจากอีกหลายๆส่วน) ที่เป็นเหตุปัจจัยจากสภาพเศรษฐกิจในสังคมด้วย อย่างเรื่องที่เกริ่นไปให้ฟังข้างต้น

สุดท้ายนี้ก็หวังว่าเรื่องที่เขียนเล่ามาจะไม่ทำให้ผู้อ่านต้องเสียเวลา และเป็นประโยชน์ไม่มากก็ไม่น้อยหากท่านใดไม่เห็นด้วยก็ช่วยชี้แนะเพิ่มเติมได้ หรือมีความเห็นอะไรอยากจะสื่อสารกับผู้เขียนก็เชิญได้ในช่องคอมเมนต์ด้านล่าง ขอบคุณล่วงหน้าครับ :) 


รูปภาพเจ้าหมา Courage ที่เป็นตัวการ์ตูนหมาขี้ขลาดซึ่งชอบโดนเจ้านายด่าว่า "เจ้าหมาโง่แกทำให้ฉันดูแย่!"
ที่มา https://img.buzzfeed.com/buzzfeed-static/static/2015-03/3/1/enhanced/webdr09/anigif_enhanced-12960-1425365638-6.gif (30/6/2560)



วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560

นิทานโปรด : ไอ้ลูกเต่ากับสาวใจบุญ

        มีนิทานเรื่องหนึ่งผมชอบมาก ผมจำไม่ได้ว่าฟังมาจากไหน? คับคล้ายคับคลาว่าอ่านมาจากเรื่องตลกที่เขาแชร์กันเล่นบนเฟซบุ๊ค หรือไม่ก็ในตลกคาเฟ่ที่เขาอัดวีดีโอลงเทปลงแผ่นแล้วเขามาโพสต์ในยูทูปอีกที ก็ไม่แน่ใจนัก !!! แต่เอาเป็นว่ามันทั้งสนุกสนานมีและมีสาระให้ครบทั้งความรู้และความบันเทิงตามมาตรฐานของนิทานที่ดีครับ

  เรื่องมันมีอยู่ทำนองว่า กาลครั้งหนึ่งไม่รู้นานมาแล้วขนาดไหน ... 
มีหญิงสาวใจบุญคนหนึ่งกำลังเดินทาง 
ในระหว่างทางนั้นเธอได้พบกับเต่าน้อยตัวหนึ่ง
คลานต้วมเตี้ยมอยู่กลางถนน 
ข้างๆทางนั้นมีสระน้ำอยู่ไม่ไกลนัก หญิงสาวเหลือบไปเห็นสระเข้า 
เธอก็คิดเข้าใจในทันใดว่าเจ้าเต่าน้อยตัวนั้น
คงกำลังเดินไปสระน้ำสระนั้นอย่างแน่นอน
ด้วยความเมตตาเธอรีบเข้าไปโอบอุ้มลูกเต่าตัวน้อยอย่างไม่รังเกียจ
เธอได้จับเอาเต่าไปปล่อยในสระ ผลบุญจากการช่วยเหลือสัตว์
ดลให้เธอรู้สึกอิ่มเอมใจไม่มีประมาณ


นิทานดูเหมือนจะจบแต่เพียงเท่านี้ แต่จริงยังไม่จบ !
เรื่องเขาเล่าต่อไปว่า ...

ฝ่ายเจ้าเต่าน้อยที่ได้รับการช่วยไว้ ได้ออกปากบ่นอุบอิบเป็นภาษาเต่า
ที่แปลออกมาเป็นภาษาคน ตามไสตล์บุคคลาฐิษฐาน (Personification)
ในนิทานว่า

"โถ่วเอ๊ย ! กูอุตส่าห์เดินตั้งครึ่งวัน พากูกลับมาที่เดินซะงั้น !!! *****"

นิทานจบแค่นั้นแบบขำๆไม่ได้ลงท้ายเหมือนนิทานอีสปที่มักจบด้วยการบอกว่า 
"นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ....." ผมเลยชอบมันชวนให้เราไปขบคิดกันเองว่านอกจากความฮาแล้ว
เราได้อะไรจากนิทานตลกเรื่องนี้ เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะคิด จะสะท้อนความเห็น
ตกตะกอนสาระที่ได้จากเรื่องเล่า ตามมุมมอง ตามความคิดของแต่ละคน

อย่างผมเองคิดว่า นิทานเรื่องนี้สอนผมว่าเจตนาดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสติปัญญาด้วยเวลาจะช่วยอะไรใคร และเราเองไม่ควรจะปล่อยให้ความดีงามมาครอบงำใจมากเกินไปนักจนบดบังสติปัญญาชนิดที่ว่าไม่เอาใจเขามาใส่เรา เวลาเราคิดช่วยเหลือใครขึ้นมาบางทีเรามักจะก็ทำไปในนามของความจริง ความดี ความงาม อุดมการณ์ที่เราสมาทานไว้ จนมันครอบงำเราอยู่ พอทำความดีช่วยคนออกไปก็เลยไม่คิดว่าจริงๆแล้วเขาอยากรับความช่วยเหลือเราจริงๆหรือเปล่า เรากำลังทำให้คนที่เราจะช่วยรู้สึกถูกเหยียดให้ด้อยไปหรือเปล่า อะไรทำนองนี้นะครับ 

