วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

มาหาไร?มหา'ลัย : อายุห่างกันเท่าไรทำไมไปเรียกเขา "ลูก" ?!?

เกริ่นนำ ...

เมื่อเจออะไรน่าสงสัย ถึงเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่เอาไปคิดต่อแล้วเห็นอะไรในเรื่องนั้นมากมาย ถ้าไม่เล่าออกมาแล้วก็กลัวจะหาย อาจารย์ที่สอนปริญญาโทเลยแนะนำให้เอาไปเขียนไว้ในบล็อก จะไม่ได้ไม่สาบสูญ ยังถือว่าได้แชร์ ได้แลกเปลี่ยน ตกตะกอนความคิด เวลาผ่านไปได้กลับมาทบทวนตัวเองด้วยเวลาเปิดอ่านเป็นเหมือนบันทึกไทม์แมชชีน ที่สะท้อนให้เห็นตัวตน ความคิด ความเห็นเราในเวลานั้นๆด้วย

ผมจะเขียนเรื่องอะไรที่แปลกๆเจอในมหาวิทยาลัยโดยใช้หัวข้อบทความว่า "มาหาไร?มหา'ลัย" ซึ่งมีความหมายว่า มาหาอะไรในวิทยาลัย นั่นเอง และบทความนี้ก็เป็นตอนที่ 2 แล้วครับที่ผมเขียนถึงหัวข้อนี้

อะไรที่ผมคิดว่ามันแปลกๆที่ผมเจอในมหา'ลัย ที่จะมาเล่าให้ฟังวันนี้เป็นปรากฏการณ์ ปรากกฎการณ์หนึ่งครับ ที่ผมไม่เคยเจอข้างนอกมากก่อน มาเจออะไรแบบนี้ครั้งแรกในมหาวิทยาลัย เดี๋ยวผมจะเจียระไนให้ฟังในลักษณะของโครงร่างงานวิจัย ดังต่อไปนี้ครับ


หัวข้อ : อายุห่างกันเท่าไรทำไปเรียกเขาลูก ?!?


ที่มาและความสำคัญ :

โดยทั่วไปญาติสนิทมิตรสหาย คนอายุรุ่นน้องพ่อรุ่นพี่แม่ หรือรุ่นลุงป้าน้าอา มักจะใช้สรรพนามเรียกคนอายุน้อยคราวลูกคราวหลานว่า ลูกเอ๊ย ! หลานเอ๊ย! เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแบบนับญาติครับ สะท้อนได้จากภาษา สรรพนามเรียกกันเหมือนครอบครัว อิทธิพลแบบนี้คงมาจากการที่สังคมสมัยก่อนเป็นสังคมแบบกสิกรรม อยู่กันเป็นชุมชน เป็นชนบทที่คนเกี่ยวข้องดองกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คนหมู่บ้านเดียวกันมักจะเป็นญาติพี่น้องกันนั่นเอง คนไทยจึงมีสรรพนามใช้เรียกกันเหมือนญาติ เจอคนอายุคราวพ่อปูนพี่พ่อก็เรียกลุง เรียกป้า ผิดกับชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษมีแต่ I กับ you ถ้าไม่ใช่ญาติกันจริงๆ หรือนับถือกัน น้อยครั้งจะเห็นชาวต่างชาติใช้ภาษาอังกฤษเรียกใครเหมือนเรียกญาติแบบที่คนไทยเราใช้ในภาษาไทย

ตั้งแต่สมัยยังไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยไปไหนมาสามวาสองศอก ออกปากเรียกใครว่าลุงป้าน้าอามักก็จะถูกเรียกกลับมาอย่างเอ็นดูว่าลูกบ้าง หลานชายบ้าง แต่พอผมมาเรียนมหาวิทยาลัยได้ปีแรก ผมก็เจอเรื่องที่ผิดไปจากสภาวการณ์ข้างต้น มีนักศึกษาวิศวะหนุ่มเรียนก่อนผมหนึ่งปี จัดได้ว่าเป็นรุ่นพี่ มาเรียกผมว่า "ลูก" ตอนที่ผมยกมือไหว้เขาตามธรรมเนียมนักศึกษา แรกๆก็ตลกดี คิดว่าพี่เขาเรียกขำๆ เป็นอารมณ์ขันเฉพาะตัว แต่อยู่มหาวิทยาลัยนานวันเข้า เจอแบบนี้หลายคน เริ่มรู้สึกแปลกๆแล้วเพราะไม่เคยเจอชาวบ้านข้างนอกอายุห่างกันไม่เท่าไรมาเรียกลูกแบบนี้ ส่วนตัวแล้วมองว่าออกจะอุตริด้วยซ้ำไป

ผมเลยคิดว่ามันต้องมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่เป็นที่มาถ่ายทอดให้เกิดการเรียกรุ่นน้องว่าลูกแบบนี้ เพราะไม่ได้เป็นกันแค่คนเดียว หรือคนสองคน แต่เจอมาในรุ่นพี่หลายคน ที่มีบุคคลิกภาพดูเป็นคนมีความมั่นใจคล้ายๆกัน ผมก็เลยค้นหาคำตอบ


คำถามวิจัย :


  • เหตุใด นศ.รุ่นพี่ถึงได้เรียกรุ่นน้องว่าลูก? 
  • การเรียกเช่นนี้มีที่มาอย่างไร ? การเรียกลูกแบบนี้ถึงพบได้แต่ในมหาวิทยาลัยจริงหรือไม่ ?
  • บริบทของการเรียกมีผลอะไร หรือไม่?
  • ปฏิกิริยาของรุ่นน้องที่มีต่อการเรียกเช่นนี้เป็นอย่างไร?



วิธีวิจัย :

การหาคำตอบในเรื่องนี้ ผมอาศัยการเก็บข้อมูลแบบการวิจัยเชิงไร้คุณภาพแบบไม่เป็นทางการ คือ ตั้งสถานะบนเฟซบุ๊คถามเพื่อนให้มาคอมเมนต์ตอบบ้าง แอบสังเกตกลุ่มเพื่อนๆที่ใช้สรรพนามว่าลูกเรียกน้อง ตลอดถึงปฏิกิริยาเวลาอาการของรุ่นน้องที่โดนเรียกบ้าง แอบสอบถามเพื่อนผ่านการสนทนาบ้าง ตลอดถึงล่าสุดโดนคนเรียกว่าลูกก็แกล้งจุ๊ปากมองหน้าแสดงความไม่พอใจเพื่อดูปฏิกิริยาคู่สนทนาบ้าง คงสร้างความเคืองใจให้เขาไม่น้อยเห็นได้จากบทสนทนาที่มีต่อ (ไว้จะเล่าให้ฟังในหัวข้ออภิปรายผลการศึกษา) ด้วยเหตุนี้เองผมจึงเรียกวิธีวิจัยของผมว่า 'การวิจัยเชิงไร้คุณภาพแบบไม่เป็นทางการ'


อภิปรายและสรุปผลการศึกษา :

จากการศึกษาพบว่า สาเหตุของการเรียกน้องว่าลูกนั้นเพื่อน นศ.ส่วนใหญ่ตอบว่ามาจากความเอ็นดู ต้องการสร้างความสนิทสนม และผูกมิตรกับเพื่อนรุ่นน้อง ส่วนที่มานั้นบ้างก็ตอบไม่ได้ บ้างก็ว่าได้ยินมาจากรุ่นพี่เลยเรียกตามๆกันมา มีคำตอบที่เป็นความคิดเห็นน่าสนใจที่แปลกออกไปอย่างเช่น เป็นการสร้างมิตรภาพในระบอบอุปถัมภ์ (คนตอบเคยเรียนทางสังคมศาสตร์มาแน่นอน)  มีที่มาจากการเรียกกันในหมู่เพศที่ 3 ที่มีระบบแม่เป็นระบบอุปถัมภ์กระเทยรุ่นพี่จะตีต่างตนว่าเป็นแม่คอยเกาะกลุ่มช่วยรุ่นน้องด้วยความเอ็นดูต่างลูก บ้างก็ว่าเป็นการเรียกตามติวเตอร์ในโรงเรียนกวดวิชา บ้างก็ว่าในวงการแสดงช่างแต่งหน้าสาวประเภทสองก็เรียกกัน

เพื่อน นศ.ที่พูดคุยด้วยส่วนใหญ่ถูกรุ่นพี่เรียกว่าลูก และเรียกรุ่นน้องว่าลูกเป็นครั้งแรกในมหาวิทยาลัย มีไม่กี่คนที่เรียกตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม คนหนึ่งเป็นเพื่อนชาวสีรุ้ง ส่วนอีกคนเรียนโรงเรียนกินนอนที่มีวัฒนธรรมระบอบอุปถัมภ์ตั้งแต่มัธยม ทั้งสองท่านคุ้นเคยกับการเรียกคนรุ่นน้องว่า "ลูก" มาก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย

ปฏิกิริยาของรุ่นน้องที่ถูกเรียกมีเพื่อนตอบมาว่า รู้สึกดีเพราะได้รับความรักความเอ็นดูจากรุ่นพี่ที่เรียกและเข้าถึงได้ง่าย ถึงอย่างนั้นก็มีบ้างที่บอกว่ารู้สึกแปลกๆ ไม่ค่อยสนิทใจ จากการสังเกตเห็นได้ว่ากลุ่มรุ่นน้องที่ถูกเรียกในกิจกรรมหนึ่งที่ชมรมแห่งหนึ่ง มีปฏิกิริยาเกร็งๆมากกว่าเวลาถูกรุ่นพี่เรียกว่าลูก แทนคำว่าน้อง แต่ไม่ได้มีโอกาสสอบถามเป็นรายคนไป

แต่โดยส่วนตัวรู้สึกแปลกๆไม่ชอบใจ เคยมีคนไม่รู้จักมาเรียกตอนพบกันครั้ง เราแกล้งถลึงตาจุ๊ปากแสร้างทำทีไม่พอใจใส่เธอ เธอก็ค้อนควับแล้วหันไปไล่เลียงรุ่นที่เรียนกับเพื่อนที่มาด้วยกันอีกคน เพื่อให้เราทราบว่าเธอเรียนจบก่อนเราหลายปี แล้วจากนั้นสบตาเธอก็ไม่ยิ้มให้เราเหมือนตอนรับไหว้ครั้งแรกก่อนสนทนากัน

จากการสังเกตพบว่ากลุ่ม นศ. รุ่นพี่ที่นิยมใช้สรรพนามเรียกน้องว่าลูกส่วนใหญ่เป็นเพศที่สาม รองลงมาเป็นผู้หญิง มีผู้ชายบ้างแต่น้อยกว่า โดยมากพวกมักจะมีบทบาทเป็นผู้นำกิจกรรม นศ. ไม่ว่างานชมรม รับน้องประชุมเชียร์ หรืองานคณะ เป็นคนกล้าแสดงออกและมีความมั่นใจในตนเอง

วิเคราะห์  ได้ว่าการเรียกลูกแบบนี้ไม่ได้พบแต่ในมหาวิทยาลัย แต่ยังมีในแวดวงเพศที่สาม กวดวิชา และวงการบันเทิง การเรียกแบบนี้เป็นการมุ่งสร้างสัมพันธภาพ ด้วยความรักความเอ็นดู เป็นการสร้างกลุ่มเป็นการเรียกโดยผู้อาวุ และเป็นการแสวงหาการยอมรับ ผู้น้องที่ถูกเรียกมีทั้งปฏิกิริยาเชิงบวกและลบ ปฏิกิริยาเชิงลบนำไปสู่สัมพันธภาพที่ไม่ได้ ดังที่ได้เล่าในประสบการณ์ส่วนตัว

วิพากษ์ การเรียกเช่นนี้เป็นการแสดงความอาวุโสที่ตำแหน่งแห่งที่ของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า เพราะมีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่เรียกเด็กกว่าว่าลูก ความสัมพันธ์เช่นนี้ผิดไปจากนอกวงการที่นับญาติกันด้วยระบบภาษา เพราะเป็นความสัมพันธ์ภายใต้บริบททางสังคมใหม่ มหาวิทยาลัยมีระบบอุปถัมภ์ SOTUS ที่ทำให้รุ่นพี่มีบทบาทต้องเป็นผู้ใหญ่และใช้อำนาจเหนือกว่ารุ่นน้องในการสร้างปฏิสัมพันธ์ จึงได้เกิดความพิเศษแปลกใหม่ไม่เหมือนเดิมขึ้นมา เห็นได้จากที่ นศ.ที่เรียกน้องลูกส่วนใหญ่มีบทบาทเป็นผู้นำกิจกรรม

รุ่นพี่เรียกรุ่นน้องว่าลูกไม่ใช่เพราะเขาอ่อนคราวลูกพวกเธอ การเรียกแบบนี้เกิดขึ้นภายใต้บริบทของสังคมที่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ใช่สัมพันธ์แบบเครือญาติในบริบทสังคมไทยแต่ก่อนเป็นการประกาศว่ารุ่นพี่เป็นผู้ใหญ่กว่า รุ่นพี่เท่านั้นที่จะเอ็นดู จะกรุณารุ่นน้องได้ เหมือนผู้ใหญ่เอ็นดูเด็กน้อย ถ้ารุ่นน้องโอนอ่อนผ่อนตามก็ไม่มีปัญหา ถ้าหากไม่ยอมลงให้ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ก็จะไม่ราบรื่นอีกต่อไป เหมือนกรณีที่ผู้ศึกษาแกล้งลองใจรุ่นพี่

วิจารณ์ การเรียกแบบนี้สำหรับบางคนเขาก็โอเค บางคนอาจจะไม่โอเค จึงเป็นเรื่องอัตวิสัยของแต่ละบุคคลที่จะตีความและจับสารที่ต้องการสื่อ บางคนใจกว้างเปิดรับได้ถึงความรักความเมตตาผิดสามัญวิสัยนี้ก็ดีไป แต่ถ้าหากสัมผัสไม่ได้ก็อาจมองไปว่าเป็นเรื่องอุตตริแบบที่ผู้ศึกษามอง แทนที่จะมองว่าเขารักเขาเมตตา กลับมองว่าเป็นการแสดงอำนาจเกินตัวเกินอายุไปเสียสิ้น

ฉะนั้น ขอนำเสนอแนะว่าถ้าหากจะเรียกใครก็ขอให้พิจารณาให้ดีเสียก่อน ถ้าไม่สนิทกันจริงๆหรือไม่ได้อยู่ในฐานะที่สมยอมกันก็อย่าเพิ่งใช้สรรพนามแบบนี้ การจะใช้ควรตรองให้ดีก่อน ไม่อย่างนั้นก็เรียกพี่เรียกน้อง เรียกคุณเรียกผมกันไปก่อน จะได้ไม่เกิดปัญหา

ครั้งหนึ่งเชิญอาจารย์ที่ปรึกษามาร่วมกิจกรรมชมรม รุ่นน้องที่เป็นกรรมการชมรมเรียกน้อง นศ.ปีหนึ่งที่มาร่วมว่าลูก อาจารย์ได้ยินเข้าเลยบอกว่า "เธออายุเท่าไรไปเรียกเขาลูก ?" ดูน้อง นศ.กรรมการของเราออกจะหน้าแตกไม่น้อย ส่วนรุ่นน้องปีหนึ่งต่างอมยิ้มกันไป


อ้างอิง


  • การสอบปากคำเพื่อน
  • คอมเมนต์บนเฟซบุ๊ค
  • การสังเกตแบบมีส่วนร่วมบ้างไม่ร่วมบ้าง
  • มโนล้วนๆ


โครงร่างการศึกษานี้ยังไม่ได้ให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไหนอ่าน หรือมาวิจารณ์ เพราะฉะนั้นหากท่านที่เข้ามาอ่านเมตตาแล้วละก็ ขอให้ได้ให้เกียรติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเล่นๆเขียนคอมเมนต์ติชม เสริมเพิ่มเติมกันได้ในช่องเมนต์ด้านล่างนะครับ อ่านแล้วไม่ชอบใจก็ด่าได้ แต่อย่าแรงส์ ขอบคุณครับ

ที่มา http://www.vaterfreuden.de/sites/default/files/drohungen-machen-eltern-unglaubwuerdig.jpg 









วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บ้า...ทำมะ ? : "มึงทำให้กูดูโง่!"

