(ระหว่างการเดินทางมักจะมีเรื่องให้เก็บมาเล่าเสมอๆ ... และนี่ก็เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าประทับใจจากค่ายตามรอยพุทธทาส ณ สวนโมกขพลาราม ของชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2560)
ตั้งแต่มหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปเปิดเทอมตามแบบอย่างเมืองนอก สนองนโยบายรัฐที่นำพาชาติเราเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปีการศึกษา 2558 การจัดกิจกรรมนักศึกษาของทางชมรมก็ได้รับผลกระทบโดยตรงกับการเปลี่ยนเวลาเปิดปิดเทอมเช่นนี้
จากแต่ก่อนตั้งแต่ตอนเราเข้ามาอยู่ครั้งแรก ปี 2555 ชมรมจะไปออกค่ายกันช่วงกลางปีการศึกษา หรือปิดเทอมเล็ก ช่วงประมาณเดือนตุลาคม แต่พอมหา'ลัยเปลี่ยนเวลาปิดเทอมก็ไม่สามารถจัดช่วงเดียวกันนี้ได้ เพราะยังเปิดเทอมอยู่ ส่วนเวลาปิดเทอมเล็กก็เคลื่อนไปอยู่ช่วงปีใหม่ ปลายเดือนธันวา ถึงต้นๆมกราคม
ทางคณะกรรมการชมรมในปีนั้น ประชุมหารือกันได้ข้อสรุปว่า ให้เลื่อนค่ายสวนโมกข์ที่จัดกลางปีออกไปช่วงปิดเทอมใหญ่ปลายเดือนพฤษภาคม ด้วยเหตุผลว่า การจัดค่ายช่วงปีใหม่อาจทำให้นักศึกษามาเข้าร่วมน้อย เพราะเป็นช่วงที่ใครๆก็อยากจะเดินทางกลับบ้านกันในช่วงวันหยุดยาว แม้กระทั่งพวกผู้จัดเองก็รู้สึกอย่างนั้น เราต่างก็อยากใช้เวลากับครอบครัวในช่วงเทศกาล และที่สำคัญค่ายนี้เป็นค่ายที่ทำให้ชมรมมีคนเข้ามาเป็นกรรมการชมรม ทำให้มีทีมทำงาน ทายาทอสูรสืบอายุองค์กรอีกด้วย คนมาน้อยละก็ไม่ดีแน่งานนี้ !!!
ค่ายสวนโมกข์ของชมรมพุทธฯ จึงได้มาจัดช่วงปลายเดือนพฤษภาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จากวันนั้นจนถึงวันนี้นี่ก็เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่ค่ายได้ย้ายเวลามา นับเป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้งานหลายอย่างในค่ายต้องเปลี่ยนไป ดังที่จะได้เจียระไนให้ฟังต่อไปนี้ ....
ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนั้นที่สวนโมกข์เองก็มีงานใหญ่ของทางวัดอยู่แล้ว ซึ่งก็คือ วันล้ออายุ หรือวันคล้ายวันเกิดของท่านพุทธทาสภิกขุผู้ก่อตั้งสำนักสวนโมกขพลาราม วัดธารน้ำไหล วันล้ออายุนี้เป็นวันที่ลูกศิษย์ลูกหาจากทั่วสารทิศที่มีความศรัทธาในตัวท่านพุทธทาสจะมาร่วมบำเพ็ญบุญปฏิบัติธรรม อดอาหารดูใจ ฟังธรรมบรรยายเทปเสียงท่านอาจารย์กันที่วัด จากชื่อเสียงและความแพร่หลายของผลงานท่านพุทธทาส ทำให้คนที่มาย่อมมีไม่น้อย ไม่เพียงเท่านั้นยังมีคณะอื่นที่เขาเกณฑ์คนมาร่วมอีก อย่างมหาวิทยาลัยท้องถิ่น และโรงเรียนแถวนั้น ที่ได้งบประมาณจากรัฐมาช่วยกันพาเด็กร่วมกิจกรรมกับทางวัด มีการเปิดฐานอบรม แนะนำท่านพุทธทาสที่เป็นคนสำคัญของท้องถิ่น จึงไม่ได้มีแค่ผู้ศรัทธาแต่ยังมีคณะนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปมากหน้าหลายตามาร่วมกันในช่วงวันล้ออายุนี้
แน่นอนว่าการจัดค่ายในช่วงวันล้ออายุ ที่มีคนเยอะแยะแบบนี้ ย่อมมีผลกระทบกับกิจกรรมของทางชมรม จากแต่ก่อนที่ทำงานกันแบบวางแผนเรียบร้อย แล้วคอยคุมงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ปรับเปลี่ยนอะไรกันก็เล็กน้อย กลายเป็นว่า การทำงานลักษณะนี้ใช้ไม่ได้แล้วครับ
ความที่ทางวัดมีกิจกรรมเอง วิทยากรในวัดก็มีไม่พอที่จะมาทำงานรับรองค่ายของเรา ทำให้สตาฟที่เป็น นศ.เองต้องก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในการนำทำกิจกรรมกันเองด้วยไหวพริบปฏิภาณ ทักษะยุทธ์ของตัวเอง และต้องวิ่งหาพระวิทยากรที่คิวแน่น คอยจัดตารางเวลาใหม่ แผนการที่วางไว้ล่วงหน้ามานี้แทบจะวางทิ้งไว้ได้เลย คนทำงานต้องคอยประชุมวางกิจกรรมกันใหม่แทบจะวันต่อวันเสมอ
ผมเองที่เคยมีประสบการณ์เคยร่วมทำค่ายมาในช่วงก่อนเปลี่ยนผ่านก็เห็นว่า พอย้ายมาจัดช่วงวัดมีงานใหญ่แบบนี้แล้ว ทำให้ทีมงานต้องทำงานหนักกันกว่าแต่ก่อน ช่วง 2 ปีหลังที่ผ่านมาโชคดีหน่อยได้พระอาจารย์จากสวนโมกข์ที่รู้จักกันเมตตา มาอนุเคราะห์นำค่ายเป็นหลักให้เลยเหนื่อยน้อยลงหน่อย
ผมเองเคยแอบได้ยินพระอาจารย์รูปดังกล่าวออกปากบอกกับน้องผู้จัดค่ายทำนองว่า "ถ้ามาช่วงล้ออายุนี้ละก็ ... คุณทำใจไว้เลยนะ ตารางของคุณมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน" ถึงพระอาจารย์จะไม่ใช่เหมือนพ่อท่านคล้ายแต่คำพูดของท่านก็เป็นไปตามนั้นคล้ายดังมีวาจาสิทธิ์
ทั้งความที่ผู้คนเยอะ มีงานกิจกรรมแยะ มีเวลากับสภาพอากาศหน้าฝนที่แปรปวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้กิจกรรมที่วางมาต้องวางไว้ดังอาจารย์ว่า สตาฟต้องทำงานกันหนักคอยประชุมงานหารือกันวันต่อวัน ไปจนถึงขั้นไม่เว้นช่วงพักเบรกระหว่างกิจกรรม