เคยเจอหลายครั้งเวลาผมไม่เห็นด้วยกับเพื่อนร่วมงาน  มีความเห็นแย้งกัน  ก็จะมีเพื่อนที่คอยประสานความสัมพันธ์ทำหน้าที่คล้ายๆคนกลาง มาย้ำเตือนให้ฟังว่า เพื่อนๆพี่เขาทำไปเพราะ "เจตนาดี" ฟังแบบนี้แล้วผมก็ถอนใจนะครับ แต่ไม่พูดอะไรต่อ ผมทำได้แค่แอบคิดในใจเบาๆว่า "เจตนาดีอย่างเดียวมันไม่พออะ!"

ผู้อ่านละครับ คิดว่าท่านได้เรียนรู้อะไรจากนิทานเรื่องนี้ ? เมนต์ตอบข้างล่างได้ ถ้ามีอะไรอยากแย้งอยากเสริมอยากเพิ่ม ก็เชิญได้ตามสบายเลยครับ แม้แต่ด่าก็ได้นะครับแต่อย่าแรง

ปล. รูปเต่าหินแบกคัมภีร์ที่ยกมา นอกจากมีเต่าเหมือนในนิทานแล้ว ก็คงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เขียนมาเท่าไร แต่เพราะเป็นรูปปริศนาธรรมที่ผมชอบ เห็นครั้งแรกเขาเขียนไว้ที่สวนโมกข์ สอนคนรู้ธรรมะมากแต่ไม่ได้ประโยชน์จากความรู้เปรียบเหมือนเต่าหินตาบอดแบกคัมภีร์เอาไว้ แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเนื้อสาระในคัมภีร์ เห็นภาพนี้แล้วมันเตือนใจดี บางทีเผลอๆรู้มากเข้าเราก็เป็นเหมือนเต่านี้ได้ทุกเวลา

ตามไปดูรูปต้นฉบับและอ่านกลอนปริศนาธรรมประกอบภาพได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
http://www.rosenini.com/spiritualtheatre/07.htm



วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

น้ำนิ่งตลิ่งไหล : มองให้ดีมีแต่ได้ในค่ายสวนโมกข์ปี 60

(ระหว่างการเดินทางมักจะมีเรื่องให้เก็บมาเล่าเสมอๆ ... และนี่ก็เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าประทับใจจากค่ายตามรอยพุทธทาส ณ สวนโมกขพลาราม ของชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2560)

ตั้งแต่มหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปเปิดเทอมตามแบบอย่างเมืองนอก สนองนโยบายรัฐที่นำพาชาติเราเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปีการศึกษา 2558 การจัดกิจกรรมนักศึกษาของทางชมรมก็ได้รับผลกระทบโดยตรงกับการเปลี่ยนเวลาเปิดปิดเทอมเช่นนี้

จากแต่ก่อนตั้งแต่ตอนเราเข้ามาอยู่ครั้งแรก ปี 2555 ชมรมจะไปออกค่ายกันช่วงกลางปีการศึกษา หรือปิดเทอมเล็ก ช่วงประมาณเดือนตุลาคม แต่พอมหา'ลัยเปลี่ยนเวลาปิดเทอมก็ไม่สามารถจัดช่วงเดียวกันนี้ได้ เพราะยังเปิดเทอมอยู่ ส่วนเวลาปิดเทอมเล็กก็เคลื่อนไปอยู่ช่วงปีใหม่ ปลายเดือนธันวา ถึงต้นๆมกราคม

ทางคณะกรรมการชมรมในปีนั้น ประชุมหารือกันได้ข้อสรุปว่า ให้เลื่อนค่ายสวนโมกข์ที่จัดกลางปีออกไปช่วงปิดเทอมใหญ่ปลายเดือนพฤษภาคม ด้วยเหตุผลว่า การจัดค่ายช่วงปีใหม่อาจทำให้นักศึกษามาเข้าร่วมน้อย เพราะเป็นช่วงที่ใครๆก็อยากจะเดินทางกลับบ้านกันในช่วงวันหยุดยาว แม้กระทั่งพวกผู้จัดเองก็รู้สึกอย่างนั้น เราต่างก็อยากใช้เวลากับครอบครัวในช่วงเทศกาล และที่สำคัญค่ายนี้เป็นค่ายที่ทำให้ชมรมมีคนเข้ามาเป็นกรรมการชมรม ทำให้มีทีมทำงาน ทายาทอสูรสืบอายุองค์กรอีกด้วย คนมาน้อยละก็ไม่ดีแน่งานนี้ !!!

ค่ายสวนโมกข์ของชมรมพุทธฯ จึงได้มาจัดช่วงปลายเดือนพฤษภาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จากวันนั้นจนถึงวันนี้นี่ก็เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่ค่ายได้ย้ายเวลามา นับเป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้งานหลายอย่างในค่ายต้องเปลี่ยนไป ดังที่จะได้เจียระไนให้ฟังต่อไปนี้ ....

ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนั้นที่สวนโมกข์เองก็มีงานใหญ่ของทางวัดอยู่แล้ว ซึ่งก็คือ วันล้ออายุ หรือวันคล้ายวันเกิดของท่านพุทธทาสภิกขุผู้ก่อตั้งสำนักสวนโมกขพลาราม วัดธารน้ำไหล วันล้ออายุนี้เป็นวันที่ลูกศิษย์ลูกหาจากทั่วสารทิศที่มีความศรัทธาในตัวท่านพุทธทาสจะมาร่วมบำเพ็ญบุญปฏิบัติธรรม อดอาหารดูใจ ฟังธรรมบรรยายเทปเสียงท่านอาจารย์กันที่วัด จากชื่อเสียงและความแพร่หลายของผลงานท่านพุทธทาส ทำให้คนที่มาย่อมมีไม่น้อย ไม่เพียงเท่านั้นยังมีคณะอื่นที่เขาเกณฑ์คนมาร่วมอีก อย่างมหาวิทยาลัยท้องถิ่น และโรงเรียนแถวนั้น ที่ได้งบประมาณจากรัฐมาช่วยกันพาเด็กร่วมกิจกรรมกับทางวัด มีการเปิดฐานอบรม แนะนำท่านพุทธทาสที่เป็นคนสำคัญของท้องถิ่น จึงไม่ได้มีแค่ผู้ศรัทธาแต่ยังมีคณะนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปมากหน้าหลายตามาร่วมกันในช่วงวันล้ออายุนี้

แน่นอนว่าการจัดค่ายในช่วงวันล้ออายุ ที่มีคนเยอะแยะแบบนี้ ย่อมมีผลกระทบกับกิจกรรมของทางชมรม จากแต่ก่อนที่ทำงานกันแบบวางแผนเรียบร้อย แล้วคอยคุมงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ปรับเปลี่ยนอะไรกันก็เล็กน้อย กลายเป็นว่า การทำงานลักษณะนี้ใช้ไม่ได้แล้วครับ

ความที่ทางวัดมีกิจกรรมเอง วิทยากรในวัดก็มีไม่พอที่จะมาทำงานรับรองค่ายของเรา ทำให้สตาฟที่เป็น นศ.เองต้องก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในการนำทำกิจกรรมกันเองด้วยไหวพริบปฏิภาณ ทักษะยุทธ์ของตัวเอง และต้องวิ่งหาพระวิทยากรที่คิวแน่น คอยจัดตารางเวลาใหม่ แผนการที่วางไว้ล่วงหน้ามานี้แทบจะวางทิ้งไว้ได้เลย คนทำงานต้องคอยประชุมวางกิจกรรมกันใหม่แทบจะวันต่อวันเสมอ

ผมเองที่เคยมีประสบการณ์เคยร่วมทำค่ายมาในช่วงก่อนเปลี่ยนผ่านก็เห็นว่า พอย้ายมาจัดช่วงวัดมีงานใหญ่แบบนี้แล้ว ทำให้ทีมงานต้องทำงานหนักกันกว่าแต่ก่อน ช่วง 2 ปีหลังที่ผ่านมาโชคดีหน่อยได้พระอาจารย์จากสวนโมกข์ที่รู้จักกันเมตตา มาอนุเคราะห์นำค่ายเป็นหลักให้เลยเหนื่อยน้อยลงหน่อย

ผมเองเคยแอบได้ยินพระอาจารย์รูปดังกล่าวออกปากบอกกับน้องผู้จัดค่ายทำนองว่า "ถ้ามาช่วงล้ออายุนี้ละก็ ... คุณทำใจไว้เลยนะ ตารางของคุณมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน" ถึงพระอาจารย์จะไม่ใช่เหมือนพ่อท่านคล้ายแต่คำพูดของท่านก็เป็นไปตามนั้นคล้ายดังมีวาจาสิทธิ์

ทั้งความที่ผู้คนเยอะ มีงานกิจกรรมแยะ มีเวลากับสภาพอากาศหน้าฝนที่แปรปวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้กิจกรรมที่วางมาต้องวางไว้ดังอาจารย์ว่า สตาฟต้องทำงานกันหนักคอยประชุมงานหารือกันวันต่อวัน ไปจนถึงขั้นไม่เว้นช่วงพักเบรกระหว่างกิจกรรม

ในความวุ่นว่าย และดูน่าเหนื่อยหน่ายแบบนี้จริงๆแล้วมันก็มีความท้าทาย และข้อดีในข้อเสียอยู่ด้วย อย่างที่เราสัมผัสได้ก็คือ กิจกรรมได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้มีความคิดสร้างสรรค์ หยืดหยุ่นเหมาะสมกับผู้รับ