โดยส่วนตัวแล้วผมเป็นคนชอบศาสนาพุทธส่วนที่เข้าได้กับคนสมัยใหม่ ชอบการอธิบายธรรมะแนววิทยาศาสตร์ ไม่เป็นไสยศาสตร์ มุ่งไปที่เรื่องการหาความสงบทางจิตใต ความคิดความเชื่อทางศาสนาของผมได้รับอิทธิพลจากงานของท่านพุทธทาส ป.อ.ปยุตฺโต องค์ดาไลลามะ ท่านติซ นัท ฮันห์ ฯลฯ อะไรแนวๆนี้แหละครับ ผมชอบอ่านหนังสือของพระดังเหล่านี้ จนชีวิตที่มีทั้งดีทั้งเลวอันเป็นธรรมดาของมนุษย์ของผมนั้นจะมีส่วนที่ดีๆอยู่บ้าง ก็ยกประโยชน์ให้พวกท่านละครับ

ไม่นานมานี้ มีเรื่องชวนให้คิดเกิดขึ้น เรื่องมีอยู่ว่า ผมพาเพื่อนซี้ที่อยู่ต่างจังหวัดนานๆมาพบกันทีไปเที่ยวไปเช่าพระ ก่อนที่จะเข้าวัดเขาออกปากกับผมว่า

"กูขอไรมึงอย่างได้ไหม?"

ผมสงสัยจะมาขออะไรกันตอนนั้น อดคิดไม่ได้ว่ามันคงมีเงินไม่พอ จะยืมตังค์เราเช่าพระแน่เลย 
ผมก็ยังไม่รับในทีแต่ถามต่อไปว่า "ทำไม? มึงมีอะไรก็ว่ามา!" 

เพื่อนผมบอก "ตอนอยู่ในวัดมึงไม่ต้องพูดถึงท่านพุทธทาส ไม่ต้องพูดถึงธรรมะอะไรกับกูนะ!"

ผมชักต่อไป "ทำไมวะ?!?"

เพื่อนตอบกลับมาด้วยถ้อยคำที่แสนสะเทือนใจ บีบคั้นในอารมณ์ผมยิ่งนัก 

"มันเหมือนทำให้กูดูโง่วะ !"

ผมรู้สึกจั๊กกะจี้ทันทีในหัวใจ เหมือนที่เพื่อนพูดไปแทงใจดำผมเข้าอย่างจัง หลายครั้งหลายครา เวลาผมไปเดินเที่ยวด้วยกัน เห็นเขาเสียเวลานานๆที่แผงพระเครื่องทีไร แล้วนิสัยชอบแสดงภูมิอวดรู้ของผมก็ทำงาน ผมจะพูดธรรมะอย่างคนบ้านธรรมะ (แต่ไม่รู้ว่าทำมะ? หรือปฏิบัติธรรมอยู่จริงๆไหม) แขวะเขาบ้าง แซะเขาบ้าง เรื่องการมีธรรมะดีกว่าห้อยพระแบบไสยศาสตร์ทำเป็นสอนเพื่อนตรงนั้นอย่างทีเล่นทีจริง โดยไม่เคยได้สังเกต เฉลียวใจคิดเลยว่าไอ้ท่าทีแบบนั้นมันทำให้เพื่อนรู้สึกยังไง บางทีเราก็เจตนาดีนะครับไม่ได้แขวะเล่น แต่วิธีการและท่าทีที่เราแสดงออกมามันไปหักหน้า ไปกดทับความรู้สึกเขาเข้า เหมือนไม่ไว้หน้าเขา ดีที่เขาอาศัยความสนิทใจบอกออกกันมาตรงๆ ในวันดังกล่าว เราถึงได้เห็นความร้ายกาจของตัวเอง 

ภายหลังคุยกันต่อ ผมบอกเพื่อนว่า ผมไม่ได้คิดว่าเขาโง่นะ เขาเรียนหนังสือจบมาเหมือนกัน เรียนคณะสาขาที่ผมเรียนไม่ได้ แถมยังมีงานมีการทำดีกว่าผมเสียอีก

แต่ท่าทีที่ผมแสดงออกไปนั้นมันเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ และต่อไปผมจะระวังไม่ทำอีก ไม่ว่าจะกับเพื่อนคนนี้หรือใครก็ตาม ผมจะพยายามแสดงออกอย่างให้ความเคารพความเชื่อส่วนบุคคล ไม่เอาความเชื่อเราไปตัดสิน หรือกดทับ ข่มความเชื่อใครที่เห็นต่างไปจากเรา

การที่เพื่อนผมชอบพระเครื่องนั้นเขาบอกว่ามาจากรสนิยมส่วนตัว และความเชื่อส่วนบุคคลที่เติมเต็มกำลังใจให้กับเขา ในชีวิตที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ การมีของเหล่านั้นเป็นเหมือนกับการเพิ่มกำลังใจ เติมเต็มความมั่นใจในการใช้ชีวิต เพื่อนบอก เรื่องธรรมะเขาก็รู้ไม่ใช่ไม่รู้ ถึงแขวนพระแต่ก็ต้องมีศีลธรรมประจำใจกำกับอีกแรง ไอ้ลักษณะแบบนี้แหละครับที่เขาเรียกว่า 'กุศโลบาย' 

วันนี้ผมได้คุยกับอาจารย์สอนวิชาวัฒนธรรมศึกษาเกี่ยวกับหัวข้องานวิจัยของตัวเอง ที่จะศึกษาประเด็นชนชั้นทางสังคมกับการเลือกนับถือกลุ่มศาสนาในบ้านเรา งานของผมมองว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจและชนชั้นมีผลต่อการเลือกนับถือศาสนาของคน ผมมีข้อสันนิษฐานในใจว่ากลุ่มชนชั้นกลางที่พอมีเวลาว่างมีเงินเหลือๆ ก็จะนับถือศาสนาอีกแบบหนึ่ง ถ้าในบ้านเราก็อย่างพวกสำนักสวนโมกข์ ที่สอนธรรมะเป็นเหตุเป็นผลมุ่งแสวงหาความสงบด้านใน แต่ถ้าเป็นชนชั้นแรงงาน เป็นคนทำมาหากิน หาเช้ากินค่ำก็จะนับถือศาสนาอีกแบบอย่างที่มุ่งไปทางให้โชคลาภ มีพระเกจิมีอิทธิฤทธิ์บันดาลพร เมตตามหานิยม อะไรทำนองนี้

ผมมองว่าสถานภาพทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดความเชื่อ ตามอย่างแนวคิดของมาร์กที่มองว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดความคิดอุดมการณ์ ที่มาเติมเต็มส่วนที่เขาขาด ชีวิตคนทำงานหากินที่ไม่ค่อยมั่นคงในเมือง ฝากชีวิตไว้กับการค้าขายที่ไม่แน่ไม่นอน เศรษฐกิจที่ผันผวนขึ้นๆลงๆ จะมีอะไรดีไปกว่าการได้ค้าขายร่ำรวยถูกหวยเบอร์ใหญ่ ที่ทำให้เขามั่นคง ยกระดับฐานะชีวิตตน

อย่างที่บ้านผมทำธุรกิจค้าขายรายย่อย มีแผงข้าวเป็นของตัวเอง ไม่ได้เป็นข้าราชการ เบิกค่ารักษาตัว ค่าเทอมลูกได้ มีหลักประกันที่มั่นคง เกษียณอายุก็มีบำเน็จบำนาญกินอยู่สบายๆที่บ้านไม่ต้องทำงาน อาชีพแบบบ้านผมถึงไม่มั่นคงเหมือนข้าราชการแต่ก็พอเก็บเล็กผสมน้อยหมุนวันต่อวัน ส่งลูกเต้าเรียนหนังสือได้  อย่างแต่ก่อนผมเห็นพ่อแม่ เล่นหวยแล้วไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะมองว่าการแทงหวยเป็นเพียงแค่การพนัน ซึ่งจัดอยู่ในอบายมุข แต่พอได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ทุกวันนี้ผมเลยคิดได้ว่ามันไม่ใช่แค่อบายมุข แต่เป็นการแสวงหาหลักประกันทางการศึกษาให้กับผมกับน้องชาย ตลอดถึงความมั่นทางเศรษฐกิจ และโอกาสเลื่อนสถานภาพชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างอย่างมีความหวัง (ที่แม้ว่ายังริบหรี่) ...

เขียนบ่นมาเสียยืดยาวเพื่อที่จะอยากระบายว่า ประการแรกความเชื่อศาสนาเป็นเรื่องส่วนถ้าไม่ระะวัง ไม่เคารพกันเกิดกระทบกระทั่งคงแย่แน่ๆ ผมขอเขียนไว้เตือนสติตนเอง และแบ่งปันประสบการณ์นี้กับเพื่อนที่เข้ามาอ่าน

ประการต่อมาก็คือ ไอ้การที่เราเลือกเชื่ออะไรก็ตามนะครับ มันคงไม่ได้เป็นไปตามใจเราเลือกเสียทุกคน ถึงแม้ว่าเราจะเลือกเชื่อโดยสมัครใจ  มันอาจจะยังมีบางส่วน (ขอย้ำนะครับว่าบางส่วนจากอีกหลายๆส่วน) ที่เป็นเหตุปัจจัยจากสภาพเศรษฐกิจในสังคมด้วย อย่างเรื่องที่เกริ่นไปให้ฟังข้างต้น

สุดท้ายนี้ก็หวังว่าเรื่องที่เขียนเล่ามาจะไม่ทำให้ผู้อ่านต้องเสียเวลา และเป็นประโยชน์ไม่มากก็ไม่น้อยหากท่านใดไม่เห็นด้วยก็ช่วยชี้แนะเพิ่มเติมได้ หรือมีความเห็นอะไรอยากจะสื่อสารกับผู้เขียนก็เชิญได้ในช่องคอมเมนต์ด้านล่าง ขอบคุณล่วงหน้าครับ :) 


รูปภาพเจ้าหมา Courage ที่เป็นตัวการ์ตูนหมาขี้ขลาดซึ่งชอบโดนเจ้านายด่าว่า "เจ้าหมาโง่แกทำให้ฉันดูแย่!"
ที่มา https://img.buzzfeed.com/buzzfeed-static/static/2015-03/3/1/enhanced/webdr09/anigif_enhanced-12960-1425365638-6.gif (30/6/2560)



วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560

นิทานโปรด : ไอ้ลูกเต่ากับสาวใจบุญ

        มีนิทานเรื่องหนึ่งผมชอบมาก ผมจำไม่ได้ว่าฟังมาจากไหน? คับคล้ายคับคลาว่าอ่านมาจากเรื่องตลกที่เขาแชร์กันเล่นบนเฟซบุ๊ค หรือไม่ก็ในตลกคาเฟ่ที่เขาอัดวีดีโอลงเทปลงแผ่นแล้วเขามาโพสต์ในยูทูปอีกที ก็ไม่แน่ใจนัก !!! แต่เอาเป็นว่ามันทั้งสนุกสนานมีและมีสาระให้ครบทั้งความรู้และความบันเทิงตามมาตรฐานของนิทานที่ดีครับ

  เรื่องมันมีอยู่ทำนองว่า กาลครั้งหนึ่งไม่รู้นานมาแล้วขนาดไหน ... 
มีหญิงสาวใจบุญคนหนึ่งกำลังเดินทาง 
ในระหว่างทางนั้นเธอได้พบกับเต่าน้อยตัวหนึ่ง
คลานต้วมเตี้ยมอยู่กลางถนน 
ข้างๆทางนั้นมีสระน้ำอยู่ไม่ไกลนัก หญิงสาวเหลือบไปเห็นสระเข้า 
เธอก็คิดเข้าใจในทันใดว่าเจ้าเต่าน้อยตัวนั้น
คงกำลังเดินไปสระน้ำสระนั้นอย่างแน่นอน
ด้วยความเมตตาเธอรีบเข้าไปโอบอุ้มลูกเต่าตัวน้อยอย่างไม่รังเกียจ
เธอได้จับเอาเต่าไปปล่อยในสระ ผลบุญจากการช่วยเหลือสัตว์
ดลให้เธอรู้สึกอิ่มเอมใจไม่มีประมาณ


นิทานดูเหมือนจะจบแต่เพียงเท่านี้ แต่จริงยังไม่จบ !
เรื่องเขาเล่าต่อไปว่า ...

ฝ่ายเจ้าเต่าน้อยที่ได้รับการช่วยไว้ ได้ออกปากบ่นอุบอิบเป็นภาษาเต่า
ที่แปลออกมาเป็นภาษาคน ตามไสตล์บุคคลาฐิษฐาน (Personification)
ในนิทานว่า

"โถ่วเอ๊ย ! กูอุตส่าห์เดินตั้งครึ่งวัน พากูกลับมาที่เดินซะงั้น !!! *****"

นิทานจบแค่นั้นแบบขำๆไม่ได้ลงท้ายเหมือนนิทานอีสปที่มักจบด้วยการบอกว่า 
"นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ....." ผมเลยชอบมันชวนให้เราไปขบคิดกันเองว่านอกจากความฮาแล้ว
เราได้อะไรจากนิทานตลกเรื่องนี้ เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะคิด จะสะท้อนความเห็น
ตกตะกอนสาระที่ได้จากเรื่องเล่า ตามมุมมอง ตามความคิดของแต่ละคน

อย่างผมเองคิดว่า นิทานเรื่องนี้สอนผมว่าเจตนาดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสติปัญญาด้วยเวลาจะช่วยอะไรใคร และเราเองไม่ควรจะปล่อยให้ความดีงามมาครอบงำใจมากเกินไปนักจนบดบังสติปัญญาชนิดที่ว่าไม่เอาใจเขามาใส่เรา เวลาเราคิดช่วยเหลือใครขึ้นมาบางทีเรามักจะก็ทำไปในนามของความจริง ความดี ความงาม อุดมการณ์ที่เราสมาทานไว้ จนมันครอบงำเราอยู่ พอทำความดีช่วยคนออกไปก็เลยไม่คิดว่าจริงๆแล้วเขาอยากรับความช่วยเหลือเราจริงๆหรือเปล่า เรากำลังทำให้คนที่เราจะช่วยรู้สึกถูกเหยียดให้ด้อยไปหรือเปล่า อะไรทำนองนี้นะครับ 

เคยเจอหลายครั้งเวลาผมไม่เห็นด้วยกับเพื่อนร่วมงาน  มีความเห็นแย้งกัน  ก็จะมีเพื่อนที่คอยประสานความสัมพันธ์ทำหน้าที่คล้ายๆคนกลาง มาย้ำเตือนให้ฟังว่า เพื่อนๆพี่เขาทำไปเพราะ "เจตนาดี" ฟังแบบนี้แล้วผมก็ถอนใจนะครับ แต่ไม่พูดอะไรต่อ ผมทำได้แค่แอบคิดในใจเบาๆว่า "เจตนาดีอย่างเดียวมันไม่พออะ!"