ในความวุ่นว่าย และดูน่าเหนื่อยหน่ายแบบนี้จริงๆแล้วมันก็มีความท้าทาย และข้อดีในข้อเสียอยู่ด้วย อย่างที่เราสัมผัสได้ก็คือ กิจกรรมได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้มีความคิดสร้างสรรค์ หยืดหยุ่นเหมาะสมกับผู้รับ
จากแต่ก่อนที่เน้นการฟังเทศน์ฟังธรรมที่เน้นการฟังแต่ฝ่ายเดียว โดยอาศัยพระอาจารย์จากสวนโมกข์เป็นคนนำ ทีนี้มาช่วงล้ออายุพระท่านไม่ว่างมานำ เพราะต้องไปนำคณะอื่นๆด้วย พวกเราเองก็ต้องหาเกมนันทนาการ หรือกิจกรรมแนวจิตตปัญญาศึกษา(Contemplative Education)ที่สามารถถอดบทเรียนมีสาระมาเล่นกันเอง ที่นำมาใช้มากที่สุดก็คือ การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) และ สุนทรียสนทนา (Dialogue) ที่ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชนิดที่ใจถึงใจสอดแทรกการมีสติเหมือนกับการเจริญภาวนาในวิถีพุทธ ปีแรกที่นำกิจกรรมพวกนี้เข้าไปก็มีเสียงบ่นจากเพื่อนสะท้อนกลับมาว่า "ทำไมให้คุยกันเยอะจัง" คงเพราะเราต่างก็คุ้ยชินกับการเรียนรู้แบบสื่อสารทางเดียว ไปวัดก็ฟังพระท่านเทศน์อย่างเดียว ไม่เคยได้ลองนั่งคุยแลกเปลี่ยนกับท่านแบบคนธรรมดาด้วยกัน แต่พอได้ลองผิดลองถูกทำกันดูก็เห็นผลตอบรับที่ดีมากขึ้น จนปีถัดมาวงสนทนาแบบนี้ก็ได้กลายเป็นกิจกรรมหลักๆของค่ายในปีล่าสุด
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEguuG8syhqbu3aa7PK3CuuMdnVzHEtkHDRnCIotS7eyQEWaDcXoCvLxgCD-Mi_qDJD-NsmW9ZiqGUivYYtj4ZWxhUik6VQfd0BYIkC7-CjA4wvogPLYl_WKLaGgfoZpCWi3BAYvhSTbauka/s400/DSC_1020.jpg) |
เกมแฟนพันธุ์แท้ค่ายสวยโมกข์ ที่คิดปัญหาถามตอบขึ้นมาเพื่อความสนุกสนานกระชับสัมพันธ์ โดยมีนักศึกษาผู้จัดขึ้นมานำทำกิจกรรมกันแบบกันเองๆ |
มีกิจกรรมที่เรียนรู้โดยเน้นไปที่บทบาทของผู้เรียน และการทำงานเป็นกลุ่มร่วมกันมากขึ้นในหมู่ นศ.ทั้งกลุ่มของสตาฟและผู้เข้าร่วม ช่วยให้ได้กระชับสัมพันธ์ไปพร้อมๆกันด้วย กิจกรรมแบบนี้เองที่ช่วยให้เราคิดต่างกันได้แต่ยังมีการดูแลความรู้สึกของกันและกันเวลาแสดงความเห็นต่างออกไป ก็สามารถพูดออกมาได้ไม่ต้องเกรงใจ เพราะเราต่างได้เผยใจกันแล้ว ไม่มีการติดใจกันภายหลังเมื่อมีข้อโต้แย้งในการทำงานของสตาฟ
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEh2uaN9Y7oXNH64wilZ0a1T3J5ct7AIauV8dNHSt1iyOU4zxX4_BNY1jhF69Z3AC81OHxjEyhoXvwpwTmHcZ0PoCNjTc2UyA1IDUvR5WuE4qQEaa5QVdJXI_kzUhfs4jJMo339Audj13ykD/s400/DSC_0220.jpg) |
บรรยากาศการนั่งพูดคุยล้อมวงด้วยกระบวนการสานเสวนา หรือสุนทรียสนทนา (Dialogue) ที่ใช้เป็นกระบวนการถอดบทเรียนและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวค่าย |