จากแต่ก่อนที่เน้นการฟังเทศน์ฟังธรรมที่เน้นการฟังแต่ฝ่ายเดียว โดยอาศัยพระอาจารย์จากสวนโมกข์เป็นคนนำ ทีนี้มาช่วงล้ออายุพระท่านไม่ว่างมานำ เพราะต้องไปนำคณะอื่นๆด้วย พวกเราเองก็ต้องหาเกมนันทนาการ หรือกิจกรรมแนวจิตตปัญญาศึกษา(Contemplative Education)ที่สามารถถอดบทเรียนมีสาระมาเล่นกันเอง ที่นำมาใช้มากที่สุดก็คือ การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) และ สุนทรียสนทนา (Dialogue) ที่ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชนิดที่ใจถึงใจสอดแทรกการมีสติเหมือนกับการเจริญภาวนาในวิถีพุทธ ปีแรกที่นำกิจกรรมพวกนี้เข้าไปก็มีเสียงบ่นจากเพื่อนสะท้อนกลับมาว่า "ทำไมให้คุยกันเยอะจัง" คงเพราะเราต่างก็คุ้ยชินกับการเรียนรู้แบบสื่อสารทางเดียว ไปวัดก็ฟังพระท่านเทศน์อย่างเดียว ไม่เคยได้ลองนั่งคุยแลกเปลี่ยนกับท่านแบบคนธรรมดาด้วยกัน แต่พอได้ลองผิดลองถูกทำกันดูก็เห็นผลตอบรับที่ดีมากขึ้น จนปีถัดมาวงสนทนาแบบนี้ก็ได้กลายเป็นกิจกรรมหลักๆของค่ายในปีล่าสุด

เกมแฟนพันธุ์แท้ค่ายสวยโมกข์ ที่คิดปัญหาถามตอบขึ้นมาเพื่อความสนุกสนานกระชับสัมพันธ์ โดยมีนักศึกษาผู้จัดขึ้นมานำทำกิจกรรมกันแบบกันเองๆ
มีกิจกรรมที่เรียนรู้โดยเน้นไปที่บทบาทของผู้เรียน และการทำงานเป็นกลุ่มร่วมกันมากขึ้นในหมู่ นศ.ทั้งกลุ่มของสตาฟและผู้เข้าร่วม ช่วยให้ได้กระชับสัมพันธ์ไปพร้อมๆกันด้วย กิจกรรมแบบนี้เองที่ช่วยให้เราคิดต่างกันได้แต่ยังมีการดูแลความรู้สึกของกันและกันเวลาแสดงความเห็นต่างออกไป ก็สามารถพูดออกมาได้ไม่ต้องเกรงใจ เพราะเราต่างได้เผยใจกันแล้ว ไม่มีการติดใจกันภายหลังเมื่อมีข้อโต้แย้งในการทำงานของสตาฟ

บรรยากาศการนั่งพูดคุยล้อมวงด้วยกระบวนการสานเสวนา หรือสุนทรียสนทนา (Dialogue) ที่ใช้เป็นกระบวนการถอดบทเรียนและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวค่าย

ผมเห็นความคิดสร้างสรรค์ของเพื่อนๆรุ่นพี่รุ่นน้องที่ร่วมงานผ่านมามีกันมากมาย บางเรื่องเราคิดแทบไม่ได้ แต่พอได้หลายหัว หลายคนมาช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ ความสร้างสรรค์ก็ปรากฏให้เห็น อย่าบางเรื่องมันล้ำจริงๆครับ เราคิดแค่ว่าพี่สตาฟในฐานะผู้จัด ต้องเป็นคนหากิจกรรม หาบทเรียนมาให้น้อง นศ.ที่เป็นผู้เข้าร่วม แต่ในปีนี้มีเพื่อนคิดว่าควรมีกิจกรรมให้น้องๆได้ขึ้นมาสอนบทเรียนกับพี่ๆบ้าง พอได้ลองดูก็เห็นว่ามันน่าประทับใจจริงๆ น้องๆมีความคิดที่ดีไม่แพ้พี่ๆ ชวนให้นึกถึงพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าดูแคลนไฟว่ากองเล็ก อย่าดูถูกสติปัญญาของเด็กๆ อย่าปรามาสพระบวชใหม่ ฯลฯ

(ในค่ายปีก่อนที่จะเปลี่ยนเวลาจัด ก็เคยมีประเด็นเห็นต่างของคณะทำงานในเรื่องทำนองนี้ด้วย เพราะมีการเอาน้อง นศ.ปี1 มาร่วมทีมงานสตาฟ แต่มีรุ่นพี่เห็นว่าน้องเขาโตเร็วเกินไป เขาควรจะได้สัมผัสความรู้สึกของการเป็นผู้รับก่อน ไม่ควรข้ามขั้นมาเป็นผู้จัดเลย ... ผมว่าถ้าเอากิจกรรมน้องสอนพี่ของปีนี้ไปใช้ คงช่วยแปรเปลี่ยนประเด็นขัดแย้งนี้ได้อย่างสร้างสรรค์ไม่น้อย)