ผู้อ่านละครับ คิดว่าท่านได้เรียนรู้อะไรจากนิทานเรื่องนี้ ? เมนต์ตอบข้างล่างได้ ถ้ามีอะไรอยากแย้งอยากเสริมอยากเพิ่ม ก็เชิญได้ตามสบายเลยครับ แม้แต่ด่าก็ได้นะครับแต่อย่าแรง

ปล. รูปเต่าหินแบกคัมภีร์ที่ยกมา นอกจากมีเต่าเหมือนในนิทานแล้ว ก็คงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เขียนมาเท่าไร แต่เพราะเป็นรูปปริศนาธรรมที่ผมชอบ เห็นครั้งแรกเขาเขียนไว้ที่สวนโมกข์ สอนคนรู้ธรรมะมากแต่ไม่ได้ประโยชน์จากความรู้เปรียบเหมือนเต่าหินตาบอดแบกคัมภีร์เอาไว้ แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเนื้อสาระในคัมภีร์ เห็นภาพนี้แล้วมันเตือนใจดี บางทีเผลอๆรู้มากเข้าเราก็เป็นเหมือนเต่านี้ได้ทุกเวลา

ตามไปดูรูปต้นฉบับและอ่านกลอนปริศนาธรรมประกอบภาพได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
http://www.rosenini.com/spiritualtheatre/07.htm



วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

น้ำนิ่งตลิ่งไหล : มองให้ดีมีแต่ได้ในค่ายสวนโมกข์ปี 60

(ระหว่างการเดินทางมักจะมีเรื่องให้เก็บมาเล่าเสมอๆ ... และนี่ก็เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าประทับใจจากค่ายตามรอยพุทธทาส ณ สวนโมกขพลาราม ของชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2560)

ตั้งแต่มหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปเปิดเทอมตามแบบอย่างเมืองนอก สนองนโยบายรัฐที่นำพาชาติเราเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปีการศึกษา 2558 การจัดกิจกรรมนักศึกษาของทางชมรมก็ได้รับผลกระทบโดยตรงกับการเปลี่ยนเวลาเปิดปิดเทอมเช่นนี้

จากแต่ก่อนตั้งแต่ตอนเราเข้ามาอยู่ครั้งแรก ปี 2555 ชมรมจะไปออกค่ายกันช่วงกลางปีการศึกษา หรือปิดเทอมเล็ก ช่วงประมาณเดือนตุลาคม แต่พอมหา'ลัยเปลี่ยนเวลาปิดเทอมก็ไม่สามารถจัดช่วงเดียวกันนี้ได้ เพราะยังเปิดเทอมอยู่ ส่วนเวลาปิดเทอมเล็กก็เคลื่อนไปอยู่ช่วงปีใหม่ ปลายเดือนธันวา ถึงต้นๆมกราคม

ทางคณะกรรมการชมรมในปีนั้น ประชุมหารือกันได้ข้อสรุปว่า ให้เลื่อนค่ายสวนโมกข์ที่จัดกลางปีออกไปช่วงปิดเทอมใหญ่ปลายเดือนพฤษภาคม ด้วยเหตุผลว่า การจัดค่ายช่วงปีใหม่อาจทำให้นักศึกษามาเข้าร่วมน้อย เพราะเป็นช่วงที่ใครๆก็อยากจะเดินทางกลับบ้านกันในช่วงวันหยุดยาว แม้กระทั่งพวกผู้จัดเองก็รู้สึกอย่างนั้น เราต่างก็อยากใช้เวลากับครอบครัวในช่วงเทศกาล และที่สำคัญค่ายนี้เป็นค่ายที่ทำให้ชมรมมีคนเข้ามาเป็นกรรมการชมรม ทำให้มีทีมทำงาน ทายาทอสูรสืบอายุองค์กรอีกด้วย คนมาน้อยละก็ไม่ดีแน่งานนี้ !!!

ค่ายสวนโมกข์ของชมรมพุทธฯ จึงได้มาจัดช่วงปลายเดือนพฤษภาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จากวันนั้นจนถึงวันนี้นี่ก็เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่ค่ายได้ย้ายเวลามา นับเป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้งานหลายอย่างในค่ายต้องเปลี่ยนไป ดังที่จะได้เจียระไนให้ฟังต่อไปนี้ ....

ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนั้นที่สวนโมกข์เองก็มีงานใหญ่ของทางวัดอยู่แล้ว ซึ่งก็คือ วันล้ออายุ หรือวันคล้ายวันเกิดของท่านพุทธทาสภิกขุผู้ก่อตั้งสำนักสวนโมกขพลาราม วัดธารน้ำไหล วันล้ออายุนี้เป็นวันที่ลูกศิษย์ลูกหาจากทั่วสารทิศที่มีความศรัทธาในตัวท่านพุทธทาสจะมาร่วมบำเพ็ญบุญปฏิบัติธรรม อดอาหารดูใจ ฟังธรรมบรรยายเทปเสียงท่านอาจารย์กันที่วัด จากชื่อเสียงและความแพร่หลายของผลงานท่านพุทธทาส ทำให้คนที่มาย่อมมีไม่น้อย ไม่เพียงเท่านั้นยังมีคณะอื่นที่เขาเกณฑ์คนมาร่วมอีก อย่างมหาวิทยาลัยท้องถิ่น และโรงเรียนแถวนั้น ที่ได้งบประมาณจากรัฐมาช่วยกันพาเด็กร่วมกิจกรรมกับทางวัด มีการเปิดฐานอบรม แนะนำท่านพุทธทาสที่เป็นคนสำคัญของท้องถิ่น จึงไม่ได้มีแค่ผู้ศรัทธาแต่ยังมีคณะนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปมากหน้าหลายตามาร่วมกันในช่วงวันล้ออายุนี้

แน่นอนว่าการจัดค่ายในช่วงวันล้ออายุ ที่มีคนเยอะแยะแบบนี้ ย่อมมีผลกระทบกับกิจกรรมของทางชมรม จากแต่ก่อนที่ทำงานกันแบบวางแผนเรียบร้อย แล้วคอยคุมงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ปรับเปลี่ยนอะไรกันก็เล็กน้อย กลายเป็นว่า การทำงานลักษณะนี้ใช้ไม่ได้แล้วครับ

ความที่ทางวัดมีกิจกรรมเอง วิทยากรในวัดก็มีไม่พอที่จะมาทำงานรับรองค่ายของเรา ทำให้สตาฟที่เป็น นศ.เองต้องก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในการนำทำกิจกรรมกันเองด้วยไหวพริบปฏิภาณ ทักษะยุทธ์ของตัวเอง และต้องวิ่งหาพระวิทยากรที่คิวแน่น คอยจัดตารางเวลาใหม่ แผนการที่วางไว้ล่วงหน้ามานี้แทบจะวางทิ้งไว้ได้เลย คนทำงานต้องคอยประชุมวางกิจกรรมกันใหม่แทบจะวันต่อวันเสมอ

ผมเองที่เคยมีประสบการณ์เคยร่วมทำค่ายมาในช่วงก่อนเปลี่ยนผ่านก็เห็นว่า พอย้ายมาจัดช่วงวัดมีงานใหญ่แบบนี้แล้ว ทำให้ทีมงานต้องทำงานหนักกันกว่าแต่ก่อน ช่วง 2 ปีหลังที่ผ่านมาโชคดีหน่อยได้พระอาจารย์จากสวนโมกข์ที่รู้จักกันเมตตา มาอนุเคราะห์นำค่ายเป็นหลักให้เลยเหนื่อยน้อยลงหน่อย

ผมเองเคยแอบได้ยินพระอาจารย์รูปดังกล่าวออกปากบอกกับน้องผู้จัดค่ายทำนองว่า "ถ้ามาช่วงล้ออายุนี้ละก็ ... คุณทำใจไว้เลยนะ ตารางของคุณมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน" ถึงพระอาจารย์จะไม่ใช่เหมือนพ่อท่านคล้ายแต่คำพูดของท่านก็เป็นไปตามนั้นคล้ายดังมีวาจาสิทธิ์

ทั้งความที่ผู้คนเยอะ มีงานกิจกรรมแยะ มีเวลากับสภาพอากาศหน้าฝนที่แปรปวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้กิจกรรมที่วางมาต้องวางไว้ดังอาจารย์ว่า สตาฟต้องทำงานกันหนักคอยประชุมงานหารือกันวันต่อวัน ไปจนถึงขั้นไม่เว้นช่วงพักเบรกระหว่างกิจกรรม

ในความวุ่นว่าย และดูน่าเหนื่อยหน่ายแบบนี้จริงๆแล้วมันก็มีความท้าทาย และข้อดีในข้อเสียอยู่ด้วย อย่างที่เราสัมผัสได้ก็คือ กิจกรรมได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้มีความคิดสร้างสรรค์ หยืดหยุ่นเหมาะสมกับผู้รับ

จากแต่ก่อนที่เน้นการฟังเทศน์ฟังธรรมที่เน้นการฟังแต่ฝ่ายเดียว โดยอาศัยพระอาจารย์จากสวนโมกข์เป็นคนนำ ทีนี้มาช่วงล้ออายุพระท่านไม่ว่างมานำ เพราะต้องไปนำคณะอื่นๆด้วย พวกเราเองก็ต้องหาเกมนันทนาการ หรือกิจกรรมแนวจิตตปัญญาศึกษา(Contemplative Education)ที่สามารถถอดบทเรียนมีสาระมาเล่นกันเอง ที่นำมาใช้มากที่สุดก็คือ การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) และ สุนทรียสนทนา (Dialogue) ที่ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชนิดที่ใจถึงใจสอดแทรกการมีสติเหมือนกับการเจริญภาวนาในวิถีพุทธ ปีแรกที่นำกิจกรรมพวกนี้เข้าไปก็มีเสียงบ่นจากเพื่อนสะท้อนกลับมาว่า "ทำไมให้คุยกันเยอะจัง" คงเพราะเราต่างก็คุ้ยชินกับการเรียนรู้แบบสื่อสารทางเดียว ไปวัดก็ฟังพระท่านเทศน์อย่างเดียว ไม่เคยได้ลองนั่งคุยแลกเปลี่ยนกับท่านแบบคนธรรมดาด้วยกัน แต่พอได้ลองผิดลองถูกทำกันดูก็เห็นผลตอบรับที่ดีมากขึ้น จนปีถัดมาวงสนทนาแบบนี้ก็ได้กลายเป็นกิจกรรมหลักๆของค่ายในปีล่าสุด

เกมแฟนพันธุ์แท้ค่ายสวยโมกข์ ที่คิดปัญหาถามตอบขึ้นมาเพื่อความสนุกสนานกระชับสัมพันธ์ โดยมีนักศึกษาผู้จัดขึ้นมานำทำกิจกรรมกันแบบกันเองๆ
มีกิจกรรมที่เรียนรู้โดยเน้นไปที่บทบาทของผู้เรียน และการทำงานเป็นกลุ่มร่วมกันมากขึ้นในหมู่ นศ.ทั้งกลุ่มของสตาฟและผู้เข้าร่วม ช่วยให้ได้กระชับสัมพันธ์ไปพร้อมๆกันด้วย กิจกรรมแบบนี้เองที่ช่วยให้เราคิดต่างกันได้แต่ยังมีการดูแลความรู้สึกของกันและกันเวลาแสดงความเห็นต่างออกไป ก็สามารถพูดออกมาได้ไม่ต้องเกรงใจ เพราะเราต่างได้เผยใจกันแล้ว ไม่มีการติดใจกันภายหลังเมื่อมีข้อโต้แย้งในการทำงานของสตาฟ

บรรยากาศการนั่งพูดคุยล้อมวงด้วยกระบวนการสานเสวนา หรือสุนทรียสนทนา (Dialogue) ที่ใช้เป็นกระบวนการถอดบทเรียนและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวค่าย

ผมเห็นความคิดสร้างสรรค์ของเพื่อนๆรุ่นพี่รุ่นน้องที่ร่วมงานผ่านมามีกันมากมาย บางเรื่องเราคิดแทบไม่ได้ แต่พอได้หลายหัว หลายคนมาช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ ความสร้างสรรค์ก็ปรากฏให้เห็น อย่าบางเรื่องมันล้ำจริงๆครับ เราคิดแค่ว่าพี่สตาฟในฐานะผู้จัด ต้องเป็นคนหากิจกรรม หาบทเรียนมาให้น้อง นศ.ที่เป็นผู้เข้าร่วม แต่ในปีนี้มีเพื่อนคิดว่าควรมีกิจกรรมให้น้องๆได้ขึ้นมาสอนบทเรียนกับพี่ๆบ้าง พอได้ลองดูก็เห็นว่ามันน่าประทับใจจริงๆ น้องๆมีความคิดที่ดีไม่แพ้พี่ๆ ชวนให้นึกถึงพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าดูแคลนไฟว่ากองเล็ก อย่าดูถูกสติปัญญาของเด็กๆ อย่าปรามาสพระบวชใหม่ ฯลฯ

(ในค่ายปีก่อนที่จะเปลี่ยนเวลาจัด ก็เคยมีประเด็นเห็นต่างของคณะทำงานในเรื่องทำนองนี้ด้วย เพราะมีการเอาน้อง นศ.ปี1 มาร่วมทีมงานสตาฟ แต่มีรุ่นพี่เห็นว่าน้องเขาโตเร็วเกินไป เขาควรจะได้สัมผัสความรู้สึกของการเป็นผู้รับก่อน ไม่ควรข้ามขั้นมาเป็นผู้จัดเลย ... ผมว่าถ้าเอากิจกรรมน้องสอนพี่ของปีนี้ไปใช้ คงช่วยแปรเปลี่ยนประเด็นขัดแย้งนี้ได้อย่างสร้างสรรค์ไม่น้อย)

ต่างคนต่างที่มาต่างคณะมาร่วมงานกันก็มีความรู้มีสกิลที่หลากหลาย มีตั้งแต่สายวิทย์ยันสายศิลป์ ต่างคนต่างก็นำเอาความรู้ความสามารถของตัวเองมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำกิจกรรมค่าย เพื่อนพุทธคณะแพทย์แผนไทยนำเอาวิชาฤๅษีดัดตนมาแนะนำวิธีดูแลสุขภาพให้กับเพื่อนๆ มีน้องค่ายเล่นซนโดนแมลงกัดต่อยเพื่อนคณะพยาบาลก็คอยดูแล เพื่อนพุทธจากคณะศิลปกรรมทางการแพทย์ก็คอยเก็บภาพบรรยากาศสวยๆ คอยทำงานประชาสัมพันธ์ออกแบบเสื้อยืด เพื่อนพุทธจากวิทยาลัยศาสนศึกษาก็คอยช่วยแบ่งปันความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธอย่างเป็นวิชาการ เป็นต้น

เพื่อนจากคณะแพทย์แผนไทยประยุกต์ ศิริราชพยาบาล กำลังสาธิตกายบริหารแบบฤๅษีดัดตน

นอกจากความสร้างสรรค์ แล้วความหยืดหยุ่นก็เป็นข้อดีอีกอย่างในค่ายที่สัมผัสได้ การประชุมกันวันต่อวัน กิจกรรมต่อกิจกรรมทำให้เราได้ประเมิณสถานการณ์หน้างาน ไปจนถึงสังเกตสังการณ์อาการของน้องๆผู้เข้าร่วมกิจกรรม ดูว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง ฟังแล้วเบื่อกันไหม ดูง่วงขนาดไหน แล้วผู้จัดก็เอาสิ่งที่สังเกตได้มาปรับใช้ในการคิดกิจกรรมต่อๆไป ช่วยให้ผู้เรียนรู้มีสภาพที่พร้อมเต็มที่กับแต่ละกิจกรรม ตลอดถึงมีเวลาว่างมากขึ้นให้คนในค่ายได้ทำความรู้จักกันและสัมผัสบรรยากาศรอบๆวัดอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งให้คนละอารมณ์กับมีคนคอยนำชม

พี่โจ้ ผู้จัดการประสานงานโครงการจิตอาสาของสวนโมกข์กรุงเทพฯ กำลังพูดคุยกับน้อง นศ.