ผมเห็นความคิดสร้างสรรค์ของเพื่อนๆรุ่นพี่รุ่นน้องที่ร่วมงานผ่านมามีกันมากมาย บางเรื่องเราคิดแทบไม่ได้ แต่พอได้หลายหัว หลายคนมาช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ ความสร้างสรรค์ก็ปรากฏให้เห็น อย่าบางเรื่องมันล้ำจริงๆครับ เราคิดแค่ว่าพี่สตาฟในฐานะผู้จัด ต้องเป็นคนหากิจกรรม หาบทเรียนมาให้น้อง นศ.ที่เป็นผู้เข้าร่วม แต่ในปีนี้มีเพื่อนคิดว่าควรมีกิจกรรมให้น้องๆได้ขึ้นมาสอนบทเรียนกับพี่ๆบ้าง พอได้ลองดูก็เห็นว่ามันน่าประทับใจจริงๆ น้องๆมีความคิดที่ดีไม่แพ้พี่ๆ ชวนให้นึกถึงพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าดูแคลนไฟว่ากองเล็ก อย่าดูถูกสติปัญญาของเด็กๆ อย่าปรามาสพระบวชใหม่ ฯลฯ
(ในค่ายปีก่อนที่จะเปลี่ยนเวลาจัด ก็เคยมีประเด็นเห็นต่างของคณะทำงานในเรื่องทำนองนี้ด้วย เพราะมีการเอาน้อง นศ.ปี1 มาร่วมทีมงานสตาฟ แต่มีรุ่นพี่เห็นว่าน้องเขาโตเร็วเกินไป เขาควรจะได้สัมผัสความรู้สึกของการเป็นผู้รับก่อน ไม่ควรข้ามขั้นมาเป็นผู้จัดเลย ... ผมว่าถ้าเอากิจกรรมน้องสอนพี่ของปีนี้ไปใช้ คงช่วยแปรเปลี่ยนประเด็นขัดแย้งนี้ได้อย่างสร้างสรรค์ไม่น้อย)
ต่างคนต่างที่มาต่างคณะมาร่วมงานกันก็มีความรู้มีสกิลที่หลากหลาย มีตั้งแต่สายวิทย์ยันสายศิลป์ ต่างคนต่างก็นำเอาความรู้ความสามารถของตัวเองมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำกิจกรรมค่าย เพื่อนพุทธคณะแพทย์แผนไทยนำเอาวิชาฤๅษีดัดตนมาแนะนำวิธีดูแลสุขภาพให้กับเพื่อนๆ มีน้องค่ายเล่นซนโดนแมลงกัดต่อยเพื่อนคณะพยาบาลก็คอยดูแล เพื่อนพุทธจากคณะศิลปกรรมทางการแพทย์ก็คอยเก็บภาพบรรยากาศสวยๆ คอยทำงานประชาสัมพันธ์ออกแบบเสื้อยืด เพื่อนพุทธจากวิทยาลัยศาสนศึกษาก็คอยช่วยแบ่งปันความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธอย่างเป็นวิชาการ เป็นต้น
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEh2ji1qIiR078y9wVjSPqBj7yzw7IbgmfyJOFBIOcFt3vHxHI1ZKDHHEglKlIePAoHWGFswbxfRZ3Ih2aTrUljKEnSzGJn01CN44jfqamv4sChqh1bEie_Em07AFfNQTr0HAJ2LNbFHBh-N/s320/DSC_0669.jpg) |
เพื่อนจากคณะแพทย์แผนไทยประยุกต์ ศิริราชพยาบาล กำลังสาธิตกายบริหารแบบฤๅษีดัดตน |
นอกจากความสร้างสรรค์ แล้วความหยืดหยุ่นก็เป็นข้อดีอีกอย่างในค่ายที่สัมผัสได้ การประชุมกันวันต่อวัน กิจกรรมต่อกิจกรรมทำให้เราได้ประเมิณสถานการณ์หน้างาน ไปจนถึงสังเกตสังการณ์อาการของน้องๆผู้เข้าร่วมกิจกรรม ดูว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง ฟังแล้วเบื่อกันไหม ดูง่วงขนาดไหน แล้วผู้จัดก็เอาสิ่งที่สังเกตได้มาปรับใช้ในการคิดกิจกรรมต่อๆไป ช่วยให้ผู้เรียนรู้มีสภาพที่พร้อมเต็มที่กับแต่ละกิจกรรม ตลอดถึงมีเวลาว่างมากขึ้นให้คนในค่ายได้ทำความรู้จักกันและสัมผัสบรรยากาศรอบๆวัดอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งให้คนละอารมณ์กับมีคนคอยนำชม
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhIeudqrbcouNf8ny2fZF1tuuzw01kr1QgWC-8rw4sO2LFAKt-R7fhSaMmOVYpqfGn0PvZIj4xfv7bAw5M2m4xYgUvI9I8X6-S1HBPAHNleBs2t9OIpm2NdPSfYI_LW3cXgvRCUmGhi1Rvc/s320/2017_0527_07264900.jpg) |