ต่างคนต่างที่มาต่างคณะมาร่วมงานกันก็มีความรู้มีสกิลที่หลากหลาย มีตั้งแต่สายวิทย์ยันสายศิลป์ ต่างคนต่างก็นำเอาความรู้ความสามารถของตัวเองมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำกิจกรรมค่าย เพื่อนพุทธคณะแพทย์แผนไทยนำเอาวิชาฤๅษีดัดตนมาแนะนำวิธีดูแลสุขภาพให้กับเพื่อนๆ มีน้องค่ายเล่นซนโดนแมลงกัดต่อยเพื่อนคณะพยาบาลก็คอยดูแล เพื่อนพุทธจากคณะศิลปกรรมทางการแพทย์ก็คอยเก็บภาพบรรยากาศสวยๆ คอยทำงานประชาสัมพันธ์ออกแบบเสื้อยืด เพื่อนพุทธจากวิทยาลัยศาสนศึกษาก็คอยช่วยแบ่งปันความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธอย่างเป็นวิชาการ เป็นต้น

เพื่อนจากคณะแพทย์แผนไทยประยุกต์ ศิริราชพยาบาล กำลังสาธิตกายบริหารแบบฤๅษีดัดตน

นอกจากความสร้างสรรค์ แล้วความหยืดหยุ่นก็เป็นข้อดีอีกอย่างในค่ายที่สัมผัสได้ การประชุมกันวันต่อวัน กิจกรรมต่อกิจกรรมทำให้เราได้ประเมิณสถานการณ์หน้างาน ไปจนถึงสังเกตสังการณ์อาการของน้องๆผู้เข้าร่วมกิจกรรม ดูว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง ฟังแล้วเบื่อกันไหม ดูง่วงขนาดไหน แล้วผู้จัดก็เอาสิ่งที่สังเกตได้มาปรับใช้ในการคิดกิจกรรมต่อๆไป ช่วยให้ผู้เรียนรู้มีสภาพที่พร้อมเต็มที่กับแต่ละกิจกรรม ตลอดถึงมีเวลาว่างมากขึ้นให้คนในค่ายได้ทำความรู้จักกันและสัมผัสบรรยากาศรอบๆวัดอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งให้คนละอารมณ์กับมีคนคอยนำชม

พี่โจ้ ผู้จัดการประสานงานโครงการจิตอาสาของสวนโมกข์กรุงเทพฯ กำลังพูดคุยกับน้อง นศ.

ข้อดีอีกประการที่ได้รับในการมาช่วงวันล้ออายุคือ ทำให้พวกเราได้เห็นความสำคัญของท่านพุทธทาสมากขึ้น เราได้เห็นว่าผลงานของท่านมีอิทธิพลต่อผู้คนและสังคมขนาดไหนพอให้เรามาใช้สวนโมกข์ทำกิจกรรมเช่นนี้ ในช่วงงานวันล้ออายุนี้เองยังเป็นช่วงที่มีคณะธรรมภาคีจากภายนอกมาทำกิจกรรมภายในด้วย ปีนี้น้องประธานค่ายแกมีความคิดดี แกไปเชิญพี่ๆที่เป็นฆราวาส คนรุ่นใหม่ทำงานจิตอาสาที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับน้องๆ นศ.ของคณะเรา ทำให้เราเห็นว่าธรรมะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของคนธรรมดาได้อย่างไร และเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ นศ.ในการนำเอาธรรมะไปใช้กับชีวิตตนรวมถึงทำประโยชน์ให้สังคม

คณะลูกศิษย์สวนโมกข์ และนักวิชาการชาวต่างชาติที่มาเสวนาถ่ายรูปร่วมกับพระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร) รักษาการเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม)

ที่พิเศษสุดๆก็คือ ปีนี้ทางหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ หรือคณะสวนโมกข์กรุงเทพฯ ได้มาจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ เนื่องในโอกาส ๑๑๑ ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ เช่น การเสวนาพุทธธรรมกับสังคม ที่นำเอานักวิชาการ และลูกศิษย์ลูกหาสวนโมกข์ที่เป็นชาวต่างชาติ ที่ได้รับอิทธิพลจากงานของท่านพุทธทาส มาพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์การณ์ ทำให้เราได้เห็นว่าท่านพุทธทาสมีอิทธิพลในระดับสากลและคุณปการต่อพุทธศาสนาขนาดไหน และที่ชาวค่ายเราประทับใจสุดๆก็คือกิจกรรม 'ถึงธรรมเมื่อฮัมเพลง' ที่เขาแต่งเพลงธรรมะมาร้องแสดงสดกันที่ลานหินโค้ง เป็นการต่อยอด สืบสานความคิดของท่านพุทธทาส ที่อยากจะให้ธรรมะเผยแพร่ออกไปในสังคมปัจจุบันอย่างสมสมัย ทำให้คณะของเราได้ร่วมกิจกรรมแสนพิเศษนี้ไปด้วย ถ้าหากไม่มาช่วงนี้ก็คงไม่ได้พบอะไรแบบนี้ มีเพื่อนหลายคนประทับใจกลับจากค่ายไปยังหามาฟังกันต่อกดไลค์กดแชร์จากยูทูปกันให้เห็นบนเฟซบุ๊ค


(เพลงในวีดีโอข้างบนนี้ชื่อ  'เผลอ'  เป็นหนึ่งในเพลงธรรมะที่คณะเราฟังกันบนลานหินโค้งจนติดหูติดใจ นำเอาไปร้องไปบอกต่อกัน เพลงนี้เขาเอาเรื่องการเจริญสติรู้ทัน เวทนา และผัสสะมาเขียน ผสมกับเพลงรำวงที่ติดหูอย่างเพลง ตามองตา...)