ข้อดีอีกประการที่ได้รับในการมาช่วงวันล้ออายุคือ ทำให้พวกเราได้เห็นความสำคัญของท่านพุทธทาสมากขึ้น เราได้เห็นว่าผลงานของท่านมีอิทธิพลต่อผู้คนและสังคมขนาดไหนพอให้เรามาใช้สวนโมกข์ทำกิจกรรมเช่นนี้ ในช่วงงานวันล้ออายุนี้เองยังเป็นช่วงที่มีคณะธรรมภาคีจากภายนอกมาทำกิจกรรมภายในด้วย ปีนี้น้องประธานค่ายแกมีความคิดดี แกไปเชิญพี่ๆที่เป็นฆราวาส คนรุ่นใหม่ทำงานจิตอาสาที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับน้องๆ นศ.ของคณะเรา ทำให้เราเห็นว่าธรรมะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของคนธรรมดาได้อย่างไร และเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ นศ.ในการนำเอาธรรมะไปใช้กับชีวิตตนรวมถึงทำประโยชน์ให้สังคม

คณะลูกศิษย์สวนโมกข์ และนักวิชาการชาวต่างชาติที่มาเสวนาถ่ายรูปร่วมกับพระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร) รักษาการเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม)

ที่พิเศษสุดๆก็คือ ปีนี้ทางหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ หรือคณะสวนโมกข์กรุงเทพฯ ได้มาจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ เนื่องในโอกาส ๑๑๑ ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ เช่น การเสวนาพุทธธรรมกับสังคม ที่นำเอานักวิชาการ และลูกศิษย์ลูกหาสวนโมกข์ที่เป็นชาวต่างชาติ ที่ได้รับอิทธิพลจากงานของท่านพุทธทาส มาพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์การณ์ ทำให้เราได้เห็นว่าท่านพุทธทาสมีอิทธิพลในระดับสากลและคุณปการต่อพุทธศาสนาขนาดไหน และที่ชาวค่ายเราประทับใจสุดๆก็คือกิจกรรม 'ถึงธรรมเมื่อฮัมเพลง' ที่เขาแต่งเพลงธรรมะมาร้องแสดงสดกันที่ลานหินโค้ง เป็นการต่อยอด สืบสานความคิดของท่านพุทธทาส ที่อยากจะให้ธรรมะเผยแพร่ออกไปในสังคมปัจจุบันอย่างสมสมัย ทำให้คณะของเราได้ร่วมกิจกรรมแสนพิเศษนี้ไปด้วย ถ้าหากไม่มาช่วงนี้ก็คงไม่ได้พบอะไรแบบนี้ มีเพื่อนหลายคนประทับใจกลับจากค่ายไปยังหามาฟังกันต่อกดไลค์กดแชร์จากยูทูปกันให้เห็นบนเฟซบุ๊ค


(เพลงในวีดีโอข้างบนนี้ชื่อ  'เผลอ'  เป็นหนึ่งในเพลงธรรมะที่คณะเราฟังกันบนลานหินโค้งจนติดหูติดใจ นำเอาไปร้องไปบอกต่อกัน เพลงนี้เขาเอาเรื่องการเจริญสติรู้ทัน เวทนา และผัสสะมาเขียน ผสมกับเพลงรำวงที่ติดหูอย่างเพลง ตามองตา...)


การที่เวลาเปลี่ยน ปัจจัยอะไรต่างๆเปลี่ยน ทำให้รูปแบบการทำงานค่ายต้องเปลี่ยนไปตามแบบนี้ ส่งผลกระทบให้สตาฟผู้จัดต้องทำงานหนักกันมากขึ้นเหนื่อยกันมากขึ้น ปีนี้เราเห็นน้องๆสตาฟทำงานด้วยความตั้งใจมาก ทุกๆคืนพวกเขาต้องหลับทีหลังน้องที่เป็นผู้เข้าร่วม เพื่อประชุมงานกัน ความเหนื่อยล้าส่งผ่านมาทางสีหน้าแววตา ตอนเช้ามืดเวลาสวดมนต์ทำวัตรก็มีบางคนที่ลุกแทบไม่รอด แต่งานที่ออกมาของพวกเขานั้นผมเห็นว่าช่างเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ และความประทับใจชนิดที่ค่ายจบอารมณ์ไม่จบ

พวกเรากลับมาจากค่ายกันแล้วแต่ต่างก็ยังนึกถึงช่วงเวลานั้นๆ โพสต์รูปเล่น เขียนสถานะถ่ายทอดเรื่องราวบนเฟซบุ๊ค หรือบนบล็อกอย่างที่ผมเขียนอยู่ บางคนก็ตั้งหน้าตั้งตารอช่วงเวลาในปีถัดไปที่จะได้มาพบกับเพื่อนๆใหม่ และได้ทำอะไรแบบนี้ร่วมกันอีก มิตรภาพได้ถูกสร้างขึ้นไปพร้อมกับการเรียนรู้ธรรมะเรียนรู้ธรรมชาติของชีวิต แม้ว่าการมาออกค่ายแบบนี้มันจะเหนื่อย แถมบางคนยังเสียเวลาเรียน แต่ผมคิดว่าพวกเขาก็ได้อะไรไม่น้อย จากการมาในลักษณะเช่นนี้ เหมือนที่ท่านพุทธทาสสอนว่า "มองให้ดี มีแต่ได้ไม่มีเสีย ..."






ขอขอบคุณเพื่อนๆ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ครูบาอาจารย์ทุกท่านที่มาร่วมงานค่ายด้วยกันตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ...

หวังว่างานเขียนชิ้นนี้นอกจากจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวความประทับใจแล้ว ยังอาจจะมีประโยชน์กับคนอื่นๆ ในฐานะที่ได้แบ่งปันประสบการณ์ ข้อคิดเห็นที่ได้จากการทำงานให้กับเพื่อนๆด้วยเช่นกัน

ขอบพระทุกท่านคุณที่เข้ามาอ่านครับ มีประเด็นน่าสนใจอะไร ก็เชิญแลกเปลี่ยนวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่ชอบใจก็ด่าได้ (แต่อย่างแรง) เชิญในช่องคอมเมนต์ด้านล่างครับ :)



วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

น้ำนิ่งตลิ่งไหล : คนเปลี่ยนไปแต่ใจดวงเดิม

(หนึ่งในเรื่องเล่าจากค่าย ตามรอยพุทธทาส ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี  พ.ศ. 2560)

ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) มีกิจกรรมที่มีความเป็นมายาวนานสานต่อกันรุ่นต่อรุ่นมาแล้วหลายปีอย่างการออกค่ายที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม ผมไม่ทราบปีที่แน่นอนว่าค่ายนี้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร? (หากมีโอกาสผมอยากทำพงศาวลี หรือกาลานุกรมชมรมไล่เก็บข้อมูลประวัติศาสตร์เหล่านั้นไว้จริงๆครับ แต่ยังไม่มีเวลาเสียที) แม่ครัวที่สวนโมกข์เองเล่าให้ฟังว่า

"ป้าทำกับข้าวให้พวกชมรมพุทธกินมาเป็นสิบๆปีแล้ว พวกนี้เขามากันทุกปี

ผมเข้ามาเรียนที่มหา'ลัย ปีแรกและร่วมกิจกรรมชมรมฯ เมื่อปี 2555 ปีนี้ 2560 มีโอกาสได้ร่วมค่ายสวนโมกข์นี้มาแล้ว 5 ปี 5 ค่าย เห็นอะไรๆเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควรตามเวลายุคสมัยที่ผ่านไป
พระอาจารย์มานพ (ในปัจจุบัน) นำทางคณะเพื่อนพุทธ หรือชาวค่ายชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขณะลงจากเขานางเอ

ปีนี้พระจากสวนโมกข์ที่มาร่วมนำกิจกรรมในค่ายเรา คือ พระอาจารย์มานพ มานิโต ผมเห็นรูปของท่านในอัลบั้มภาพถ่ายของชมรม อายุประมาณสิบกว่าปีมาแล้ว ในรูปอาจารย์ยังเป็นพระหนุ่ม

ภาพถ่ายพระอาจารย์มานพ มานิโต สมัยเป็นพระหนุ่มจากอัลบั้มค่ายสวนโมกข์ ปี พ.ศ. 254x ที่เก็บรักษาไว้ที่ห้องชมรมพุทธฯ

ช่วงเวลาหนึ่งในค่ายขณะนั่งรถเดินทางด้วยกัน ผมพลันนึกถึงเรื่องรูปถ่ายพระอาจารย์ตอนหนุ่มขึ้นมาได้ ก็เลยถามพระอาจารย์ว่า ชมรมพุทธสมัยก่อนตอนที่อาจารย์เจอ เป็นไงบ้าง? ท่านบอกว่า

 "คนละแบบกับพวกคุณเลย!

อาจารย์ยังบอกอีกว่า สมัยก่อนนักศึกษาชมรมพุทธฯเรียบร้อยมาก แม้พระอาจารย์ที่เป็นพระหนุ่มในตอนนั้นยังสัมผัสได้ว่าพวกเขาไม่ธรรมดา !

เท่าที่ผมเข้าใจ ผมคิดว่าอาจารย์พยายามจะบอกว่า พี่ๆชมรมของผมรุ่นก่อน พวกเขารู้เรื่องธรรมะดี และรู้จักธรรมเนียมปฏิบัติมารยาทชาวพุทธแบบจารีตนิยมผิดกับพวกคณะที่มาในปีนี้

เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากคำที่ใช้เรียกพระก็ยังผิดๆถูกๆ  มีพวกเราเผลอไปออกปากเรียกพระสวนโมกข์ว่า พระเจ้าถิ่น แถมใช้คำกราบนมัสการ กราบนิมนต์ กราบอาราธนาผิดๆถูกๆ !?! จนพระอาจารย์ต้องตักเตือนออกไมค์แบบขำๆแซวกันทีเล่นทีจริง ทำเอาน้องคนพูดคงจำฝังใจไปอีกนานนนนน แสนนานนนนน


ในคืนสุดท้ายของค่ายทุกๆปี จะเป็นกิจกรรมล้อมวงคุยเปิดใจกัน ปีนี้มีพี่ที่มาด้วยกัน แกเผยความรู้สึกออกมาว่า เขาเห็นค่ายนี้ไม่เหมือนค่ายธรรมะอื่นๆที่เขาเคยไป เขาแปลกใจมากกับการที่เห็นผู้คนที่มีความหลากหลาย มาอยู่ในค่ายธรรมะแบบนี้ มีทั้งน้องนักศึกษาใสๆทั่วไป พระภิกษุสงฆ์นักปฏิบัติ นักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษาชาวต่างชาติ ศิลปิน นักร้องแร็พเพอร์ฯลฯ (ปีนี้ยังพิเศษหน่อยตรงที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม กับพระอาจารย์นักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกมาร่วมด้วย) แต่ละคนมีคาแรคเตอร์เป็นตัวของตัวเองสุดๆ  ดูมีความคิดเล่นเห็นต่างกันไม่น้อย พี่เขายังบอกว่าบางคนนี้พอว่างคิดจะรำมวยจีนก็ลุกขึ้นมารำไม่เกรงสายตาใคร (คนที่พี่เขาว่าคือผมเองแหละ ขอสารภาพ พอดีช่วงนี้กำลังหัดเพลงมวยไทเก็ก พอว่างละมันอดซ้อมมือไม่ได้)

มันเกิดอะไรขึ้นจากแต่ก่อน ทำไมคนถึงเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ??? 

