โดยส่วนตัวแล้วผมเป็นคนชอบศาสนาพุทธส่วนที่เข้าได้กับคนสมัยใหม่ ชอบการอธิบายธรรมะแนววิทยาศาสตร์ ไม่เป็นไสยศาสตร์ มุ่งไปที่เรื่องการหาความสงบทางจิตใต ความคิดความเชื่อทางศาสนาของผมได้รับอิทธิพลจากงานของท่านพุทธทาส ป.อ.ปยุตฺโต องค์ดาไลลามะ ท่านติซ นัท ฮันห์ ฯลฯ อะไรแนวๆนี้แหละครับ ผมชอบอ่านหนังสือของพระดังเหล่านี้ จนชีวิตที่มีทั้งดีทั้งเลวอันเป็นธรรมดาของมนุษย์ของผมนั้นจะมีส่วนที่ดีๆอยู่บ้าง ก็ยกประโยชน์ให้พวกท่านละครับ
ไม่นานมานี้ มีเรื่องชวนให้คิดเกิดขึ้น เรื่องมีอยู่ว่า ผมพาเพื่อนซี้ที่อยู่ต่างจังหวัดนานๆมาพบกันทีไปเที่ยวไปเช่าพระ ก่อนที่จะเข้าวัดเขาออกปากกับผมว่า
"กูขอไรมึงอย่างได้ไหม?"
ผมสงสัยจะมาขออะไรกันตอนนั้น อดคิดไม่ได้ว่ามันคงมีเงินไม่พอ จะยืมตังค์เราเช่าพระแน่เลย
ผมก็ยังไม่รับในทีแต่ถามต่อไปว่า "ทำไม? มึงมีอะไรก็ว่ามา!"
เพื่อนผมบอก "ตอนอยู่ในวัดมึงไม่ต้องพูดถึงท่านพุทธทาส ไม่ต้องพูดถึงธรรมะอะไรกับกูนะ!"
ผมชักต่อไป "ทำไมวะ?!?"
เพื่อนตอบกลับมาด้วยถ้อยคำที่แสนสะเทือนใจ บีบคั้นในอารมณ์ผมยิ่งนัก
"มันเหมือนทำให้กูดูโง่วะ !"
ผมรู้สึกจั๊กกะจี้ทันทีในหัวใจ เหมือนที่เพื่อนพูดไปแทงใจดำผมเข้าอย่างจัง หลายครั้งหลายครา เวลาผมไปเดินเที่ยวด้วยกัน เห็นเขาเสียเวลานานๆที่แผงพระเครื่องทีไร แล้วนิสัยชอบแสดงภูมิอวดรู้ของผมก็ทำงาน ผมจะพูดธรรมะอย่างคนบ้านธรรมะ (แต่ไม่รู้ว่าทำมะ? หรือปฏิบัติธรรมอยู่จริงๆไหม) แขวะเขาบ้าง แซะเขาบ้าง เรื่องการมีธรรมะดีกว่าห้อยพระแบบไสยศาสตร์ทำเป็นสอนเพื่อนตรงนั้นอย่างทีเล่นทีจริง โดยไม่เคยได้สังเกต เฉลียวใจคิดเลยว่าไอ้ท่าทีแบบนั้นมันทำให้เพื่อนรู้สึกยังไง บางทีเราก็เจตนาดีนะครับไม่ได้แขวะเล่น แต่วิธีการและท่าทีที่เราแสดงออกมามันไปหักหน้า ไปกดทับความรู้สึกเขาเข้า เหมือนไม่ไว้หน้าเขา ดีที่เขาอาศัยความสนิทใจบอกออกกันมาตรงๆ ในวันดังกล่าว เราถึงได้เห็นความร้ายกาจของตัวเอง
ภายหลังคุยกันต่อ ผมบอกเพื่อนว่า ผมไม่ได้คิดว่าเขาโง่นะ เขาเรียนหนังสือจบมาเหมือนกัน เรียนคณะสาขาที่ผมเรียนไม่ได้ แถมยังมีงานมีการทำดีกว่าผมเสียอีก
แต่ท่าทีที่ผมแสดงออกไปนั้นมันเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ และต่อไปผมจะระวังไม่ทำอีก ไม่ว่าจะกับเพื่อนคนนี้หรือใครก็ตาม ผมจะพยายามแสดงออกอย่างให้ความเคารพความเชื่อส่วนบุคคล ไม่เอาความเชื่อเราไปตัดสิน หรือกดทับ ข่มความเชื่อใครที่เห็นต่างไปจากเรา
การที่เพื่อนผมชอบพระเครื่องนั้นเขาบอกว่ามาจากรสนิยมส่วนตัว และความเชื่อส่วนบุคคลที่เติมเต็มกำลังใจให้กับเขา ในชีวิตที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ การมีของเหล่านั้นเป็นเหมือนกับการเพิ่มกำลังใจ เติมเต็มความมั่นใจในการใช้ชีวิต เพื่อนบอก เรื่องธรรมะเขาก็รู้ไม่ใช่ไม่รู้ ถึงแขวนพระแต่ก็ต้องมีศีลธรรมประจำใจกำกับอีกแรง ไอ้ลักษณะแบบนี้แหละครับที่เขาเรียกว่า 'กุศโลบาย'