การที่เวลาเปลี่ยน ปัจจัยอะไรต่างๆเปลี่ยน ทำให้รูปแบบการทำงานค่ายต้องเปลี่ยนไปตามแบบนี้ ส่งผลกระทบให้สตาฟผู้จัดต้องทำงานหนักกันมากขึ้นเหนื่อยกันมากขึ้น ปีนี้เราเห็นน้องๆสตาฟทำงานด้วยความตั้งใจมาก ทุกๆคืนพวกเขาต้องหลับทีหลังน้องที่เป็นผู้เข้าร่วม เพื่อประชุมงานกัน ความเหนื่อยล้าส่งผ่านมาทางสีหน้าแววตา ตอนเช้ามืดเวลาสวดมนต์ทำวัตรก็มีบางคนที่ลุกแทบไม่รอด แต่งานที่ออกมาของพวกเขานั้นผมเห็นว่าช่างเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ และความประทับใจชนิดที่ค่ายจบอารมณ์ไม่จบ

พวกเรากลับมาจากค่ายกันแล้วแต่ต่างก็ยังนึกถึงช่วงเวลานั้นๆ โพสต์รูปเล่น เขียนสถานะถ่ายทอดเรื่องราวบนเฟซบุ๊ค หรือบนบล็อกอย่างที่ผมเขียนอยู่ บางคนก็ตั้งหน้าตั้งตารอช่วงเวลาในปีถัดไปที่จะได้มาพบกับเพื่อนๆใหม่ และได้ทำอะไรแบบนี้ร่วมกันอีก มิตรภาพได้ถูกสร้างขึ้นไปพร้อมกับการเรียนรู้ธรรมะเรียนรู้ธรรมชาติของชีวิต แม้ว่าการมาออกค่ายแบบนี้มันจะเหนื่อย แถมบางคนยังเสียเวลาเรียน แต่ผมคิดว่าพวกเขาก็ได้อะไรไม่น้อย จากการมาในลักษณะเช่นนี้ เหมือนที่ท่านพุทธทาสสอนว่า "มองให้ดี มีแต่ได้ไม่มีเสีย ..."






ขอขอบคุณเพื่อนๆ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ครูบาอาจารย์ทุกท่านที่มาร่วมงานค่ายด้วยกันตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ...

หวังว่างานเขียนชิ้นนี้นอกจากจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวความประทับใจแล้ว ยังอาจจะมีประโยชน์กับคนอื่นๆ ในฐานะที่ได้แบ่งปันประสบการณ์ ข้อคิดเห็นที่ได้จากการทำงานให้กับเพื่อนๆด้วยเช่นกัน

ขอบพระทุกท่านคุณที่เข้ามาอ่านครับ มีประเด็นน่าสนใจอะไร ก็เชิญแลกเปลี่ยนวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่ชอบใจก็ด่าได้ (แต่อย่างแรง) เชิญในช่องคอมเมนต์ด้านล่างครับ :)



วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

น้ำนิ่งตลิ่งไหล : คนเปลี่ยนไปแต่ใจดวงเดิม

(หนึ่งในเรื่องเล่าจากค่าย ตามรอยพุทธทาส ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี  พ.ศ. 2560)

ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) มีกิจกรรมที่มีความเป็นมายาวนานสานต่อกันรุ่นต่อรุ่นมาแล้วหลายปีอย่างการออกค่ายที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม ผมไม่ทราบปีที่แน่นอนว่าค่ายนี้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร? (หากมีโอกาสผมอยากทำพงศาวลี หรือกาลานุกรมชมรมไล่เก็บข้อมูลประวัติศาสตร์เหล่านั้นไว้จริงๆครับ แต่ยังไม่มีเวลาเสียที) แม่ครัวที่สวนโมกข์เองเล่าให้ฟังว่า

"ป้าทำกับข้าวให้พวกชมรมพุทธกินมาเป็นสิบๆปีแล้ว พวกนี้เขามากันทุกปี

ผมเข้ามาเรียนที่มหา'ลัย ปีแรกและร่วมกิจกรรมชมรมฯ เมื่อปี 2555 ปีนี้ 2560 มีโอกาสได้ร่วมค่ายสวนโมกข์นี้มาแล้ว 5 ปี 5 ค่าย เห็นอะไรๆเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควรตามเวลายุคสมัยที่ผ่านไป
พระอาจารย์มานพ (ในปัจจุบัน) นำทางคณะเพื่อนพุทธ หรือชาวค่ายชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขณะลงจากเขานางเอ

ปีนี้พระจากสวนโมกข์ที่มาร่วมนำกิจกรรมในค่ายเรา คือ พระอาจารย์มานพ มานิโต ผมเห็นรูปของท่านในอัลบั้มภาพถ่ายของชมรม อายุประมาณสิบกว่าปีมาแล้ว ในรูปอาจารย์ยังเป็นพระหนุ่ม

ภาพถ่ายพระอาจารย์มานพ มานิโต สมัยเป็นพระหนุ่มจากอัลบั้มค่ายสวนโมกข์ ปี พ.ศ. 254x ที่เก็บรักษาไว้ที่ห้องชมรมพุทธฯ

ช่วงเวลาหนึ่งในค่ายขณะนั่งรถเดินทางด้วยกัน ผมพลันนึกถึงเรื่องรูปถ่ายพระอาจารย์ตอนหนุ่มขึ้นมาได้ ก็เลยถามพระอาจารย์ว่า ชมรมพุทธสมัยก่อนตอนที่อาจารย์เจอ เป็นไงบ้าง? ท่านบอกว่า

 "คนละแบบกับพวกคุณเลย!

อาจารย์ยังบอกอีกว่า สมัยก่อนนักศึกษาชมรมพุทธฯเรียบร้อยมาก แม้พระอาจารย์ที่เป็นพระหนุ่มในตอนนั้นยังสัมผัสได้ว่าพวกเขาไม่ธรรมดา !

เท่าที่ผมเข้าใจ ผมคิดว่าอาจารย์พยายามจะบอกว่า พี่ๆชมรมของผมรุ่นก่อน พวกเขารู้เรื่องธรรมะดี และรู้จักธรรมเนียมปฏิบัติมารยาทชาวพุทธแบบจารีตนิยมผิดกับพวกคณะที่มาในปีนี้

เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากคำที่ใช้เรียกพระก็ยังผิดๆถูกๆ  มีพวกเราเผลอไปออกปากเรียกพระสวนโมกข์ว่า พระเจ้าถิ่น แถมใช้คำกราบนมัสการ กราบนิมนต์ กราบอาราธนาผิดๆถูกๆ !?! จนพระอาจารย์ต้องตักเตือนออกไมค์แบบขำๆแซวกันทีเล่นทีจริง ทำเอาน้องคนพูดคงจำฝังใจไปอีกนานนนนน แสนนานนนนน


ในคืนสุดท้ายของค่ายทุกๆปี จะเป็นกิจกรรมล้อมวงคุยเปิดใจกัน ปีนี้มีพี่ที่มาด้วยกัน แกเผยความรู้สึกออกมาว่า เขาเห็นค่ายนี้ไม่เหมือนค่ายธรรมะอื่นๆที่เขาเคยไป เขาแปลกใจมากกับการที่เห็นผู้คนที่มีความหลากหลาย มาอยู่ในค่ายธรรมะแบบนี้ มีทั้งน้องนักศึกษาใสๆทั่วไป พระภิกษุสงฆ์นักปฏิบัติ นักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษาชาวต่างชาติ ศิลปิน นักร้องแร็พเพอร์ฯลฯ (ปีนี้ยังพิเศษหน่อยตรงที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม กับพระอาจารย์นักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกมาร่วมด้วย) แต่ละคนมีคาแรคเตอร์เป็นตัวของตัวเองสุดๆ  ดูมีความคิดเล่นเห็นต่างกันไม่น้อย พี่เขายังบอกว่าบางคนนี้พอว่างคิดจะรำมวยจีนก็ลุกขึ้นมารำไม่เกรงสายตาใคร (คนที่พี่เขาว่าคือผมเองแหละ ขอสารภาพ พอดีช่วงนี้กำลังหัดเพลงมวยไทเก็ก พอว่างละมันอดซ้อมมือไม่ได้)

มันเกิดอะไรขึ้นจากแต่ก่อน ทำไมคนถึงเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ??? 

ผมตอบไม่ได้โดยทันทีในบทความนี้ แต่ผมคิดเอาแบบตีคลุมว่าคงมีปัจจัยอะไรหลายๆอย่างที่ผันแปรไปตามกาลเวลาทำให้สังคมเปิดกว้างมีความหลากหลาย มีพลวัต (dynamic) มากขึ้น แม้แต่ชมรมฯเองก็โดนกระแสแห่งความผันแปรอันเป็นอนิจจลักษณะนี้เข้าซัดใส่

ท่านพุทธทาสสอนว่า "มองให้ดีมีแต่ได้ไม่มีเสีย" ผมก็อยากจะเขียนบอกเล่าให้เรามองความเปลี่ยนแปลงของชมรมนี้ไปในทางที่สร้างสรรค์นะครับ การที่คนหลากหลายรูปแบบได้เข้ามาเรียนรู้ในค่ายธรรมะแบบนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ธรรมะได้แผ่กว้างออกไปในผู้คนมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่คนธัมมะธัมโม ที่มีจริตนิสัยหรือศรัทธาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