ผมตอบไม่ได้โดยทันทีในบทความนี้ แต่ผมคิดเอาแบบตีคลุมว่าคงมีปัจจัยอะไรหลายๆอย่างที่ผันแปรไปตามกาลเวลาทำให้สังคมเปิดกว้างมีความหลากหลาย มีพลวัต (dynamic) มากขึ้น แม้แต่ชมรมฯเองก็โดนกระแสแห่งความผันแปรอันเป็นอนิจจลักษณะนี้เข้าซัดใส่

ท่านพุทธทาสสอนว่า "มองให้ดีมีแต่ได้ไม่มีเสีย" ผมก็อยากจะเขียนบอกเล่าให้เรามองความเปลี่ยนแปลงของชมรมนี้ไปในทางที่สร้างสรรค์นะครับ การที่คนหลากหลายรูปแบบได้เข้ามาเรียนรู้ในค่ายธรรมะแบบนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ธรรมะได้แผ่กว้างออกไปในผู้คนมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่คนธัมมะธัมโม ที่มีจริตนิสัยหรือศรัทธาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

พี่ชมรมบางท่านได้อ่านบทความนี้อาจรู้สึกเสียดายนะครับ ที่คนเข้ามาชมรมแลดูมีเลเวลชาวพุทธลดลงกว่าแต่ก่อน ... แต่ถ้ามองให้ดีนี่เป็นโอกาสให้เขาได้เข้ามาเรียนรู้ครับ ค่ายปีนี้โชคดีที่ผู้จัดได้ติดต่อพระอาจารย์ที่มีความเข้าใจ เข้าถึงคนรุ่นใหม่ และมีเทคนิควิธีการในการถ่ายทอดความรู้

ขณะที่น้องออกปากเรียกพระว่าเจ้าถิ่น นั้นพระอาจารย์ท่านก็มองอย่างขำๆกันนะครับ พระอาจารย์ท่านบอกน้องว่าคำนี้ที่วัดใช้เรียกสุนัขที่หวงเขตแดน ผมคุยกับท่านภายหลัง จึงรู้ว่าท่านเองก็เข้าใจธรรมชาติที่ห่างเหินจากวัฒนธรรมชาววัดของน้องๆ ท่านเมตตาตักเตือนให้จำโดยอาศัยการพูดด้วยอารมณ์ขันไม่ทำให้เขาเป็นปมเจ็บใจ ผูกใจกลัว จนขาดความมั่นใจในตัวเอง เวลาไปมีปฏิสัมพันธ์กับพระในโอกาสต่อไป แถมด้วยความที่โดนเทศน์ขำๆแบบนี้ยิ่งช่วยให้เขาจำบทเรียนนี้ได้ดีมากขึ้นอีกด้วย

ศาสนามีรูปแบบประเพณีพิธีกรรม จรรยามารยาท เป็นตัวรักษาแก่นแท้คือคำสอนที่ทำให้รู้จักตัวเอง และเห็นความไม่มีตัวตนจนคลายความยึดมั่น ไม่ใช่ว่าเปลือกนอกไม่สำคัญ แต่ผมมีมุมมองส่วนตัวว่า พอเวลาผ่านไปตัวรูปแบบภายนอกอาจจะต้องปรับไปตามบริบทของช่วงเวลาเพื่อรักษาตัวแก่นแท้ แต่ตัวแก่นแท้นี้เองครับที่ไม่น่าจะเปลี่ยนอย่างที่พระท่านเทศน์ว่าธรรมะนี้เป็น "อกาลิโก" แปลว่าเป็นของไม่จำกัดกาล หรือขึ้นกับเวลายุคสมัยใด ธรรมะเป็นเรื่องความจริงธรรมชาติของมนุษย์ แม้แต่คนไม่นับถือศาสนา เขาก็สามารถเรียนรู้ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตได้ สามารถเป็นคนไม่เห็นแก่ตัวได้ คนนับถือศาสนาอย่างยึดมั่นเสียอีก ที่อาจจะมีความลำพองใจคับแค้นใจมากกว่าคนธรรมดาทั่วไปถ้าหากไม่ได้ฝึกปฏิบัติเฝ้าระวังใจตนเอง ใช่ไหมครับ ? ....

น้องๆชมรมที่เข้ามารุ่นใหม่ๆ อาจจะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น เฮฮาสนุกสนานมากขึ้น รู้ธรรมะรู้จักศาสนาพุทธน้อยลง แต่ผมเชื่อว่าเขามีศักยภาพ มีความพร้อมที่จะทำความรู้จักธรรมชาติของตนเอง และก็มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้นำเอาแก่นของธรรมะไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับชีวิตและสังคม

ถึงแม้คนที่มารุ่นหลังๆจะมีคาแรคเตอร์เปลี่ยนไปแต่ผมเข้าใจว่าจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ และตัวธรรมะที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่พวกเขามาเรียนรู้นี้ยังคงเหมือนเดิมครับ

ในค่ายปีนี้ยังมีเรื่องราวความสนุกสนาน ความประทับใจ ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ไว้โอกาสหน้าจะมาเล่าให้ฟังอีกนะครับ


ปล.ขอขอบคุณน้องเมย์ที่เอื้อเฟื้อถ่ายภาพบันทึกความทรงจำ ให้เราก็อปมาวางในบล็อก

และ ผมหวังว่างานเขียนลักษณะนี้นอกจากจะช่วยให้เราได้บอกเล่าเรื่องราวความประทับใจแล้ว ยังอาจจะมีประโยชน์กับคนอื่นในฐานะที่เป็นการบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์ ข้อคิดเห็นที่ได้จากการทำงานให้กับเพื่อนๆด้วย

ขอบพระทุกท่านคุณที่เข้ามาอ่านครับ มีประเด็นน่าสนใจอะไร ก็เชิญแลกเปลี่ยนวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่ชอบใจก็ด่าได้ (แต่อย่างแรง) เชิญในช่องคอมเมนต์ด้านล่างครับ :)

วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เพื่อนพุทธร่วมรำลึก อาจารย์ปาริชาด สุวรรณบุบผา

วันที่ 20 พฤษภาคม 2560 ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดพิธีทำบุญบังสุกุล ถวายภัตตาหารเลี้ยงพระ เพื่อรำลึก และอุทิศส่วนกุศลให้กับ อาจารย์ปาริชาด สุวรรณบุบผา อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมผู้ล่วงลับ  อาจารย์ปาฯ ของเพื่อนๆชมรมพุทธ หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาด สุวรรณบุบผา เป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีชื่อเสียงและผลงานเป็นที่ประจักษ์ในงานวิชาการด้านศาสนา และแวดวงคนทำงานด้านการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ซึ่งจากไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 

ภาพถ่าย อ.ปาริชาด ในค่ายเพื่อนพุทธฯ ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2558
ที่มา เฟซบุคแฟนเพจ : เพื่อนพุทธฯ มหิดล (ศาลายา)  เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/PreCrpmu/

นักศึกษาชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย 'หนึ่ง' ประธานชมพุทธฯประจำปีการศึกษา'59  และเพื่อนๆกรรมการชมรมฯ ได้คิดริเริ่มงานบุญนี้ขึ้น โดยคณะกรรมการชมรมได้มีฉันทามติร่วมกันเชิญเอาอัฐิของอ.มาใส่โกฏิตั้งไว้บูชาที่ห้องชมรม จึงได้มีการทำบุญบังสุกุลกระดูกอาจารย์ ถวายเพลพระ และเชิญสมาชิกชมรมหน้าใหม่หน้าเก่า ไปจนถึงว่าที่อาจารย์ที่ปรึกษาคนใหม่อย่าง 'อาจารย์เล็ก'  (ดร.นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร สถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล) มาร่วมกิจกรรมในวันนี้

หนึ่ง นศ.สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ ประธานชมรมพุทธศาสตร์ กับ อ.เล็ก หรือ ดร.นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร สถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 




บรรยากาศของงานที่จัดขึ้นที่ห้องชมรมพุทธศาสตร์เป็นไปอย่างเป็นกันเอง สมาชิกเพื่อนสนิทหน้าใหม่หน้าเก่า รุ่นเล็กรุ่นใหญ่ต่างมาพร้อมหน้าร่วมบุญกัน หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนา ฟังพระสวดธรรมนิยามสูตร ถวายภัตตาหารพระ และผ้าบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับแล้ว เหล่าสมาชิกเพื่อนๆชมรมพุทธ หรือกลุ่ม 'เพื่อนพุทธ' ก็ยังได้นั่งล้อมวงกินข้าว พูดคุยแนะนำตัวทำความรู้จักกับ อ.ที่ปรึกษาคนใหม่ด้วยบรรยากาศสบายๆ 
อ.เล็กถามถึงแรงจูงใจของ นศ. ในชมรมว่ามีความคาดหวังอะไรที่ทำให้มาที่ชมรมนี้ มีหลายคำตอบที่น่าสนใจ หนึ่งในเพื่อนพุทธรุ่นใหญ่อย่าง 'พี่รุ้ง' ได้แบ่งปันว่าลองตัดสินใจตามเพื่อนมาร่วมกิจกรรมเข้าค่ายกับทางชมรมดู พออยู่ๆไปก็ได้เรียนรู้แก่นแท้ของศาสนาที่สอนวิธีแก้ปัญหาความทุกข์ในชีวิตมากขึ้น และสิ่งที่ยึดเหนี่ยวคนในชมรมนี้เข้าไว้ด้วยกันไม่ใช่ศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นมิตรภาพ ความเป็นเพื่อนกันเสียมากกว่า  

(จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับทางชมรมของผมเองก็คิดว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ คนนับถือศาสนาเดียวกันก็อาจชอบศาสนาเดียวกันคนละแบบคนละแง่มุมก็ได้ อย่างเช่น มีพระอาจารย์ที่ศรัทธาไม่เหมือนกัน มีคตินิกายที่นับถือแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทำให้คนคิดต่างกันแล้วยังคุยกันได้มาทำอะไรร่วมกันได้ถ้าไม่ใช่เพราะถูกอำนาจมาบังคับ  ก็เพราะมิตรภาพ ความเป็น'เพื่อน'กันนี่แหละครับ ที่ทำให้คนเราอยากมาพบกันอยากมาใช้เวลาทำอะไรร่วมกัน)

หลังจากได้รู้จักกันแล้ว อ.เล็ก และแขกพิเศษของชมรมที่เชิญมาร่วมบุญครั้งนี้ คือ ป้าไฝ (คุณอรัญญา) เพื่อนสนิทของ อ.ปา ก็ยังได้แบ่งปันเรื่องราวความทรงจำเกี่ยวกับ อ.ปาฯ ให้กับเพื่อนๆ นศ.ได้รับฟัง ป้าไฝเล่าเรื่องการต่อสู้กับโรคร้ายในช่วงชีวิตระยะสุดท้ายๆของ อ.ปาฯ ด้วยธรรมะและกำลังใจ 

 ส่วน อ.เล็กที่ได้ร่วมงานในสถาบันฯเดียวกันและสนิทสนมกับ อ.ปาฯ ได้เล่าถึงโครงการที่ อ.ปาฯทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนา ลดความรุนแรงและขัดแย้ง โดยนำเอากระบวนการ 'สานเสวนา' (Dialogue) มาใช้ ซึ่งไม่ใช่แค่การพูดคุยแลกเปลี่ยนเสวนาธรรมดา แต่เป็นการพูดคุยที่เน้นการฟังเพื่อความเข้าอกเข้าใจกันและกันระหว่างผู้พูดผู้ฟังมากกว่าการมุ่งไปที่เนื้อหาหรือประเด็นที่คุย (กระบวนการเช่นนี้ถูกนำไปใช้ในงานที่เกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง การเสริมสร้างความเข้าใจ และการศึกษาสมัยใหม่ที่เน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน) 

เพื่อนพุทธ นาย'กุลธน' นศ.นักกิจกรรมยังได้เล่าถึงการทำงาน และความน่ารักของอ.ที่เขาได้สัมผัสให้เพื่อนๆฟัง ผมจำได้ว่าเขาเล่าประมาณว่า เขาทราบว่าอ.ปาฯทำงานหนักเพราะปั่นจักรยานผ่านออฟฟิตของ อ.ปาฯ เวลาดึกๆทีไรก็มักจะเห็นไฟเปิดไว้เสมอ และเขายังประทับใจกับบุคคลิกภาพที่เป็นมิตรของอ. แกบอกว่า"ผมพบเจอ อ.ปาฯกี่ครั้งก็จะเห็นรอยยิ้มของแกเสมอ" ไม่ได้เห็นหน้าบูดบึ้งเลย 

อ.เล็กแสดงความยินดีที่ได้มาช่วยสานต่องานของ อ.ปาฯ ดูแลชมรมนี้ และหวังว่าจะได้ร่วมกิจกรรมดีๆกับทางชมรมต่อไป อ.ฝากว่าถ้าหาก นศ.มีอะไรให้มาคุยกันได้อย่างสบายๆเป็นกันเองตรงไปตรงมา อ.จะไม่วางตัวแบบมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับ นศ. แต่จะให้ความสนิทสนมเป็นกันเอง อ.เล็กเผยว่ารู้สึกดีใจและตื่นเต้นที่จะได้มาร่วมกิจกรรมดีๆเช่นนี้ และหวังว่าจะได้มาร่วมงานดีๆเช่นนี้กันต่อในโอกาสถัดไป




ชีวิต อ.ปาฯ สะท้อนให้เห็น แบบอย่างการอุทิศตนทำงานเพื่อสังคม  การนำศาสนธรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิต ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ ความเป็นอนิจจังของชีวิต ความตายของ อ. เป็นมรณานุสติแก่เพื่อนๆ ญาติมิตร ตลอดถึงลูกศิษย์ลูกหา ส่วนด้านผลงานของ อ.ปาฯ ก็ทำให้เราเห็นว่าศาสนาไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือเข้าหาความสุขส่วนตัวของปัจเจกบุคคล หรือเป็นชนวนให้เกิดความแบ่งแยกกันเท่านั้น แต่ยังมีส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ช่วยลดความรุนแรง ความขัดแย้ง  งานของ อ.ปาฯ ที่ทำโครงการเกี่ยวร่วมมือสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างผู้นำทางศาสนา การสานเสวนา งานเกี่ยวกับศาสนาสัมพันธ์ ที่อ.ได้ทำไว้แสดงให้เห็นว่า ศาสนา เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในโลกสมัยใหม่ ถึงแม้ว่า อ.จะจากไป แต่ก็ยังคงมีเพื่อนฝูงพี่น้อง ญาติมิตร ลูกศิษย์ลูกหาที่ช่วยสานต่อปณิธานเพื่อสังคมของ อ. มากมาย อย่างคนใกล้ตัวที่ผมรู้จักก็คือ ลูกศิษย์อ. กลุ่ม 'เพื่อนพุทธ' ชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นี่เองแหละครับ



พระไพศาล วิสาโล พระภิกษุนักคิดนักเขียนชื่อดัง ผู้เป็นกัลยาณมิตรและเพื่อนร่วมงานได้เขียนถึง อาจารย์ปาฯไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของ อ.ว่า

ประธานชมรมกำลังทำหน้าที่บรรจุอัฐิอาจารย์ปาริชาด ตั้งไว้บูชาที่ห้องชมรม
"ใครที่รู้จักอาจารย์ปาริชาด ย่อมประทับใจในความเป็นมิตรซึ่งมาพร้อมกับรอยยิ้มของอาจารย์ และหากได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ ก็จะพบว่าในความสุภาพและความอ่อนโยนของอาจารย์นั้น เต็มไปด้วยความเข้มแข็งมุ่งมั่น และความกล้าหาญ หลายปีที่ผ่านมาอาจารย์ปาริชาดลงไปทำงานสมานไมตรีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง แม้มีความเสี่ยงมากมายเพียงใดก็ตาม กิจกรรมหนึ่งที่อาจารย์ให้ความสำคัญอย่างมาก และนำไปใช้ในการสมานไมตรีคือ 'สานเสวนา' อาจารย์ไม่เหน็ดเหนื่อยกับเรื่องนี้ เพราะอาจารย์เชื่อในความดีของมนุษย์ แม้จะต่างศาสนา ต่างภาษา หรือต่างชาติพันธุ์ ก็ล้วนมีความดีงามอยู่ในหัวใจทั้งสิ้น" 


ขอบขอบคุณ

ไอ้หนึ่งที่มีความคิดริเริ่ม และลุกขึ้นมานำเพื่อนๆทำกิจกรรมดีๆ
น้องเฟื่อง กิ๊ก เพ่ย เอ๊ะ ที่คอยดูแลเรื่องอาหารการกินในวันนี้
ปาล์ม กุลธน ที่มาร่วมแบ่งปันเรื่องราว
น้องหมี่ช่างภาพ มือสมัครเล่นที่ฝีมือไม่ใช่เล่น
พี่อานที่ซื้อขนมอร่อยๆมาช่วยร่วมบุญถวายพระ
พี่รุ้ง พี่ปุ๊ ที่ถึงแม้จะเรียนจบไปแล้วแต่ก็ยังกลับมาร่วมงาน
และเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ 'เพื่อนพุทธ' อีกมากมายที่ไม่ได้ออกชื่อที่มีส่วนร่วมกับบุญกิริยานี้

20/5/2560

วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

มาหา'ไร?มหา'ลัย : "กูเป็นพี่มึงนะ" (ไม่ใช่เพื่อน!)