พี่โจ้ ผู้จัดการประสานงานโครงการจิตอาสาของสวนโมกข์กรุงเทพฯ กำลังพูดคุยกับน้อง นศ. |
ข้อดีอีกประการที่ได้รับในการมาช่วงวันล้ออายุคือ ทำให้พวกเราได้เห็นความสำคัญของท่านพุทธทาสมากขึ้น เราได้เห็นว่าผลงานของท่านมีอิทธิพลต่อผู้คนและสังคมขนาดไหนพอให้เรามาใช้สวนโมกข์ทำกิจกรรมเช่นนี้ ในช่วงงานวันล้ออายุนี้เองยังเป็นช่วงที่มีคณะธรรมภาคีจากภายนอกมาทำกิจกรรมภายในด้วย ปีนี้น้องประธานค่ายแกมีความคิดดี แกไปเชิญพี่ๆที่เป็นฆราวาส คนรุ่นใหม่ทำงานจิตอาสาที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับน้องๆ นศ.ของคณะเรา ทำให้เราเห็นว่าธรรมะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของคนธรรมดาได้อย่างไร และเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ นศ.ในการนำเอาธรรมะไปใช้กับชีวิตตนรวมถึงทำประโยชน์ให้สังคม
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEiZT64qjE8oflXTYWHtnL9UqpRiO709ar346O5WpHMcN50ZKMbjIoCAw3isBa3ALoyXEsFOi__NN_709xbCZSSa1bxdlk1Dck49Z0RleM0jXM0JgPkK9oQSQ7YuTDooG9i18N_8bHDlnoXu/s400/DSC_0870.jpg) |
คณะลูกศิษย์สวนโมกข์ และนักวิชาการชาวต่างชาติที่มาเสวนาถ่ายรูปร่วมกับพระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร) รักษาการเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) |
ที่พิเศษสุดๆก็คือ ปีนี้ทางหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ หรือคณะสวนโมกข์กรุงเทพฯ ได้มาจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ เนื่องในโอกาส ๑๑๑ ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ เช่น การเสวนาพุทธธรรมกับสังคม ที่นำเอานักวิชาการ และลูกศิษย์ลูกหาสวนโมกข์ที่เป็นชาวต่างชาติ ที่ได้รับอิทธิพลจากงานของท่านพุทธทาส มาพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์การณ์ ทำให้เราได้เห็นว่าท่านพุทธทาสมีอิทธิพลในระดับสากลและคุณปการต่อพุทธศาสนาขนาดไหน และที่ชาวค่ายเราประทับใจสุดๆก็คือกิจกรรม 'ถึงธรรมเมื่อฮัมเพลง' ที่เขาแต่งเพลงธรรมะมาร้องแสดงสดกันที่ลานหินโค้ง เป็นการต่อยอด สืบสานความคิดของท่านพุทธทาส ที่อยากจะให้ธรรมะเผยแพร่ออกไปในสังคมปัจจุบันอย่างสมสมัย ทำให้คณะของเราได้ร่วมกิจกรรมแสนพิเศษนี้ไปด้วย ถ้าหากไม่มาช่วงนี้ก็คงไม่ได้พบอะไรแบบนี้ มีเพื่อนหลายคนประทับใจกลับจากค่ายไปยังหามาฟังกันต่อกดไลค์กดแชร์จากยูทูปกันให้เห็นบนเฟซบุ๊ค
(เพลงในวีดีโอข้างบนนี้ชื่อ 'เผลอ' เป็นหนึ่งในเพลงธรรมะที่คณะเราฟังกันบนลานหินโค้งจนติดหูติดใจ นำเอาไปร้องไปบอกต่อกัน เพลงนี้เขาเอาเรื่องการเจริญสติรู้ทัน เวทนา และผัสสะมาเขียน ผสมกับเพลงรำวงที่ติดหูอย่างเพลง ตามองตา...)