วันนี้ผมได้คุยกับอาจารย์สอนวิชาวัฒนธรรมศึกษาเกี่ยวกับหัวข้องานวิจัยของตัวเอง ที่จะศึกษาประเด็นชนชั้นทางสังคมกับการเลือกนับถือกลุ่มศาสนาในบ้านเรา งานของผมมองว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจและชนชั้นมีผลต่อการเลือกนับถือศาสนาของคน ผมมีข้อสันนิษฐานในใจว่ากลุ่มชนชั้นกลางที่พอมีเวลาว่างมีเงินเหลือๆ ก็จะนับถือศาสนาอีกแบบหนึ่ง ถ้าในบ้านเราก็อย่างพวกสำนักสวนโมกข์ ที่สอนธรรมะเป็นเหตุเป็นผลมุ่งแสวงหาความสงบด้านใน แต่ถ้าเป็นชนชั้นแรงงาน เป็นคนทำมาหากิน หาเช้ากินค่ำก็จะนับถือศาสนาอีกแบบอย่างที่มุ่งไปทางให้โชคลาภ มีพระเกจิมีอิทธิฤทธิ์บันดาลพร เมตตามหานิยม อะไรทำนองนี้
ผมมองว่าสถานภาพทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดความเชื่อ ตามอย่างแนวคิดของมาร์กที่มองว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดความคิดอุดมการณ์ ที่มาเติมเต็มส่วนที่เขาขาด ชีวิตคนทำงานหากินที่ไม่ค่อยมั่นคงในเมือง ฝากชีวิตไว้กับการค้าขายที่ไม่แน่ไม่นอน เศรษฐกิจที่ผันผวนขึ้นๆลงๆ จะมีอะไรดีไปกว่าการได้ค้าขายร่ำรวยถูกหวยเบอร์ใหญ่ ที่ทำให้เขามั่นคง ยกระดับฐานะชีวิตตน
อย่างที่บ้านผมทำธุรกิจค้าขายรายย่อย มีแผงข้าวเป็นของตัวเอง ไม่ได้เป็นข้าราชการ เบิกค่ารักษาตัว ค่าเทอมลูกได้ มีหลักประกันที่มั่นคง เกษียณอายุก็มีบำเน็จบำนาญกินอยู่สบายๆที่บ้านไม่ต้องทำงาน อาชีพแบบบ้านผมถึงไม่มั่นคงเหมือนข้าราชการแต่ก็พอเก็บเล็กผสมน้อยหมุนวันต่อวัน ส่งลูกเต้าเรียนหนังสือได้ อย่างแต่ก่อนผมเห็นพ่อแม่ เล่นหวยแล้วไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะมองว่าการแทงหวยเป็นเพียงแค่การพนัน ซึ่งจัดอยู่ในอบายมุข แต่พอได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ทุกวันนี้ผมเลยคิดได้ว่ามันไม่ใช่แค่อบายมุข แต่เป็นการแสวงหาหลักประกันทางการศึกษาให้กับผมกับน้องชาย ตลอดถึงความมั่นทางเศรษฐกิจ และโอกาสเลื่อนสถานภาพชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างอย่างมีความหวัง (ที่แม้ว่ายังริบหรี่) ...
เขียนบ่นมาเสียยืดยาวเพื่อที่จะอยากระบายว่า ประการแรกความเชื่อศาสนาเป็นเรื่องส่วนถ้าไม่ระะวัง ไม่เคารพกันเกิดกระทบกระทั่งคงแย่แน่ๆ ผมขอเขียนไว้เตือนสติตนเอง และแบ่งปันประสบการณ์นี้กับเพื่อนที่เข้ามาอ่าน
ประการต่อมาก็คือ ไอ้การที่เราเลือกเชื่ออะไรก็ตามนะครับ มันคงไม่ได้เป็นไปตามใจเราเลือกเสียทุกคน ถึงแม้ว่าเราจะเลือกเชื่อโดยสมัครใจ มันอาจจะยังมีบางส่วน (ขอย้ำนะครับว่าบางส่วนจากอีกหลายๆส่วน) ที่เป็นเหตุปัจจัยจากสภาพเศรษฐกิจในสังคมด้วย อย่างเรื่องที่เกริ่นไปให้ฟังข้างต้น
สุดท้ายนี้ก็หวังว่าเรื่องที่เขียนเล่ามาจะไม่ทำให้ผู้อ่านต้องเสียเวลา และเป็นประโยชน์ไม่มากก็ไม่น้อยหากท่านใดไม่เห็นด้วยก็ช่วยชี้แนะเพิ่มเติมได้ หรือมีความเห็นอะไรอยากจะสื่อสารกับผู้เขียนก็เชิญได้ในช่องคอมเมนต์ด้านล่าง ขอบคุณล่วงหน้าครับ :)
เขียนให้ข้อคิดดีมากๆเลยค่า เคยได้ยินคำสอนนึงจากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านก็ได้ยินมาจากพระอาจารย์อีกรูปนึงว่า ความถูกต้อง ถ้าเราไปยึดมันก็ผิด พออ่านบทความนี้แล้วก็ฉุกคิดถึงแม่ตัวเองที่อยากเสี่ยงโชคกับหวย ทำให้ได้มุมมองที่เปลี่ยนความคิดเราไปเลยค่ะ ขอบคุณสำหรับบทนวามดีๆนะคะ
ตอบลบ