ตอนเด็กผมจำความอะไรไม่ได้มาก แต่มีคำพูดของแม่ประโยคนึงที่จำได้ติดหู ได้ยินแกพูดบ่อยๆตอนแม่ตั้งท้องน้องชาย แม่บอกผมว่า "ต่อไปลูกจะมีน้องมาเป็นเพื่อนแล้วนะ" แล้วพอมันคลอดออกมามันก็เป็นเพื่อนกับผมจริงๆครับ เจ้าน้องชายคนนี้ เป็นเพื่อนกิน เพื่อนเล่น เพื่อนรักร่วมสายเลือด เพื่อนรู้ใจ ไปจนถึงเพื่อนรู้ทัน (เกลียดนักเพื่อนแบบนี้ แต่ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนรักกันจริงๆถึงได้รู้ทันกัน เหอะๆ)

พี่น้องในบ้าน ในความเข้าใจผม คือ เป็นทั้งพี่น้องกันและเพื่อนกันไปในตัว กับเพื่อนๆข้างนอกผมก็เข้าใจอย่างนั้นว่าความเป็นเพื่อนนี่มันคาบเกี่ยวกับความเป็นพี่น้องได้ เราสามารถมีเพื่อนเป็นคนรุ่นพี่อายุมากกว่า่ เหมือนก๊วยเจ๋งในนิยายมังกรหยกที่คบหาเป็นเพื่อนกับเฒ่าทารก มีมิตรภาพไม่จำกัดอายุ

พอผมเข้าโรงเรียนส่วนมากก็คบหาแต่เพื่อนในวัยใกล้เคียงกัน ไม่ค่อยมีเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องเสียเท่าไร เพราะสภาพการณ์มันไม่เอื้ออำนวยนัก เวลาส่วนใหญ่ใน รร.จะใช้ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้น และร่วมรุ่นเสียมากกว่าเพื่อนรุ่นพี่ หรือรุ่นน้อง ที่นานทีปีหนจะต้องมาเกี่ยวข้องกันที อย่างเช่น เมื่อมีกีฬาสี ทำโครงงาน หรืออบรมอะไรต่างๆนานา จะเพื่อนรุ่นพี่ก็ไม่กี่คนที่ได้รู้จักกันโดยความบังเอิญ

พอเข้ามหาวิทยาลัย มีอะไรๆที่ไม่เหมือนโรงเรียนหลายอย่าง มีกิจกรรมชมรม มีการเรียนที่สามารถไปเรียนกับเพื่อนต่างคณะ เพื่อนต่างชั้นปีได้ ทำให้มีเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องมากมายหลายคน


แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมต้องตั้งคำถามกับมิตรภาพ ความเป็น 'เพื่อน' ระหว่างคนต่างชั้นปี ต่างอายุครับ ในมหาวิทยาลัย !

 ครั้งหนึ่งผมแนะนำเพื่อนรุ่นพี่ที่ชมรมกับเพื่อนที่เข้ามาหน้าใหม่ โดยบอกไปว่าเพื่อนรุ่นพี่คนนั้นเป็นเพื่อนผม แต่รุ่นพี่คนที่ผมแนะนำเขาให้เพื่อนฟัง พอได้ยินผมเอ่ยถึงเขาว่าเป็นเพื่อนผม แกกลับปฏิเสธมิตรภาพของเรา พี่เขาบอกทันทีว่า "กูเป็นพี่มึงนะ !" ไอ้ตรงนี้แหละครับที่สะดุดใจผมขึ้นมา ผมงงมากทำไมพี่ต้องเป็นแค่พี่จะมาเป็นเพื่อนผมไม่ได้ แล้วที่เราคบหากันอยู่ ออกไปกินข้าว นั่งคุยนั่งเล่น แซวหยอกล้อกันมา มันไม่มีความหมายเลยหรอครับ ?!? ทำไม่พี่เขาถึงได้ริดรอนน้ำใจผมเสียเหลือเกิน !!! ผมแทบอึ้งกับคำพูดพี่เขาที่ฟังดูเหมือนหักหน้ากัน ณ เวลานั้น ผมก็ถามพี่เขาว่าเราไม่ใช่เพื่อนกันแล้วหรา อยู่ดีๆผมไปทำอะไรให้พี่โกรธ พี่เขาตอบกลับว่า "เปล่า มึงมันแค่รุ่นน้องกูต่างหาก !"


พอได้ยินคำตอบ และให้เวลาคิดใคร่ครวญทบทวนอะไรสักพัก ก็เข้าใจว่า การที่พี่เขาบอกว่าผมเป็นรุ่นน้องไม่ใช่เพื่อนนั้น มันมีที่มาจากวิธีการคิดแบบมหาวิทยาลัยที่มันไม่เหมือนกับที่บ้านผม ในมหาวิทยาลัยความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันมันไม่เหมือนพี่น้องแบบในครอบครัว แต่เป็นพี่น้องที่ไม่ใช่พี่น้องธรรมชาติ คลานตามกันมากินอยู่ร่วมกัน จนเกิดความสนิทสนมเหมือนเพื่อนกัน

ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเป็นของสมมติ ที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเรียนคณะเดียวกัน สถาบันเดียวกัน มาก่อนเป็นพี่มาหลังเป็นน้อง มีระบบกิจกรรมอย่างรับน้องประชุมเชียร์ที่สถาปนาบทบาทรุ่นพี่รุ่นน้องนี้ขึ้นมา มีกิจกรรมประชุมเชียร์ที่ทำให้รุ่นพี่มีทั้งพระเดชพระคุณ จะเห็นได้ว่าความเป็นพี่น้องของ นศ. แบบนี้จะมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผมยิ่งเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรุ่นพี่กับรุ่นน้องแบบนี้ได้ชัดในหมู่เพื่อน คณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ อย่างพยาบาล หรือสาธารณสุข เวลาพวก นศ.คณะเดียวกันแต่อยู่คนละชั้นปีถ้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน พวกที่เป็นรุ่นน้องจะดูเกรงๆไม่ค่อยเข้าหารุ่นพี่เสียเท่าไร หรืออาจจะเพราะคนเยอะก็ไม่ทราบ แต่ความรู้สึกส่วนตัวผมสัมผัสได้ถึงการวางตัวเป็นผู้อาวุโสกับผู้น้อยของเขาได้ชัดเจนมาก หลักฐานเชิงประจักษ์ของสภาพการณ์นี้คือ วัฒนธรรมการไหว้รุ่นพี่ ที่ปลูกฝังกันในหมู่ นศ.เอง ตอนผมเรียนโรงเรียนผมไม่เห็นต้องไหว้รุ่นพี่เลย เจอกันแค่ทักทายเรียกชื่อหรือยิ้มให้กันก็พอ หรือน้องชายที่บ้านตั้งแต่จำความมาได้ผมยังนึกไม่ออกเลยว่ามันเคยไหว้ผมตอนไหน ?!?  บางคนอาจจะบอกว่าเป็นการปลูกฝังมารยาททางสังคมที่ดีงาม อันนี้ผมไม่เถียง เพราะเรื่องความดี ความจริง ความงาม ผมว่าเป็นเรื่องอัตวิสัยใครๆก็อาจมองไม่เหมือนกันได้ แต่ผมเชื่อแน่ว่าวัฒนธรรมแบบนี้มันเป็นการบอกความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

มีเพื่อนคณะรังสีเทคนิคอธิบายเรื่องที่พี่ต้องวางตัวเป็น 'พี่' จะมาเป็น 'เพื่อน' พูดคุยหยอกล้อเล่นหัวกันไม่ได้นั้น มีความจำเป็นที่ต้องทำแบบนี้เพราะ เวลาไปทำงานในโรงพยาบาล ต้องทำงานเกี่ยวกับชีวิตคน เป็นงานซีเรียส เขาจำเป็นต้องคุมรุ่นน้อง ลูกน้อง หรือคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาให้ได้ งานจะได้ออกมาดี มีระเบียบเรียบร้อย ไม่เสี่ยงต่อการเสียหาย เขายกตัวอย่างจากประสบการณ์ในการฝึกงานมาสนับสนุนคุณค่าของระเบียบวินัยและการตรงต่อเวลา เขามีความเห็นว่าวัฒนธรรมการว๊าก  SOTUS มีระบบอาวุโส มีพี่ระเบียบวินัยเป็นของจำเป็นในองค์กรแบบนี้ และเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยาก

ผมก็เห็นว่าความมีระเบียบวินัยเป็นของดีนะครับ แต่ผมไม่ค่อยชอบวินัยที่เกิดจากการบังคับ หรือขู่เข็ญ วางฟอร์มใส่กันเสียเท่าไร ผมเห็นว่ามันเป็นของไม่ยั่งยืน แถมมันเกิดจากอำนาจและความกลัว ผมชอบการปลูกฝังให้คนรู้จักมีวินัยในตนเองมากกว่าการที่จะต้องมาบังคับกัน ผมไม่ได้บอกเพื่อนออกไปตรงๆว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผมแค่พึมพำๆกับตัวเองว่า "ถ้าให้กูเจอแบบนั้นคงอึดอัดแย่" เพราะใจผมมันรักที่จะมีพี่น้องที่เป็นเพื่อนกันได้มากกว่า ผมไม่อยากมีพี่น้องที่เป็นเพื่อนกันไม่ได้ และผมยังอยากมีเพื่อนที่เป็นทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องอีกด้วย

ผมเคยอ่านหนังสือเจอที่เขาเล่าว่า พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์"กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของชีวิตพรหมจรรย์" ที่ไม่ได้หมายถึงชีวิตที่ไม่เคยมีอะไรกับใครนะครับ แต่หมายถึงชีวิตที่ดี ส่วนกัลยาณมิตรหมายถึงเพื่อนที่ดีงาม บ้านไหนที่พ่อแม่ลูกสนิทสนมกันครอบครัวอบอุ่นผมเข้าใจว่าพ่อแม่ก็ได้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรกับลูกด้วย คือเป็นเพื่อนที่ดีให้กับลูก เห็นไหมครับว่าความเป็น 'เพื่อน' นั้นมันน่ารักขนาดไหน มันลึกซึ้งกินใจอะไรปานนี้ แม้แต่ฝรั่งเขายังแต่งเพลงรักให้ร้องว่า "I'm lucky, I'm in love with my best friend ... " แปลเป็นไทยได้ประมาณว่าฉันช่างโชคดีที่ได้ตกหลุมรักกับเพื่อนแสนดี ไม่เชื่อลองฟังดู



วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แนะนำหนังสือ : เดินทางไกลกับไซอิ๋ว/ลิงจอมโจก, เขมานันทะ

ในเรื่องไซอิ๋ว ภารกิจของตัวละครเอกคือต้องไปอัญเชิญพระไตรปิฎก

เพื่อนำคำสอนศาสนาไปเผยแพร่ สืบอายุพระศาสนา ยังประโยชน์ให้ชาวประชา

แต่ระหว่างทางฆ่าปิศาจไปเท่าไร ทั้งๆที่พระท่านสอนให้เมตตา งดเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

คำถามนี้อาจถูกละเลยไปเพราะเรื่องไซอิ๋วเป็นแค่นิทาน หรือวรรณกรรมเรื่องเล่าสนุกสนาน

เน้นพฤติการณ์ของวีรบุรุษ มีเรื่องศาสนาเป็นแค่ส่วนประกอบเสริม

แต่ด้วยความที่มันไม้ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว เรื่องไซอิ๋วเกี่ยวข้องกับศาสนาแต่ต้นจนจบ

ทำให้มีวาทกรรม หรือชุดคำอธิบายที่มารองรับแก้ต่างในประเด็นนี้ อย่างน่ารับฟังเช่น

การตีความตัวละครไซอิ๋วให้เป็นเรื่องธรรมะ หงอคงเป็น ปัญญา โป๊ยก่ายเป็น ศีล ซัวเจ๋งเป็น สมาธิ

สามพี่น้องตะลุยเบิกทางฆ่าปีศาจ ซึ่งถูกตีความว่าเป็นกิเลส พาอาจารย์ไปไซที

หรือ ดินแดนตะวันตกที่หมายถึงพระนิพพาน

ตัวอย่างเช่นในงานเขียนของ อาจารย์โกวิทย์  เอนกชัย หรือที่รู้จักกันในนามปากกา 'เขมานันทะ'

งานเขียนของท่านที่ตีความไซอิ๋วนั้นสมัยพิมพ์ครั้งแรกๆใช้ชื่อว่า "เดินทางไกลกับไซอิ๋ว"

ในการพิมพ์ครั้งล่าสุดได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น "ลิงจอมโจก" ซึ่งหมายถึงซุนหงอคง ตัวละครเอก

งานของอาจารย์โกวิทย์ตีความไซอิ๋วตั้งแต่ต้นจนจบการเดินทาง

(มีเว้นบางตอนเล็กน้อยอย่างตอนประวัติพระถังซัมจั๋ง)

แสดงให้เห็นการเดินทางจิตวิญญาณที่พาใจมนุษย์ไปสู่การหลุดพ้นทุกข์

สัญลักษณ์ในเรื่องล้วนแต่เป็นปริศนาธรรม ที่ตีออกได้เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนาทั้งสิ้น

งานเขียนชิ้นนี้เหมาะสำหรับคนรักไซอิ๋ว และผู้สนใจใฝ่ธรรมทั้งหลาย




Photos courtesy :

https://vorawat.files.wordpress.com/2011/05/1215676881.jpg?w=240 (4/5/2560)

http://static.weloveshopping.com/shop/booksforfun/na01316.jpg (4/5/2560)

วันพุธที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2560

พื้นที่ต่อรองอำนาจใน 'บริษัทฮาไม่จำกัด'

ผมมีเพื่อนเป็นคนรุ่นใหม่วันๆใช้แต่อินเตอร์เน็ตพักผ่อนหาความบันเทิง ไม่เคยเห็นเขาดูโทรทัศน์เลย ส่วนใหญ่ มักใช้หมดเวลาไปกับการเสพสื่อสร้างสรรค์ ไม่ก็หาความบันเทิงกับหนังละครต่างประเทศ แต่วันนึงผมต้องแปลกใจ เมื่อเห็นเขาเปิด Youtube ดูรายการตลกไทยที่ฉายทางทีวี ย้อนหลัง รายการนั้นคือ 'บริษัทฮาไม่จำกัด' ที่ฉายทางช่อง 9อสมท รายการนี้เป็นรายการโชว์ตลกหน้าใหม่ ที่ออกฉายมาไม่นานเมื่อต้นปี 2558 ฉายทุกวันอาทิตย์เวลาห้าโมงถึงหกโมงกว่าๆ