พี่ชมรมบางท่านได้อ่านบทความนี้อาจรู้สึกเสียดายนะครับ ที่คนเข้ามาชมรมแลดูมีเลเวลชาวพุทธลดลงกว่าแต่ก่อน ... แต่ถ้ามองให้ดีนี่เป็นโอกาสให้เขาได้เข้ามาเรียนรู้ครับ ค่ายปีนี้โชคดีที่ผู้จัดได้ติดต่อพระอาจารย์ที่มีความเข้าใจ เข้าถึงคนรุ่นใหม่ และมีเทคนิควิธีการในการถ่ายทอดความรู้

ขณะที่น้องออกปากเรียกพระว่าเจ้าถิ่น นั้นพระอาจารย์ท่านก็มองอย่างขำๆกันนะครับ พระอาจารย์ท่านบอกน้องว่าคำนี้ที่วัดใช้เรียกสุนัขที่หวงเขตแดน ผมคุยกับท่านภายหลัง จึงรู้ว่าท่านเองก็เข้าใจธรรมชาติที่ห่างเหินจากวัฒนธรรมชาววัดของน้องๆ ท่านเมตตาตักเตือนให้จำโดยอาศัยการพูดด้วยอารมณ์ขันไม่ทำให้เขาเป็นปมเจ็บใจ ผูกใจกลัว จนขาดความมั่นใจในตัวเอง เวลาไปมีปฏิสัมพันธ์กับพระในโอกาสต่อไป แถมด้วยความที่โดนเทศน์ขำๆแบบนี้ยิ่งช่วยให้เขาจำบทเรียนนี้ได้ดีมากขึ้นอีกด้วย

ศาสนามีรูปแบบประเพณีพิธีกรรม จรรยามารยาท เป็นตัวรักษาแก่นแท้คือคำสอนที่ทำให้รู้จักตัวเอง และเห็นความไม่มีตัวตนจนคลายความยึดมั่น ไม่ใช่ว่าเปลือกนอกไม่สำคัญ แต่ผมมีมุมมองส่วนตัวว่า พอเวลาผ่านไปตัวรูปแบบภายนอกอาจจะต้องปรับไปตามบริบทของช่วงเวลาเพื่อรักษาตัวแก่นแท้ แต่ตัวแก่นแท้นี้เองครับที่ไม่น่าจะเปลี่ยนอย่างที่พระท่านเทศน์ว่าธรรมะนี้เป็น "อกาลิโก" แปลว่าเป็นของไม่จำกัดกาล หรือขึ้นกับเวลายุคสมัยใด ธรรมะเป็นเรื่องความจริงธรรมชาติของมนุษย์ แม้แต่คนไม่นับถือศาสนา เขาก็สามารถเรียนรู้ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตได้ สามารถเป็นคนไม่เห็นแก่ตัวได้ คนนับถือศาสนาอย่างยึดมั่นเสียอีก ที่อาจจะมีความลำพองใจคับแค้นใจมากกว่าคนธรรมดาทั่วไปถ้าหากไม่ได้ฝึกปฏิบัติเฝ้าระวังใจตนเอง ใช่ไหมครับ ? ....

น้องๆชมรมที่เข้ามารุ่นใหม่ๆ อาจจะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น เฮฮาสนุกสนานมากขึ้น รู้ธรรมะรู้จักศาสนาพุทธน้อยลง แต่ผมเชื่อว่าเขามีศักยภาพ มีความพร้อมที่จะทำความรู้จักธรรมชาติของตนเอง และก็มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้นำเอาแก่นของธรรมะไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับชีวิตและสังคม

ถึงแม้คนที่มารุ่นหลังๆจะมีคาแรคเตอร์เปลี่ยนไปแต่ผมเข้าใจว่าจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ และตัวธรรมะที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่พวกเขามาเรียนรู้นี้ยังคงเหมือนเดิมครับ

ในค่ายปีนี้ยังมีเรื่องราวความสนุกสนาน ความประทับใจ ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ไว้โอกาสหน้าจะมาเล่าให้ฟังอีกนะครับ


ปล.ขอขอบคุณน้องเมย์ที่เอื้อเฟื้อถ่ายภาพบันทึกความทรงจำ ให้เราก็อปมาวางในบล็อก

และ ผมหวังว่างานเขียนลักษณะนี้นอกจากจะช่วยให้เราได้บอกเล่าเรื่องราวความประทับใจแล้ว ยังอาจจะมีประโยชน์กับคนอื่นในฐานะที่เป็นการบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์ ข้อคิดเห็นที่ได้จากการทำงานให้กับเพื่อนๆด้วย

ขอบพระทุกท่านคุณที่เข้ามาอ่านครับ มีประเด็นน่าสนใจอะไร ก็เชิญแลกเปลี่ยนวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่ชอบใจก็ด่าได้ (แต่อย่างแรง) เชิญในช่องคอมเมนต์ด้านล่างครับ :)