การที่เวลาเปลี่ยน ปัจจัยอะไรต่างๆเปลี่ยน ทำให้รูปแบบการทำงานค่ายต้องเปลี่ยนไปตามแบบนี้ ส่งผลกระทบให้สตาฟผู้จัดต้องทำงานหนักกันมากขึ้นเหนื่อยกันมากขึ้น ปีนี้เราเห็นน้องๆสตาฟทำงานด้วยความตั้งใจมาก ทุกๆคืนพวกเขาต้องหลับทีหลังน้องที่เป็นผู้เข้าร่วม เพื่อประชุมงานกัน ความเหนื่อยล้าส่งผ่านมาทางสีหน้าแววตา ตอนเช้ามืดเวลาสวดมนต์ทำวัตรก็มีบางคนที่ลุกแทบไม่รอด แต่งานที่ออกมาของพวกเขานั้นผมเห็นว่าช่างเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ และความประทับใจชนิดที่ค่ายจบอารมณ์ไม่จบ
พวกเรากลับมาจากค่ายกันแล้วแต่ต่างก็ยังนึกถึงช่วงเวลานั้นๆ โพสต์รูปเล่น เขียนสถานะถ่ายทอดเรื่องราวบนเฟซบุ๊ค หรือบนบล็อกอย่างที่ผมเขียนอยู่ บางคนก็ตั้งหน้าตั้งตารอช่วงเวลาในปีถัดไปที่จะได้มาพบกับเพื่อนๆใหม่ และได้ทำอะไรแบบนี้ร่วมกันอีก มิตรภาพได้ถูกสร้างขึ้นไปพร้อมกับการเรียนรู้ธรรมะเรียนรู้ธรรมชาติของชีวิต แม้ว่าการมาออกค่ายแบบนี้มันจะเหนื่อย แถมบางคนยังเสียเวลาเรียน แต่ผมคิดว่าพวกเขาก็ได้อะไรไม่น้อย จากการมาในลักษณะเช่นนี้ เหมือนที่ท่านพุทธทาสสอนว่า "มองให้ดี มีแต่ได้ไม่มีเสีย ..."
ขอขอบคุณเพื่อนๆ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ครูบาอาจารย์ทุกท่านที่มาร่วมงานค่ายด้วยกันตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ...
หวังว่างานเขียนชิ้นนี้นอกจากจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวความประทับใจแล้ว ยังอาจจะมีประโยชน์กับคนอื่นๆ ในฐานะที่ได้แบ่งปันประสบการณ์ ข้อคิดเห็นที่ได้จากการทำงานให้กับเพื่อนๆด้วยเช่นกัน
ขอบพระทุกท่านคุณที่เข้ามาอ่านครับ มีประเด็นน่าสนใจอะไร ก็เชิญแลกเปลี่ยนวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่ชอบใจก็ด่าได้ (แต่อย่างแรง) เชิญในช่องคอมเมนต์ด้านล่างครับ :)