ความน่าสนใจของรายการนี้คือเป็น รายการที่รวมดาราตลกชื่อดังตัวท็อปไว้ทั้งหน้าใหม่หน้าเก่า รุ่นใหญ่ก็มีน้าค่อม ชวนชื่น นุ้ย เชิญยิ้ม บอล เชิญย้ม รุ่นใหม่ๆก็มีแจ๊ส ชวนชื่น โรเบิร์ต สายควัน ตั๊กบริบูรณ์ เป็กกี้ ศรีธัญญา ฯลฯ นอกจากดาราตัวหลักแล้ว แต่ละสัปดาห์ยังมีแขกรับเชิญมากหน้าหลายตามาร่วมแสดง เรียกเสียงฮามากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักร้อง หรือนักแสดงชื่อดังระดับพระเอก นางเอก  มุกตลกก็เล่นกันแบบธรรมชาติ เป็นตัวของตัวเอง เล่นเองขำเอง (ฮาตรงที่มันหลุดกันเข้าไปอีก) หลายครั้งเอาเรื่องส่วนตัวของแต่ละคนมาใช้เรียกเสียงฮา ไม่ก็เอาเหตุการณ์บ้านเมืองที่ทันสมัยมาใช้เล่นเป็นมุก ตรงนี้แหละที่อาจจะทำให้โดนใจคนดู ยอดวิววีดีโอย้อนหลังของรายการบนยูทูปแสดงให้เห็นความยอดนิยมไม่ใช่น้อยๆ

แต่ที่เหนือไปกว่าอื่นใด และเป็นปัจจัยสำคัญให้เพื่อนผมติดรายการนี้งอมแงม ก็คือ มุกที่ล้อเลียน คสช. มีหลายตอนที่นักแสดงออกมาเล่นมุกแต่งตัวแสดงท่าทางคำพูดคล้ายลุงตู่ ในตอนที่มีแขกรับเชิญเป็น คุณดาว ขำมิน ฉายเมื่อ 8 มกราฯ 60 ที่ผ่านมาในช่วงท้ายๆรายการ มีการแสดงจำลองเหตุการณ์การประชุมผู้นำนานาชาติ มีผู้นำจากประเทศไทยแต่งตัวเป็นทหาร ออกมายืนแสดงวิสัยทัศน์แก้ปัญหาบ้านเมืองบนโพเดียม ด้วยหน้าตาท่าทาง การพูดการจา ที่ชวนให้นึกถึง พอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นยิ่งนัก บอล เชิญยิ้มที่เล่นเป็นพิธีกรถามว่า "ท่านคิดอย่างไร? ถึงได้เขามาดูแลบ้านเมือง" ชายคนนั้นตอบไปว่า "ผมไม่ทำแล้วใครจะทำละหา ?!?" ด้วยคำตอบกับน้ำเสียงเลียนแบบ พอ.ประยุทธ์เวลาให้สัมภาษณ์สื่อ โรเบิร์ตช่วยตบมุกเสริมบอก "ผมชอบเขาครับ เขาเป็นผู้นำที่ช่วยชาติประหยัดไฟ เพราะเวลาเย็นวันศุกร์เวลาเขาออกมาพูดผมก็ปิดทีวี" ยิ่งชัดเจนเข้าไปใหญ่ว่ากำลังล้อใครอยู่

 ยิ่งฮากว่าเดิมเมื่อดาว ขำมิน ถามว่าบริษัทรู้ไหมว่าจะเล่นกันแบบนี้ ตอนทางบริษัทติดต่อมาไม่บอกว่ามีการเล่นแบบนี้นะ เขาถามไปพร้อมทำหน้าตาตื่นระแวง ยิ่งชวนขำได้อีก มุกตลกนอกจากจะมาจากความฮาที่ล้อท่านนายกลุงตู่แล้ว ยังฮาตรงที่นักแสดงแสดงความร้อนตัวว่ากลัวโดนสั่งเก็บปิดรายการกลางคัน

นักแสดงที่ล้อประยุทธ์นอกจากหน้าคล้าย ยังมีการพูดจาใช้โดยใช้วลีที่ติดปากลุงตู่เวลาสัมภาษณ์สื่อมาเสริมบุคคลิกความเหมือน และเพิ่มความฮาอย่าง การพูดห้วนว่า"จริงๆแล้วผมเป็นคนตลก ผมเป็นคนอารมณ์ดี อย่างผมเนี่ยไม่มีอะไรหรอก นะ นะ นะ !!!" ฯลฯ

ผมชอบมุกหนึ่งที่นักแสดงล้อ พอ.ประยุทธ์ บอกว่าเขาเดี๋ยวนี้ประเทศเราไม่มีแบ่งสีแดงสีเหลืองแล้ว ใครมีสีแดง สีเหลืองอย่าไปใส่ เขาบอกว่า "ผมไม่กลัวหรอกพวกสีแดง สีเหลืองอะ ผมกลัวสีกากี ... โผล่มาป้วนเปี้ยนๆหน้าบ้านทุกวันเลย !  ตั้งแต่เล่นมุกเนี้ย !!!" และในตอนท้ายก่อนจบช่วงเขาพูดแถลงการณ์ระบุว่าตัวเขาเป็นแค่ "รักษาการณ์หัวหน้ายามโลตัส" (ไม่ได้ระบุว่าเป็นนายกรัฐมนตรี)

ที่มา https://www.youtube.com/watch?v=SPl7hDhAk6s (12/4/2560)
ในช่วงที่รัฐบาล คสช. ออกมาปกครองบ้านเมืองแบบนี้ มีการออกกฎหมายหลายอย่างแบบบังคับใช้ทันใจ เป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด บวกกับการที่เป็นคณะปฏิวัติที่มาจากทหาร ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลยิ่งดูเข้มขรึม นายกรัฐมนตรี เป็นเหมือนหน้าตา ตัวแทนของคณะรัฐบาล คสช. สื่อให้ฉายาเรียกนับญาติอย่างสนิทสนมเป็นเหมือนพี่พ่อ (ลุงตู่) เป็นการช่วยให้ผู้นำเผด็จการดูคลายความเข้มลงสบายๆขึ้นก็จริง แต่เราก็อย่าลืม  นอกจากนายกแล้วท่านยังเป็นทหารระดับนายพล วัฒนธรรมของทหารที่เข้มงวดมีระเบียบวินัย แต่ดุดันตรงไปตรงมาอาจส่งผลให้ภาพลักษณ์ของนายกลุงตู่ดูโผงผางแบบนี้

การนำภาพลุงตู่มาตัดต่อเล่นบนเฟซบุ๊ค จนอาจดู "ทุเรศทั้งนั้น !!!" ในสายตาเจ้าตัว มาจนถึงการถูกนำมาล้อในรายการตลกเช่นที่เล่ามา คงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะคนไม่ชอบท่าน แต่ผมเชื่อว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น บ้างก็อาจเพราะเข้าทำนองที่ว่า "รักดอกจึงหยอกเล่น" ไปจนถึงอาจจะมีบ้างที่ไม่ชอบต้องการล้อเลียนเสียดสีจริงๆก็คงมี เพราะคนเราจะไปทำอะไรให้คนถูกใจไปหมดนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ขนาดพระปฏิมายังมีราคิน เกิดเป็นคนหรือจะสิ้นคนนินทา มีรักก็ต้องมีชังเป็นธรรมดาตามโลกธรรม

แต่มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจถ้ามองแบบวิเคราะห์ลงไปว่า การทำเช่นนี้เป็นการต่อรองกับอำนาจจากผู้ใต้ปกครอง ด้วยอารมณ์ขัน โดยเฉพาะในรายการบริษัทฮาไม่จำกัดนี้เอง


ในอดีตบ้านเรามีนิทาน 'ตาเถรยายชี' เอาพระซึ่งเป็นที่เคารพบูชา มาแต่งให้ทำอะไรตลกๆ พิสดาร ไม่น่าเคารพ นักคติชนวิทยามองว่าชาวบ้านใช้ นิทานเป็นพื้นที่แสดงออก เพื่อต่อรองกับอำนาจที่สูงกว่า เพราะในยามปกติสมัยโบราณชาวบ้านมีสถานะต่ำกว่าพระภิกษุสงฆ์ ในนิทานซึ่งเป็นเรื่องแต่งเขาจึงแต่งให้พระ หรือพระราชาเป็นตัวตลก (ดูอย่าง ศรีธนญชัย ที่เขาแต่งให้พระเอกแกล้งพระราชา)  คนโบราณเขาเข้าใจว่า 'นิทาน' เป็นเรื่องแต่งเรื่องเล่าไม่ใช่เรื่องจริง เรื่องเล่าแบบนี้ถึงมีออกมาได้ให้เห็น

การต่อรอง (negotiation) แบบนี้ไม่ได้มีแค่เห็นในนิทาน แต่ยังอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันที่เราๆท่านๆอาจไม่ได้สังเกต อย่างเช่น ในสถานศึกษาที่ออกกฏห้ามแต่งกายผิดระเบียบ แต่นักเรียน นักศึกษา ก็ยังหาช่องทางแสดงตัวตนที่หลุดไปจากกรอบระเบียบวินัยการแต่งกาย อย่างเช่น หาเสื้อนอกกันหนาวที่ชอบมาสวมใส่ การดัดแปลงทรงผมให้ออกนอกแนวนิดหน่อยอย่างเด็กผู้ชายไถข้างกันจอน อะไรทำนองนี้ครับ


รายการตลก รายการนี้ก็คงมีสถานะเหมือนกับนิทานในสมัยก่อน ตรงที่เป็นพื้นที่แสดงออกถึงการต่อรองกับอำนาจที่เหนือกว่า ด้วยการใช้อารมณ์ขันเป็นเครื่องมือ ในการระบายความรู้สึกของผู้ใต้ปกครอง

ในชีวิตจริงทุกวันนี้ ถ้าเราไม่ชอบท่านนายก เราคงไปว่าท่านให้ตรงๆไม่ได้ หรือไม่ก็ถ้าเรารักท่าน เราก็คงไปหยอกล้อท่านต่อหน้าต่อตาไม่ได้ (ถ้าไม่สนิทกันถึงขนาดเล่นหัวกันได้) แต่เราสามารถดูรายการบริษัทฮาไม่จำกัดที่เอาคนหน้าเหมือนท่านมาเล่นแล้วขำได้ไม่มีใครว่า  ไม่ผิดกฏหมายอะไร ไม่มีใครมาเชิญไปกินกาแฟในค่ายทหาร หรือเชิญไปปรับทัศนคติ  เพราะรายการตลกก็คือรายการตลก ไม่ใช่เรื่องจริง !  (ไม่เชื่อก็ลองกดคลิกดูในวีดีโอด้านล่างครับ ...คลิปยังไม่ปลิว:P)



วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

'ไซอิ๋ว'ฉบับจีนแผ่นดินใหญ่ ปี 1986

 
    ละครทีวีเรื่อง "ไซอิ๋ว" ในบ้านเราคนส่วนใหญ่อาจจะรู้จักแต่เวอร์ชั่นที่ช่อง 3 นำมาฉาย ซึ่งเป็นฉบับของ TVB ฮ่องกง แต่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสาธารณรัฐประชาชนจีน ไซอิ๋วเวอร์ชั่นยอดนิยมกลับเป็นฉบับของทางสถานีโทรทัศน์วิทยุกลางแห่งประเทศจีน (China Central Television) หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า CCTV ที่ไม่ใช่ชื่อกล้องวงจรปิด


ไซอิ๋ว TVB 1996 ที่ช่อง 3 นำมาฉาย เพื่อนๆส่วนใหญ่มักจะรู้จักไซอิ๋วจากเวอร์ชั่นนี้ มี'จางเหว่นยเจี้ยน'รับบทซุนหงอคง ในมาดลิงรูปหล่อ ผิดกับฉบับจีนแดงที่ดูแล้วให้เป็น ลิง(จริงๆ) มากกว่า


     หลังยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ม่านไม้ไผ่ก็เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น การเติบโตขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ในโลกธุรกิจ ของจีนนั้นไม่ได้อาศัยแค่อุตสาหกรรมอย่างเดียว งานด้านศิลปวัฒนธรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างชาติให้เข้มแข็งในโลกสมัยใหม่ ด้วยความที่จีนเคยเป็นชาติมหาอำนาจ เป็นจักรวรรดิที่รุ่งเรือง มีศิลปวัฒนธรรมความเป็นมา และอารยธรรมอายุราวกว่าพันปีในแบบฉบับของตนเอง วรรณกรรมที่คอมมิวนิสต์เคยมองว่าเป็นเรื่องศาสนาไร้สาระ เป็นเรื่องผีสางเทวดา ให้ความบันเทิง มอมเมาคน กลับกลายมาเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมแบบจีนๆของรัฐบาลคอมมิวนิสต์

   ละครโทรทัศน์เรื่องไซอิ๋ว ฉบับจีนแดงจึงได้เกิดขึ้น และกลายมาเป็นเวอร์ชั่นคลาสสิค ที่ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าแทบทุกปี มีคำกล่าวว่า คนรุ่นใหม่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องได้ดูละครเรื่องนี้อย่างน้อย 3 ครั้งในช่วงชีวิต เพื่อนของผู้เขียนที่เป็น นศ.ป.โท หญิงสาวชาวจีนเล่าให้ฟังว่า ไซอิ๋ว ฉบับนี้ถูกนำมาฉายทางโทรทัศน์ช่วงซัมเมอร์แทบทุกปีตั้งแต่เธอจำความได้


ไซอิ๋ว ฉบับสถานีโทรทัศน์วิทยุกลางแห่งประเทศจีน (Journey to the West, CCTV 1986)
   ในบ้านเราไม่ค่อยรู้จักฉบับนี้อาจเพราะมีอายุมากเกินไป คนร่วมสมัยเลยไม่ค่อยทันดู อีกทั้งคนไปรู้จักฉบับฮ่องกงที่นำมาฉายทีหลัง และติดตราตรึงใจมากกว่า ในส่วนฉบับนี้ผู้เขียนเห็นครั้งแรกก็ไม่ใช่ทางโทรทัศน์แต่เห็นเป็นหนังจีนชุดยี่สิบกว่าแผ่น ราคาสองพันกว่าบาท บนแผงขาย VCD ในร้าน LION ผู้จัดจำหน่ายของบริษัท APS อดีตค่ายหนังแผ่นยักษ์ใหญ่เจ้าแรกๆที่เบิกทางธุรกิจตลาดซีดีและดีวีดี  นอกจากนั้นยังเคยได้ยินมาว่าเคยถูกนำมาฉายทางช่อง 9 อสมท. อีกด้วย

    ต่อมาพอเริ่มเข้าสู่ยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึงได้ง่าย ผู้เขียนถึงได้มีโอกาสชมเป็นครั้งแรกบน Youtube ดูแล้วรู้สึกเอฟเฟ็คขัดหู ขัดตา มาก ภาพตัดต่อกล้องวีดีโอดูไม่เนียนรำคาญ ตัวละครแต่งหน้าหนาๆ โดยเฉพาะพวกผีสางเทวดา ที่ใช้หน้ากากยาง ยิ่งดูเทอะทะ ถ้าดูตอนเด็กคงรู้สึกหน้ากลัว เสื้อผ้าหน้าผมก็แสนจัดจ้านแสบตาให้อารมณ์งิ้วมาก ซุนหงอคงก็เป็นลิงจริงๆ ไม่ใช่ลิงรูปหล่อเหมือนฉบับที่ดูของฮ่องกง ดูแล้วอดเอาไปเปรียบไม่ได้ 

   แต่พอโตมาได้อ่านไซอิ๋วฉบับวรรณกรรม ความคิดจึงเปลี่ยนไป พบว่าฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นที่เคารพต้นฉบับมาก ดำเนินเรื่องแทบจะตามในนิยายเป๊ะๆ มีบางตอนดัดแปลงเนื้อหา ตัดตอนบ้างเพื่อความกระชับ ยิ่งบางตอนที่เล่นจบแบบห้วนๆ ไม่เหมือนฉบับหลังๆ ที่ฮ่องกงไต้หวันสร้างซึ่งดัดแปลงไปมาก (แต่ก็มีข้อดีอยู่ที่ทำให้คนดูรุ่นเก่าไม่เบื่อ ได้ดูอะไรแปลกใหม่ หรือเปิดอิสระให้ผู้สร้างได้ตีความในฉบับของเขา) จากที่แต่ก่อนไม่ชอบเวอร์ชั่นนี้กลับกลายมาเป็นชอบถึงชอบมาก เห็นเป็นของแปลกใหม่คลาสสิค ยิ่งเทคนิคบางตอนนี้ล้ำสุด อย่างตอนปราบปีศาจกระทิง เขาอาศัยเทคนิคการแสดงเชิดสิงห์โตจีนมาใช้ สร้างปีศาจวัวกระทิงออกมาเดินสี่ขาฟัดกับซุนหงอคงยังกับเหมือนหนังมอนสเตอร์โดยไม่ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์กราฟฟิค การถ่ายทำตลอดทั้งเรื่องก็ถ่ายโดยใช้กล้องวีดีโอตัวเดียวด้วยงบประมาณที่มีจำกัด


ที่มา https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjxKYo-wKskU6ou-Asp-rAwK3FBSySHV0Hc6p92jbREdQRtGhNUzyevG2RwdqCIGyUQfAbgOV_Ad9kIhB9XqIwLJDfJTSgtXqldmuOYxrvEpXmSx2POIOXLkDwfwKrZVFLBSCWFUg04Y5c/s1600/jttw61.jpg (25/3/2560)

    ขนบการเล่าเรื่อง ไปจนถึงเครื่องแต่งกายในฉบับนี้ให้อารมณ์งิ้วจัดชัดเจน ตัวละครเอก ซุนหงอคง ก็แสดงโดย จางจินไหล (章金莱) หรือดารางิ้วฉายา"ลิ่วเสี่ยวหลิงถง"(六小龄童) ทายาทนักแสดงงิ้ววานรชื่อดัง ผู้ถ่ายทอดอารมณ์ได้สมกับลิง แถมยังมีทักษะยุทธ์จริงๆ ในประเทศจีนเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของราชาวานรไปแล้ว พอปีช่วงตรุษจีนในปีวอกทีไร พี่น้องชาวจีนแผ่นดินใหญ่มักจะได้เห็นเขาปรากฏตัวในร่างหงอคงออกมาแสดงอวยพรปีใหม่ผู้ชมทางโทรทัศน์


[วีดีโอข่าวช่อง CCTV สัมภาษณ์ จางจินไหล ผู้รับบท 'ซุนหงอคง']

   ตัวละครพระถังก็สลับคนเล่นไปมาถึงสามคน แต่ดูๆไปอารมณ์ก็ต่อเนื่องกันดี ถ้าสังเกตดีๆในซีรี่ย์นี้ใช้ดาราเวียนพอสมควร คนหนึ่งเล่นหลายบทอยู่ ร่างแปลงหงอคง จางจินไหลก็มักจะควบบทเล่นเอง บางตอนคนเล่นโป๊ยก่าย ซัวเจ๋งไปเล่นเป็นเทวดาอารักษ์ให้เห็นก็มี

   ด้วยความที่รัฐบาลจีนให้ทุนสนับสนุนในการสร้างทำสถานที่ถ่ายทำจัดเต็มมาก เมืองจีนที่กว้างใหญ่มีทั้งป่าไม้ ทะเล แม่น้ำ ภูเขา ไปจนถึงทะเลทราย โบราณสถานงามๆ ล้วนปรากฏให้เราเห็นในเรื่อง แถมตอนท้ายๆยังยกกองมาถ่ายทำในประเทศไทยบ้านเราด้วย ฉากวัดเหลยอินในชมพูทวีป หรือที่ประทับพระยูไลยก็ใช้วัดโพธิ์ กับพุทธมณฑลเป็นโลเคชั่น สมมติเมืองไทยให้เป็นเมืองแขก


โปสเตอร์ที่มีฉากหลังเป็นองค์พระประธานในพุทธมณฑล ที่มา http://smg.photobucket.com/user/ngokhong/media/Journey%20to%20the%20West/xyjbook.jpg.html (25/3/2560)
    ไซอิ๋วฉบับนี้มี 2 ซีซั่น ซีซั่นแรกสร้างปี 1986 - 1988 เล่าเรื่องกำเนิดหงอคงไปจนถึงเชิญพระไตรปิฎกสำเร็จ จบบริบูรณ์ในตัว แต่ที่ต้องมี ภาค2 นั้นเพราะมีบางเรื่องในนิยายที่เล่าไม่หมดหรือถูกตัดตอนไปในภาคแรก ทำให้ทีมงานต้องสร้างภาคสองในปี 1999 และเข็นออกมาฉายในปี 2000 ทำให้ไซอิ๋วฉบับจีนแดงนี้สร้างได้จบครบสมบูรณ์ตามฉบับวรรณกรรม 

วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560

พระโพธิธรรม หนังจีนกำลังภายใน และเส้าหลินอินเดีย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Daruma
(1) พระโพธิธรรมอุ้มตุ๊กตา ดารุมะ ของญี่ปุ่น
ซึ่งมีต้นแบบมาจากท่านตั๊กม้อเอง
       พระโพธิธรรม อดีตเจ้าชายอินเดียผู้สละสมบัติออกบวชเป็นพระภิกษุ จาริกไปแผ่นดินใหญ่เผยแพร่คำสอนพระพุทธเจ้า ชาวจีนถือว่าท่านเป็นปฐมสังฆนายกนิกายเซ็นในประเทศจีน และนิกายนี้เองที่ทรงอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมจีน ข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย
       ไม่เพียงแต่คุณูปการด้านศาสนาเท่านั้น ท่านยังมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ให้กำเนิดสุดยอดวิทยายุทธ์วัดเส้าหลิน ที่เลื่องชื่อ จนได้รับการเรียกขานเป็น "ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"  ในนิยายกำลังภายในหลายต่อหลายเรื่อง ยกย่องให้วัดเส้าหลินมีบทบาทเป็นเสาหลักของยุทธภพ เป็นแหล่งกำเนิดวิทยายุทธ์กำลังภายในทั้งหลาย แม้แต่สำนักชื่อดังอย่างบู๊ตึ้ง ที่มีผู้ก่อตั้งคือ นักพรตจางซันฟง ผู้คิดค้นเพลงมวยไท้เก็กที่ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นมวยจีนแท้ ก็ยังเคยศึกษาอยู่ที่วัดเส้าหลิน ที่กล่าวมาอ้างอิงจากเรื่องดาบมังกรหยก และภาพยนตร์ ละครทีวีหลายต่อหลายเรื่องจะจริงไม่จริงก็แล้วแต่ ... แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนสะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่ง โด่งดัง และความเป็นเจ้าต้นตำรับมวยกังฟูของวัดเส้าหลิน

       พระโพธิธรรม หรือที่เรียกตามสำเนียงจีนว่า ผู่ทีตั๊กม้อ นั้นได้ไปเผยแพร่หลายต่อหลายแห่งในประเทศจีนโบราณแต่ก็ไม่ได้รับความสำเร็จ สาเหตุอาจจะมาจากเรื่องภาษาและปรัชญาที่ลึกซึ้งแห่งธรรมะ เราสามารถเห็นได้จากวิธีการสอนของนิกายเซ็นที่เน้นการปฏิบัติไม่เน้นการพูดสอนเทศนา หรือไม่ก็มีวิธีการสอนด้วยการกระทำ ที่ต้องตีความถึงจะเข้าใจนัยยะที่แฝงไว้ด้วยแก่นธรรมะลึกซึ้ง สิ่งนี้เองที่อาจทำให้คนทั่วไปไม่เข้าใจธรรมะของท่าน แม้แต่เจ้าผู้ปกครองอย่างฮ่องเต้"เหลียงบู๊ตี่"เองก็เมินท่าน เมื่อถูกท่านตอบว่าบุญกริยาที่ฮ่องเต้ทำมาไม่ใช่กุศล เพราะยังหวังผล ไม่ได้ทำด้วยใจบริสุทธิ์ ท่านเลยเดินทางไปพำนักในวัดป่าจวบจนมรณภาพ ซึ่งก็คือวัดเส้าหลิน นั่นเอง คำว่า เส้าหลินเป็นภาษาจีนกลาง แปลว่า ป่าน้อย

    ที่อารามวัดป่าน้อย พระโพธิธรรม ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งสมาธิวิปัสสนา ตำนานเล่าว่าที่ถ้ำหลังวัดท่านนั่งสมาธิหันหน้าเข้าหากำแพงอยู่หลายปีจนเงาติดข้างผนังถ้ำ อาจด้วยความที่นั่งสมาธินานๆ ทำให้เกิดอาการเมื่อยขบเลือดลมขัดข้อง ประกอบกับวัดมีที่ตั้งอยู่กลางป่ากลางดง เสี่ยงต่อการรุกรานของโจรผู้ร้าย ท่านจึงได้คิดค้นวิชามัดมวยกำลังภายในขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น



    ผู้เขียนสันนิษฐานว่าท่านคงอาศัยการฝึกฝนร่างกายแบบโยคะ กับความรู้แบบอายุรเวชโบราณของอินเดีย มาผสมผสานกับท่าทางการเคลื่อนไหวของสัตว์ ประยุกต์เป็นเพลงหมัดมวย ไว้ใช้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพพลามัย ฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรง เพื่อเป็นฐานของการฝึกจิตวิญญาณตามแนวทางแบบปรัชญาโยคะ ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถใช้เป็นวิทยายุทธ์ป้องกันตัว ผดุงคุณธรรมอีกด้วย นิยายมังกรหยก และกระบี่เย้ยยุทธจักรของกิมย้งได้กล่าวถึง คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นที่คิดค้นโดยปรมาจารย์ตั๊กม้อว่าเป็นสุดยอดแห่งวิชากำลังภายใน

      นิยาย และภาพยนตร์จีนแนวกำลังภายในจอมยุทธ์ที่ผลิตออกมาหลายเรื่อง จะเอ่ยถึงวัดเส้าหลินเกือบแทบททั้งนั้น จนทำให้กิตติศัพท์ของวัดโด่งดังแผ่ขจร กระจายไปทั่วโลก ที่อเมริกันสร้างหนังกังฟูให้ดาราฝรั่งอย่าง David Caradine เล่นเป็นพระหนุ่มต่างชาติฝึกวิชาวัดเส้าหลิน ส่วนที่บ้านเราหนังฮ่องกงตีตลาด ถูกนำเข้ามาฉายมากมายต่อเนื่อง มีทั้งหนังบู๊แอ็คชั่น ดราม่า คอมเมดี้ และที่สำคัญคือแนวกังฟู จนเด็กยุค80-90s แทบไม่มีใครไม่รู้จัก บรู๊ซ ลี เฉินหลง หงจินเป่า เจ็ท ลี ฯลฯ แม้แต่ผู้เขียนตอนเด็กเองดูหนังกังฟูพวกนี้แล้วก็ฝันว่าสักวันจะเดินทางไปฝึกวิทยายุทธ์ให้เก่งเหมือนเฉินหลง

      ใครจะไปรู้ว่า หนังมัดมวยกังฟูค่ายชอว์บราเดอร์ จากเกาะฮ่องกง เรื่องยอดมนุษย์ยุทธจักร (The 36th Chamber of Shaolin, 1978) ที่เล่าเรื่องการฝึกวิทยายุทธ์ของหลวงจีนในวัดเส้าหลิน จะทำให้เด็กชายชาวอินเดีย เริ่มฝึกฝนกังฟูตั้งแต่อายุ 6 ขวบ และขวนขวายฝึกฝนวิทยายุทธจนกระทั่งลงทุนบรรพชาอุปสมบทในจีนนิกาย เข้าฝึกฝนวิทยายุทธที่วัดเส้าหลิน จนกระทั่งกลายมาเป็นอาจารย์สอนมวยกังฟู เดินทางกลับแดนภารตะ ไปก่อตั้งสำนักสาขาของวัดเส้าหลินที่นั่น


 (2) โปสเตอร์ภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่อง "ยอดมนุษย์ยุทธจักร (The 36th Chamber of Shaolin, 1978) "

      เด็กชายชาวอินเดียคนนั้นมีชื่อว่า Kanishka Sharma ปัจจุบันก็คือ หลวงจีนสือเยี้ยน (Chinese: 十堰; pinyin: Shíyàn) แห่งสำนัก กุรุกุล (Gurukul) หรือศูนย์ฝึกวัดเส้าหลินสาขาอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Nainital รัฐอุตรขัณฑ์ (Uttarakhand) อาจารย์สือเยี้ยนถือเป็นพระจีนชาวอินเดียรูปแรกของวัดเส้าหลิน ไม่เพียงเท่านั้นเขายังอยู่เบื้องหลังการฝึกฝนเพื่อแสดงฉากแอคชั่นของดาราดังในหนัง Bollywood อย่าง Akshay Kumar, Madhuri Dixit, Anil Kapoor. ในยุคที่วิชากังฟูไม่ได้ใช้เพียงแค่ป้องกันตัว แต่ยังถูกนำไปใช้เพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะในแวดวงภาพยนตร์ กำเนิดของเส้าหลินอินเดียเองก็มีปัจจัยมาจากการแพร่กระจายของหนังฮ่องกง


      ด้วยอิทธิพลของพระพุทธศาสนา ทำให้พันกว่าปีที่แล้วพระโพธิธรรมชาวอินเดียเดินทางไปแผ่พุทธธรรม คิดค้นเพลงหมัดมวยสำนักเส้าหลินในจีน ด้วยอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัฒน์ และสื่อบันเทิงอย่างภาพยนตร์ทำให้ Kanishka Sharma หรือ อาจารย์สือเยี้ยน ชาวอินเดียได้เดินทางไปเรียนรู้วิชามวยจีน และนำกลับไปเผยแผ่ในอินเดีย  ภาพของการต่อสู้ด้วยวิทยายุทธ์ในหนังฮ่องกงได้สร้างแรงบันดาลใจให้ท่าน ก่อเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ เรื่องราวของสำนักเส้าหลินอินเดียติดตามได้ในวีดีโอด้านล่างนี้




Photos courtesy :
(1) http://mytats.com/uploads/6/9/2/2/69220691/3198326_orig.jpg
(2) https://static1.squarespace.com/static/534b45cde4b092d7f2cbfdb6/t/55c42b92e4b09e7cf23f658e/1438919572852/